นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 11 ธันวาคม 2554 เป็นวันครบรอบปีที่สิบของจีนในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นผลลัพธ์ของพัฒนาการที่รวดเร็วของเศรษฐกิจจีน ที่ได้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกในปัจจุบัน และด้วยขนาดตลาดประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน ทำให้ความสำคัญและบทบาทของจีนต่อเศรษฐกิจในโลกเป็นที่ยอมรับอย่างไม่มีข้อกังขา วันนี้โลกได้ตระหนักถึงศักยภาพที่หลากหลายของประเทศจีน และเป็นที่คาดหวังว่า จีนจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคตอันใกล้
นางศรีรัตน์ กล่าวว่า เมื่อปี 2529 จีนได้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกแกตต์ (GATT) ซึ่งเป็นปีเดียวกับการเปิดเจรจารอบอุรุกวัยภายใต้แกตต์ กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของจีนต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและความเห็นชอบร่วมกันของสมาชิกแกตต์ทั้งหมด กระบวนการนี้เป็นกระบวนการเจรจากับสมาชิกของแกตต์ซึ่งใช้เวลายาวนานมากเป็นพิเศษถึง 15 ปี คู่ขนานไปกับการเจรจารอบอุรุกวัยระหว่างประเทศสมาชิกแกตต์ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย และด้วยเจตนารมณ์อันแรงกล้าในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของจีนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีอย่างเต็มตัว ทำให้จีนสามารถเจรจาจนสรุปผลเป็นที่พอใจของประเทศสมาชิกแกตต์ได้ในช่วงระยะเวลาหลังจากที่การเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยของแกตต์สรุปผลสำเร็จซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งองค์การการค้าโลกในปี 2538 โดยจีนเข้ามาเป็นสมาชิกของ WTO เมื่อเดือนธันวาคม 2544 นับว่าเป็นก้าวสำคัญทั้งของจีนและประชาคมเศรษฐกิจการค้าโลกที่ได้รับ จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่เข้าสู่ระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กฎกติกาของ WTO
ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดอันดับ 1 ที่ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติทั่วโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตของจีนขยายตัวหลายเท่าตัว การค้าสินค้ากับต่างประเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราสูงจากยอดมูลค่าเพียง 510 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2544 ที่จีนเข้ามาเป็นสมาชิก WTO มาเป็น 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553 ในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี
“ในช่วง 10 ปีแรกของการเป็นสมาชิก WTO จีนได้ปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ แม้ว่าจะเป็นกระบวนการที่ยากลำบากสำหรับจีน แต่ก็นับว่าได้ให้ประโยชน์และส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศจีนอย่างมั่นคง อีกทั้งเป็นผลดีต่อระบบการค้าโลกและประเทศคู่ค้าและนักลงทุนต่างชาติในจีนด้วย การเข้าเป็นสมาชิก WTO จึงนับเป็นแรงขับเคลื่อนในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ” นางศรีรัตน์ กล่าว
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเข้าเป็นสมาชิก WTO จีนก็ได้เข้าร่วมในการเจรจารอบโดฮา ซึ่งเป็นการเปิดเจรจาการค้ารอบแรกของ WTO ในปี 2544 ด้วย แต่ความล่าช้าและความไม่คืบหน้าในการเจรจารอบโดฮาที่ผ่านมาเป็นเวลาถึง 10 ปี นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อระบบพหุภาคีของ WTO แล้ว ก็ส่งผลต่อจีนและประเทศสมาชิกอื่นๆของ WTO ในทางอ้อมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากการค้าและการส่งออกไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกนั้น ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้ามากยิ่งขึ้นและอยู่ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ กฎระเบียบของ WTO มีส่วนสำคัญที่ช่วยสะกัดกั้นไม่ให้ประเทศสมาชิกดำเนินมาตรการกีดกันที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความตกลง WTO ได้ และยังมีระบบการยุติกรณีพิพาทที่สามารถเป็นที่พึ่งของประเทศสมาชิกได้ โดยจีนเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้เขี้ยวเล็บของ WTO หรือกลไกการระงับข้อพิพาทในการแก้ไขปัญหาทางการค้ากับประเทศสมาชิกอื่นๆ
จีนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูประบบการค้าและการพัฒนากฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน จีนเองก็ควรเร่งปฏิรูปประเทศของตนอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยสร้างความสมดุลระหว่างการเปิดตลาดเสรีควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายภายในประเทศที่เหมาะสม ย่อมจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศของจีนอย่างต่อเนื่องต่อไป และได้รับประโยชน์ร่วมกับประเทศคู่ค้า การประกาศเจตนารมณ์ของจีน ในการให้สิทธิพิเศษโดยนำเข้าสินค้าจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในอัตราภาษีเป็นศูนย์ ถึงร้อยละ 97 ของการนำเข้าสินค้าจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดทั้งหมด ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทนำของจีนในการเป็นผู้ให้หรือช่วยเหลือประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดให้พัฒนาและเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630