ภัยพิบัติ-เศรษฐกิจยุโรปสหรัฐฯ ส่งผลกีดกันการค้าเพิ่ม ผู้นำใช้เวที “อาเซียนซัมมิท” ถกแผนรับมือเร่งผลักดัน AEC

ข่าวทั่วไป Thursday December 15, 2011 15:47 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาฯ กระทรวงพาณิชย์ แจงปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ วิกฤตการเงินในยุโรปและเศรษฐกิจชะลอตัวของสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อเนื่องกับเศรษฐกิจโลกและเกิดมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น คาดผู้นำอาเซียนหารือร่วมกันบนเวทีอาเซียนซัมมิท ที่บาหลี อินโดนีเซีย เพื่อวางแนวทางรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี นอกเหนือจากความพยายามผลักดันให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนบรรลุผลภายในปี 2558 ขณะที่ 9 เดือนแรกปีนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนเพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์ มูลค่ากว่า 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล เป็นสินค้าหลัก

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 (ASEAN Summit 19th) ระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน 2554 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าที่ประชุมจะนำเรื่องเหตุการณ์สำคัญเฉพาะหน้ามาพิจารณา เพื่อวางแนวทางในการลดผลกระทบ ทั้งเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ภูมิภาคอาเซียนต้องเผชิญอยู่ ปัญหาวิกฤตการเงินของประเทศ ในยุโรปและเศรษฐกิจชะลอตัวของสหรัฐฯ ซึ่งยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกใน ภาพรวม นอกเหนือจากประเด็นหลักคือการหารือติดตามความคืบหน้า ทบทวนแผนงานสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)

ทั้งนี้ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจการเงินในยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้งความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลกนั้น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบต่อการแผนงานการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่จากการประเมินตามข้อเท็จจริงอาจเกิดผลด้านหนึ่ง คือการร่วมมือช่วยเหลือกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่มมากยิ่งขึ้นซึ่งจะก่อให้เกิดผลเชิงบวกมากกว่า ขณะที่อีกด้านอาจมีความวิตกกังวลว่าประเทศจะอยู่รอดหรือไม่ จึงต้องปกป้องธุรกิจการค้าของตน ซึ่งในภาพรวมของการค้าโลกมีแนวโน้มที่หลายประเทศจะนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาเป็นเครื่องมือในการปกป้องตลาดภายในมากยิ่งขึ้น

“เราไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงว่ายังคงมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่อัตราทางด้านภาษีศุลกากร จนทำให้เกิดอุปสรรคและต้นทุนทางการค้า ซึ่งถือเป็นการกีดกันทางอ้อม เรื่องดังกล่าวเป็นโจทย์หนึ่งของอาเซียนที่ต้องแก้ปัญหา แต่เนื่องจากมาตรการเหล่านี้เป็นเรื่องที่มองไม่ค่อยเห็น ไม่ได้มีตัวเลขชัดเจนเหมือนภาษี จึงต้องมีการวางแผนให้กระชับชัดเจน เพื่อให้การแก้ปัญหาตรงจุด” นางศรีรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มอาเซียนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลก ทั้งนี้จากการเปิดเสรีการค้าซึ่งเป็นกระแสหลักของโลก ทำให้ภาษีศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิกในองค์การการค้าโลก(WTO) ลดต่ำลงเรื่อยๆ ดังนั้นภาษีจึงไม่ใช่อุปสรรค แต่เกิดเป็นมาตรการใหม่ๆ ขึ้นมา อาทิ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กฎกติกาขององค์กรระหว่างประเทศยังเข้าไปไม่ถึง

นางศรีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มอาเซียนต้องร่วมมือกันแสดงเจตนารมณ์ กำหนดข้อผูกพันว่าจะไม่ใช้มาตรการที่เป็นการกีดกันในทางอ้อม ขณะเดียวกันในทางปฏิบัติก็ต้องมีกลไกที่จะทำให้เกิดผลด้วย ขณะนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้มีการพิจารณาวางมาตรการเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น

นอกจากการประชุมผู้นำอาเซียนแล้ว ยังมีการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 6 โดยฝ่ายไทยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะประชุมเตรียมการของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (Prep-AEM) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ(ASEAN SEOM) โดยมีประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การพิจารณากรอบสำหรับการจัดตั้งหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางในภูมิภาคของอาเซียน ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับอาเซียนในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี กรอบแผนงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาคของอาเซียน เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับสร้างความเจริญเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตามการวัดผลด้วย AEC Scorecard และการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนงาน AEC Blueprint ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศสมาชิก การหารือความคืบหน้าการดำเนินการเปิดเสรีการค้าบริการ โดยเฉพาะสถานะการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปสำหรับข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการชุดที่ 8 และการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา

ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน มีมูลค่า 74,661.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553 โดยจำแนกเป็นการส่งออกมูลค่า 44,333.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้า 30,327.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯโดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามูลค่า 14,006.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ 3 ไตรมาสแรกของปีนี้มูลค่าการค้าสูงถึง 70,712.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 27.60 โดยจำแนกเป็นการส่งออกมูลค่า 41,699.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.46 เปอร์เซ็นต์ และนำเข้า 29,013.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.27 เปอร์เซ็นต์ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามูลค่า 12,685.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยส่งออก 10 อันดับแรกของปีนี้ ประกอบด้วย น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และน้ำตาลทราย ขณะที่สินค้านำเข้าประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ และถ่านหิน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ