Mr. Jorge Bunster หัวหน้าคณะเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ชิลี เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) และอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางศรีรัตน์ รัษฐะปานะ)
--------------------------------------------------------------------------------------------------
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2554 Mr. Jorge Bunster รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศของชิลี และหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ชิลี และคณะ ได้ขอเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) และอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางศรีรัตน์ รัษฐะปานะ) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการเริ่มต้นการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ชิลี การพบกันในครั้งนี้ นับเป็นการหารือครั้งแรกในระดับหัวหน้าคณะเจรจาของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นการหารือในเบื้องต้นก่อนเริ่มการเจรจาเพื่อหาแนวทางในการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกัน โดยในช่วงเช้า เป็นการหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาในระดับนโยบาย โดยได้หารือในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจา ได้แก่ รูปแบบของการเจรจา ซึ่งความตกลง FTA ไทย-ชิลี จะเป็นความตกลงแบบ comprehensive กล่าวคือ เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ทางการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ ได้หารือในประเด็นอื่นๆ ในภาพรวม ได้แก่ แผนการเจรจา รูปแบบของการเจรจา รูปแบบของการจัดทำความตกลง และโครงสร้างของความตกลง เป็นต้น
ในช่วงบ่าย Mr. Bunster ได้เข้าพบหารือกับอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยได้หารือในประเด็นทางเทคนิคของการเจรจา ประกอบด้วย แผนการเจรจา รูปแบบของการเจรจา รูปแบบของการจัดทำความตกลง โครงสร้างของความตกลง การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาก่อนการเจรจา รวมทั้ง ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นหลักของการเจรจา เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยทั้งสองฝ่ายกำหนดให้เริ่มการเจราในรอบแรกราวกลางปี 2554 ซึ่งชิลีจะเป็นเจ้าภาพ หลังจากนั้นไทยจะเป็นเจ้าภาพการเจรจารอบที่ 2 ราวต้นเดือนสิงหาคม 2554 และจะมีการเจรจาทุกๆ 2 เดือน โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ โดยการเจรจาจะครอบคลุมประเด็นต่างๆ ตามที่มีมติเห็นชอบจากรัฐสภาภายใต้กรอบการเจรจา ประกอบด้วยประเด็นการเจรจาทั้งสิ้นจำนวน 11 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การค้าสินค้า 2) พิธีการศุลกากร 3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4) มาตรการปกป้องและมาตรการเยียวยาด้านการค้า 5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 7) การค้าบริการ 8) การลงทุน 9) การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ 10) ความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และ 11) ความโปร่งใส โดยจะเจรจาพร้อมๆ กันไปในทุกประเด็น และกำหนดให้มีคณะทำงานในการเจรจาในประเด็นต่างๆ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของไทย (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และประธานาธิบดีของชิลี (H.E. Mr. Sebasti?n Pi?era) ได้ประกาศเริ่มการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกันเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ในช่วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยคาดว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถเริ่มการเจรจารอบแรกได้ราวกลางปี 2554 และจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในสิ้นปี 2555
ชิลีเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่ไทยมีโอกาสขยายการค้าการลงทุนได้อีกมาก เนื่องจากชิลีเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคอเมริกาใต้ นอกจากนี้ ชิลียังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดง ปลา ไม้และเยื่อไม้ โดยชิลีเป็นผู้ผลิตทองแดงอันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกปลาแซลมอนเป็นอันดับ 2 ของโลก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชิลีมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออก แสดงให้เห็นถึงอำนาจซื้อสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะขยายการส่งออกไปยังชิลีให้มากขึ้น
จากการศึกษาในเบื้องต้น สินค้าของไทยที่คาดว่าจะมีการส่งออกไปยังชิลีเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ ข้าว สับปะรด ยางพารา ปลาทูน่ากระป๋อง อาหารกระป๋อง สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก สำหรับสินค้าที่ไทยไม่เคยส่งออกมาก่อนและจะสามารถส่งออกไปชิลีได้หากความตกลง FTA มีผลใช้บังคับ ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์สี หน่วยเก็บข้อมูลของเครื่องประมวลผลข้อมูลอัติโนมัติ รถบรรทุกส่งของ เสื้อคาร์ดิแกนชนิดทำด้วยเส้นใยประดิษฐ์ แจ็คเก็ตหรือเสื้อเบลเซอร์ทำด้วยฝ้าย เหล็กแผ่นรีดร้อน และกระเบื้องปูพื้นและปูทางเดิน เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630