อาเซียน-ญี่ปุ่น เห็นชอบข้อเสนอไทย ร่วมมือจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ข่าวทั่วไป Friday December 23, 2011 11:47 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2554 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยที่ประชุมได้หารือความร่วมมือ 4 ด้าน คือ แหล่งกำเนิดสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

อาเซียนและญี่ปุ่น มีการพิจารณาปรับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดเฉพาะรายสินค้าให้สอดคล้องกับการจำแนกพิกัดสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ปี 2550 ที่กำหนดโดยองค์การศุลกากรโลก สำหรับด้านการค้าบริการและลงทุน อยู่ระหว่างการเจรจาหลักการเปิดเสรีและร่วมมือกันต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2555

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบ “โครงการศึกษาคาร์บอนฟุ๊ตปริ้นท์สำหรับพลังงานหมุนเวียนในประเทศสมาชิกอาเซียน: Carbon Footprint of Renewable Energy for ASEAN Countries” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือที่เสนอโดยประเทศไทย มีมูลค่า 156,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) การฝึกอบรมการคำนวณ Carbon Footprint หรือ รอยเท้าคาร์บอน สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยคำนวณปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ กิจกรรมการบริการ ตลอดวัฏจักรชีวิต ทั้งนี้ แหล่งกำเนิดของก๊าซดังกล่าวมาจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล กระบวนการในภาคอุตสาหกรรม และกสิกรรม เป็นต้น ซึ่งจะใช้เป็นตัวบ่งชี้โอกาสการเกิดภาวะโลกร้อน และ 2) การจัดทำคู่มือฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Inventory : LCI) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความเข้าใจและติดตามปริมาณก๊าซคาร์บอน ที่อาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

“โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ได้รับความเห็นชอบภายใต้ความร่วมมือเขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น และจะใช้งบประมาณดำเนินการจากกองทุนญี่ปุ่น-อาเซียน (Japan-ASEAN Integration Fund: JAIF) ที่ญี่ปุ่นสมทบทุนเบื้องต้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ” นายสมเกียรติ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (Roadshow) ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2555 ณ เมืองเซนไดและกรุงโตเกียว ซึ่งจะมีการพบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนักธุรกิจญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน รวมทั้งการหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น (METI) เกี่ยวกับแนวทางกระชับความสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการฟื้นฟูภายหลังสึนามิของญี่ปุ่น และการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมของไทย

ไทยและญี่ปุ่น มีการขยายตัวทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นมีมูลค่าทั้งสิ้น 21,040.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มูลค่าการส่งออก 16,022.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.32 ขณะที่การนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นในปี 2553 มีมูลค่า 34,235.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.88 จากปี 2552

สำหรับอาเซียนและญี่ปุ่น มีการขยายตัวทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2553 การส่งออกของอาเซียนไปญี่ปุ่นมีมูลค่าทั้งสิ้น 101,038.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มูลค่าการส่งออก 77,850.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.78 ขณะที่การนำเข้าของอาเซียนจากญี่ปุ่นในปี 2553 มีมูลค่า 112,908.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าปี 2552 ที่มีมูลค่านำเข้าเพียง 80,427.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.38

สินค้าสำคัญที่ไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร อุปกรณ์และส่วนประกอบของยานพาหนะ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ สินค้าประมง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ