ไทยจับตาการเจรจา TPP

ข่าวทั่วไป Friday December 23, 2011 11:49 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังศึกษาและติดตามการเจรจาทำความตกลง Trans-Pacific Strategic Economic Partnership (TPP) ซึ่ง 9 ประเทศได้แก่ สหรัฐออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และมาเลเซีย เข้าร่วมเจรจา เพราะประเทศเหล่านี้เป็นสมาชิกเอเปคเช่นเดียวกับไทย และเป็นประเทศคู่ค้าที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทางเศรษฐกิจ โดยสหรัฐฯเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยในกลุ่มนี้ และอีก 6 ประเทศมีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements หรือ FTAs) กับไทย (ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 4 ประเทศคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม และอีก 2 ประเทศคือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) สำหรับชิลีและเปรูก็อยู่ระหว่างการเจรจาทำความตกลง FTAs กับไทยด้วย นอกจากนี้ ก็มีแนวโน้มว่า TPP จะเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งสำหรับการบูรณาการทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเอเปค ในการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรีแห่งเอเชียและแปซิฟิค (Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ FTAAP) ในอนาคต

ในการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 19 ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการที่จะนำญี่ปุ่นเข้าร่วมในการเจรจา TPP ซึ่งหากรวมญี่ปุ่นด้วยก็จะส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าร่วมเจรจา ครอบคลุมถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ เม็กซิโกและแคนาดาซึ่งเป็นภาคีความตกลงการค้าเสรีภูมิภาคอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Agreement หรือ NAFTA) ร่วมกับสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่ามีความประสงค์ที่จะขอเข้าร่วมการเจรจา TPP ด้วย

เมื่อปี 2550 ผู้นำเอเปคเห็นชอบร่วมกันที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิค (FTAAP) ในอนาคต เพื่อให้ประเทศสมาชิกเอเปค (27 ประเทศในปัจจุบัน) มีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน แต่เอเปคยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายเวลาที่จะเปิดเจรจากันเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ดี เอเปคได้เริ่มเตรียมการขั้นพื้นฐานโดยดำเนินโครงการศึกษาบทบัญญัติสำคัญๆที่อยู่ในความตกลง การค้าเสรี (FTAs) ของสมาชิกเอเปค ที่ได้ทำไว้กับประเทศต่างๆ จำนวนกว่า 30 ความตกลง อาทิ บทบัญญัติเกี่ยวกับช่องทางการเข้าสู่ตลาด พิธีการศุลกากร มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การลงทุน และนโยบายการแข่งขัน เป็นต้น และได้ศึกษาประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเจรจา FTAAP ในอนาคตด้วย เช่น การประเมินความต้องการของประเทศสมาชิกเอเปคในการส่งเสริมความสามารถของบุคลากรสำหรับการเจรจา และการศึกษาประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

ในปี 2553 ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 18 มีข้อสรุปว่าเอเปคจะเป็นเวทีบ่มเพาะทางปัญญา (Intellectual Incubator) สำหรับการเจรจาทำความตกลง FTAAP ในอนาคต และควรที่จะใช้ความตกลงการค้าเสรีของประเทศสมาชิกเอเปคเป็นพื้นฐาน เช่น ความตกลงการค้าเสรี ASEAN+3 ความตกลงการค้าเสรี ASEAN+6 (อาเซียนและประเทศที่เป็นภาคีความตกลง FTAs มีเจตนารมย์ที่จะเจรจาทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม แต่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการโดยยังไม่มีกำหนดเวลาที่จะเปิดการเจรจา) และความตกลง TPP (อยู่ระหว่างการเจรจา) โดยมุ่งหมายที่จะให้ FTAAP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูง ครอบคลุมการเปิดเสรีทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนในเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น โลจิสติกส์ เทคโนโลยี การเชื่อมโยงธุรกิจเข้าไปในห่วงโซ่อุปทานของโลก และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น

ประเทศสมาชิกเอเปค 9 ประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลง TPP ประสงค์จะให้ TPP เป็นความตกลงเปิดเสรีทางการค้าที่มีมาตรฐานสูงในแนวทางเดียวกับ FTAAP ทั้งในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ตลอดจนการปฏิรูปและการสร้างความสอดคล้องของกฎระเบียบทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศภาคี เช่น นโยบายการแข่งขันทางการค้า การจัดซื้อโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21

อย่างไรก็ดี สมาชิกเอเปคแต่ละประเทศมีระดับความพร้อมแตกต่างกันในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกเอเปค โดยเฉพาะสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ในการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่เป้าหมายในการเจรจาทำความตกลง FTAAP ในอนาคตตามหลักการของเอเปค ที่จะเปิดกว้างให้สมาชิกเอเปคทุกประเทศเข้าร่วม FTAAP โดยไม่มีเงื่อนไข

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ