ความคืบหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีของ ไทย กบั India

ข่าวทั่วไป Tuesday February 21, 2012 15:08 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความเป็นมา/การดำเนินการ

ความเป็นมา

-พ.ย. 2544: ผู้นำของไทยและอินเดียเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมไทยอินเดีย (Joint Working Group: JWG) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement) โดยผลการศึกษาได้สรุปว่า การจัดทำ FTA จะเป็นประโยชน์ร่วมกันในการขยายการค้าและการลงทุน และเกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตั้งคณะเจรจาร่วม (Joint Negotiating Group: JNG) เพื่อจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (Framework Agreement for Establishing Free Trade Area between Thailand and India)

  • 9 ต.ค. 2546: รัฐมนตรีพาณิชย์ของไทยและอินเดียร่วมลงนามในกรอบความตกลงฯ โดยกรอบความตกลงฯ กำหนดให้มีการเปิดเสรีสินค้านำร่องบางส่วน (Early Harvest Scheme : EHS) และจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้าไทยอินเดีย (Trade Negotiating Committee: TNC)

กรอบการเจรจา

  • ครอบคลุมการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีโดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้

การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า

  • ลดและยกเลิกภาษีสินค้าบางส่วน (Early Harvest Scheme: EHS) 82 รายการ ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2547 และลดภาษีเป็น 0% ในวันที่ 1 ก.ย. 2549 ครอบคลุมสินค้า เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ลำไย อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณี ส่วนประกอบเครื่องยนต์ พัดลม ตู้เย็น เป็นต้น
  • ลด/ยกเลิกภาษีสินค้านอกเหนือจาก EHS โดยแบ่งการลด/ยกเลิกภาษีสินค้าเป็น 2 ระยะคือ สินค้าทั่วไป (Normal Track) และสินค้าอ่อนไหว (Sensitive Track)

การค้าบริการ: ให้ยกเลิกการเลือกปฏิบัติหรือลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการระหว่างกันอย่างมากพอ และให้มีการเปิดเสรีแบบก้าวหน้าเป็นลำดับโดยครอบคลุมสาขาบริการส่วนใหญ่ รวมทั้งขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการ

สถานะล่าสุด

อินเดียจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าไทย-อินเดีย(India-Thailand Trade Negotiating Committee: ITTNC) ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2555 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ทั้งสองฝ่ายหารือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำความตกลงการค้าเสรี ซึ่งมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง โดยสามารถหาข้อสรุปการจัดทำข้อบทความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือศุลกากรได้แล้ว รวมทั้งมีการหารือในเรื่องอื่นๆ มีความคืบหน้าดังนี้

การค้าสินค้า ไทยและอินเดียได้มีการลดภาษีศุลกากรแก่กันภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ FTA ไทยอินเดียเพิ่มพูนผลประโยชน์มากขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะปรับปรุงการเข้าสู่ตลาดสินค้าให้มากขึ้น โดยจะพิจารณาจากบัญชีรายการสินค้าที่เรียกร้องให้อีกฝ่ายปรับปรุงการเปิดตลาด (Request List) ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนบัญชีสินค้าข้อเรียกร้องระหว่างกันแล้ว และได้แลกเปลี่ยนรายการสินค้าที่สามารถปรับปรุงการเปิดตลาดได้ (Offer List) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 อย่างไรก้ตาม สินค้าที่อินเดียเสนอปรับปรุงตลาดให้ไทย เป็นสินค้าที่อินเดียจะลดภาษีเหลือ 0% อยู่แล้ว แต่นำมาลดภาษีให้ไทยเร็วขึ้นเท่านั้น และไม่ได้มีข้อเสนอปรับปรุงการเปิดตลาดในส่วนที่เป็นสินค้าอ่อนไหว หรือสินค้าที่อินเดียไม่นำมาลดภาษีเลย ดังนั้น เพื่อให้ผลการเจรจาเป็นประโยชน์ต่อการค้าสองฝ่าย จึงตกลงให้จัดทำรายการสินค้า revised offers ให้ครอบคลุมรายการสินค้าอย่างน้อย 150 รายการ (ตามพิกัดฯ 6 หลัก) เพื่อแลกเปลี่ยนกันภายในวันที่ 15 มีนาคม 2555

การค้าบริการ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อบทเรื่องการค้าบริการ และได้หารือข้อเสนอเปิดตลาดการค้าบริการในเบื้องต้น ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนกันไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 54 ซึ่งสาขาที่ไทยสนใจ เช่น ค้าส่ง ค้าปลีก วิศวกรรม และสปา เป็นต้น ส่วนอินเดียสนใจส่งออกบริการสาขาคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการก่อสร้าง เป็นต้น รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นอื่น ๆ อาทิ มาตรการปกป้องเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการในประเทศ การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคคลผู้ให้บริการ เป็นต้น

การลงทุน

อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำข้อบทเรื่องการลงทุน และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขัน

การลงทุน:

ส่งเสริมการลงทุนและสร้างระบบการลงทุนที่เสรี อำนวยความสะดวกในการลงทุน พัฒนาระบบการลงทุนให้มีความโปร่งใส รวมทั้งให้มีการคุ้มครองการลงทุน

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ: กระชับความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า การส่งเสริมการค้าและการลงทุน สร้างกลไกในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การท่องเที่ยว การก่อสร้าง การสาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเงินและการธนาคาร เป็นต้น

กลไกการเจรจา

ตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้าไทย-อินเดีย (India-Thailand Trade Negotiating Committee: TNC) และคณะทำงาน (Working Group) กลุ่มต่างๆ เพื่อเจรจารายละเอียดทางเทคนิคเฉพาะด้าน

แนวทางการเจรจา

จัดทำความตกลงเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ (Comprehensive FTA) ซึ่งจะรวมเรื่องการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเข้าไว้ในความตกลงฉบับเดียวกัน

แผนการเจรจา

กำหนดเป้าหมายให้สรุปผลการจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-อินเดียภายในเดือนมิถุนายน 2555 เพื่อดำเนินการให้ความตกลงมีผลในทางปฏิบัติภายในเดือนกันยายน 2555

นโยบายด้านการลงทุน และกฎข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เห็นชอบให้ระบุสาขาความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การประมง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง การท่องเที่ยว การพัฒนา SMEs วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธุรกิจการจัดประชุมและนิทรรศการ และการดูแลสุขภาพ เป็นต้น โดยแผนงานและรายละเอียดความร่วมมือ จะหารือกันภายหลังความตกลง FTA ไทย-อินเดีย มีผลบังคับใช้แล้ว

เรื่องอื่นๆ ไทยและอินเดียยังอยู่ระหว่างการหารือข้อบทต่างๆ ที่จะบรรจุอยู่ในความตกลง FTA ไทย-อินเดีย ได้แก่ กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และการระงับข้อพิพาท เป็นต้น

การประชุมครั้งต่อไป คาดว่าการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าไทย-อินเดีย ครั้งที่ 24 จะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม 2555

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaifta.com (ไทย-อินเดีย)

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ: กุมภาพันธ์ 55

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ