ผู้นำอาเซียนหารือบนเวทีอาเซียนซัมมิท บาหลี เร่งผลักดันแผนงานสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมลงนามแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาคของกลุ่ม ยึดเป็นแม่แบบสร้างความเจริญเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน พร้อมเห็นชอบกรอบการจัดตั้งหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางในภูมิภาคของอาเซียน ขณะที่เปิดทางเจรจาประเทศนอกกลุ่มอาเซียน อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย จะเป็นการติดตามความคืบหน้าของแผนการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พร้อมทั้งจะมีการลงนามในเอกสารสำคัญด้านเศรษฐกิจในกรอบอาเซียนที่จะมีการรับรองหรือลงนามโดยผู้นำหรือรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย เอกสารซึ่งคาดว่าจะมีการให้การรับรองโดยผู้นำอาเซียน ได้แก่ กรอบแผนงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาคของอาเซียนหลักการเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับความเจริญเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน (ASEAN Framework for Regional Comprehensive Economic Partnership) กรอบสำหรับการจัดตั้งหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางในภูมิภาคของอาเซียน (The ASEAN Framework for Equitable Economic Development: Guiding Principles for Inclusive and Sustainable Growth)
นางศรีรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเอกสารที่จะมีการลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย พิธีสารฉบับที่สองเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสาธารณรัฐเกาหลี และพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 2 ภายใต้ความตกลงการค้าบริการของกรอบความตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน
ขณะที่การลงนามในเอกสารทวิภาคี โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจไทยและอินโดนีเซีย ได้แก่ ความตกลงทาง การค้าระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างไทยกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 19 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน 2554 ณ เมืองบาหลี โดยการประชุมผู้นำอาเซียน จะมีการหารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภายในอาเซียน และการหารือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา รวมทั้งสหประชาชาติ และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งสหรัฐฯ และรัสเซีย จะเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรกในฐานะสมาชิก
ส่วนการประชุมที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 6 การประชุมเตรียมการของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (Prep-AEM) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ (ASEAN SEOM) โดยประเด็นพิจารณาสำคัญ ได้แก่ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตามการวัดผลด้วย AEC Scorecard และการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนงาน AEC Blueprint ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศสมาชิก รวมทั้งการหารือความคืบหน้าการดำเนินการเปิดเสรีการค้าบริการ โดยเฉพาะสถานะการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปสำหรับข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการชุดที่ 8 และการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา
นอกจากนั้น ยังประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการขององค์กรระดับรัฐมนตรีรายสาขาภายใต้เสาหลัก AEC เช่น รัฐมนตรีการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) รัฐมนตรีการคลัง (AFMM) และรัฐมนตรีพลังงาน (AMEM) การหารือความคืบหน้าในการดำเนินการมาตรการที่เกี่ยวข้องกับด้านศุลกากร การหารือและให้แนวทางต่อผลการประชุมคณะกรรมการทุกคณะด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole) ตลอดจนการจัดทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630