การเจรจา FTA ไทย-อินเดีย

ข่าวทั่วไป Friday September 23, 2011 12:26 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

หลังจากการยกเลิกภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าระหว่างกันจำนวน 82 รายการ เมื่อปี 2549 ไทยและอินเดีย เดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ต่อไปให้ครอบคลุมการเปิดเสรีสินค้าอีกเกือบ 5,000 รายการ รวมทั้งเจรจาลดอุปสรรคในด้านการค้าบริการ และการลงทุน ตลอดจนขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่าย ตั้งเป้าให้การเจรจาสรุปผล และมีผลบังคับใช้อย่างช้าที่สุดกลางปี 2555

เมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าไทย-อินเดีย (Thailand-India Trade Negotiating Committee) ครั้งที่ 21 และการประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย ซึ่งคาดว่าไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มเติมในส่วนของสินค้าที่มีการจัดทำกฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules) อีกอย่างน้อยจำนวน 900 รายการ และจะช่วยให้สินค้าของไทยผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาถิ่นกำเนิด ทำให้สามารถส่งออกไปอินเดียโดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี รวมไปถึงการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะครอบคลุมสาขาที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การก่อสร้าง การท่องเที่ยว การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น

นางศรีรัตน์ เปิดเผยว่าการเจรจาในกรอบการค้าเสรีไทย-อินเดีย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 มีการเปิดเสรีสินค้ากลุ่ม Early Harvest Scheme (EHS) จำนวน 82 รายการเท่านั้น ที่ทั้งสองฝ่ายได้ยกเลิกภาษีระหว่างกันไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 โดยการเจรจาได้เว้นช่วงไป 2 ปี เนื่องจากอินเดียต้องการผลักดันให้การเปิดเสรีสินค้าในกรอบ FTA อาเซียน-อินเดีย บรรลุผลสำเร็จก่อน ไทยและอินเดียได้กลับมาเริ่มเจรจาในกรอบทวิภาคีระหว่างกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 โดยตกลงร่วมกันว่าหลักเกณฑ์การเปิดเสรีการค้าสินค้า ต้องดีกว่าในกรอบ FTA อาเซียน-อินเดีย ทั้งในเรื่องของจำนวนรายการสินค้าที่จะนำมาเปิดตลาด และระยะเวลาการลด/ยกเลิกภาษี ที่เร็วขึ้นกว่า FTA อาเซียน-อินเดีย ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของไทยที่ต้องการเป็นหุ้นส่วนระดับยุทธศาสตร์กับอินเดีย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงจัดทำพิธีสารฉบับที่สองเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงฯ ให้รองรับระเบียบพิธีปฏิบัติเรื่องการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม (Third Country Invoicing) โดยไทยอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายในการซื้อขายสินค้า EHS 82 รายการ

นางศรีรัตน์ กล่าวว่า อินเดียให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีตามแนวทางเจรจาแบบ comprehensive คือรวมเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไว้ในความตกลงฉบับเดียว (single undertaking) ความตกลงที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว เช่น อินเดีย-สิงคโปร์ อินเดีย-เกาหลี อินเดีย-มาเลเซีย อาเซียน-อินเดีย (เฉพาะสินค้า) อินเดีย-ญี่ปุ่น และที่อยู่ระหว่างเจรจา ได้แก่ อินเดีย-ออสเตรเลีย และอินเดีย-สหภาพยุโรป เป็นต้น ดังนั้น หากไทยต้องการที่จะเสริมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับอินเดีย ให้แข็งแกร่ง และแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ต้องรีบเดินหน้าเจรจา FTA สองฝ่ายกับอินเดียให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อไทยจะได้ประโยชน์จากการลด/ยกเลิกภาษีสินค้าของอินเดียที่ดีขึ้น และครอบคลุมสินค้าที่มากขึ้นกว่าในกรอบ FTA อาเซียน-อินเดีย และรักษาส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดอินเดีย จากคู่แข่งอื่นในอาเซียน ที่ได้ทำข้อตกลง FTA กับอินเดียไปแล้ว

อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยในเอเชียใต้ โดยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 17 และเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 11 ของไทยในตลาดโลก อินเดียมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค และยังเป็นประตูการค้าของไทยสู่ประเทศอื่นๆ ทั้งเนปาล ภูฏาน ศรีลังกา และบังกลาเทศ ที่ยังคงพึ่งพาการค้ากับอินเดียอยู่มาก ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 4,161.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 29.07% เมื่อเทียบกับช่วงดียวกันของปีก่อนหน้า ไทยส่งออกไปอินเดียมูลค่า 2,621.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 23.10% และไทยนำเข้าจากอินเดียมูลค่า 1,540.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 40.7%

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ