งานหินกรมเจรจาการค้า FTA ไทย-อียูวาระเร่งด่วนงานใหญ่ถก 10+6 ข่ม TPP

ข่าวทั่วไป Friday September 7, 2012 14:59 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดใจ ถึงงานเจรจาการค้าระหว่างประเทศทั้งในกรอบทวิภาคี อนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี ที่รออยู่ข้างหน้า ซึ่งเปรียบเสมือนการบ้านที่จะส่งให้อธิบดีกรมเจรจาฯคนใหม่ช่วยสานต่อว่า ในบรรดาการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอในหลายกรอบทั้งที่ไทยอยู่ระหว่างการเจรจา และเตรียมเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู) ถือเป็นหนึ่งในเอฟทีเอที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ที่รัฐบาลไทยมีเป้าหมายเปิดเจรจาเนื่องด้วยสินค้าไทยมีแนวโน้มที่จะถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือจีเอสพีทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2558 ตามเงื่อนไขประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับกลางค่อนไปทางบน (Upper middle income country)ของธนาคารโลก ซึ่งมีระดับรายได้ของประชากรต่อหัวต่อปีตั้งแต่ 3,945 ดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไปจะต้องถูกตัดสิทธิ์ หากไทยไม่ทำเอฟทีเอเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ทดแทนการถูกตัดจีเอสพี จะทำให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน แต่หากทำก็เชื่อว่าจะทำให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอียูเอาไว้ได้

เรื่องนี้ถือมีความสำคัญ เพราะตลาดอียูคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกประมาณ 10% ของมูลค่าการส่งออกในภาพรวมของไทยและเป็นตลาดพรีเมียม อีกทั้งอียูยังเป็นผู้ลงทุนอันดับสองในไทยรองจากญี่ปุ่น และเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งในอาเซียน ที่ผ่านมาอียูมีเอฟทีเอกับประเทศอื่นแล้ว27 ฉบับ และอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อจัดทำเอฟทีเอกับประเทศในอาเซียนสองประเทศคือสิงคโปร์ กับมาเลเซีย โดยสิงคโปร์ปลายปีนี้น่าจะสรุปผลขณะที่มาเลเซียอาจจะเป็นปีหน้า ส่วนปีนี้ในเดือนกันยายนคาดว่าอียูกับเวียดนามจะเริ่มเจรจากัน นอกจากนั้นอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ก็กำลังจะเปิดเจรจากับอียู เรียกได้ว่าประเทศในอาเซียน6 ประเทศสำคัญอยู่ในช่วงที่กำลังเดินหน้าเจรจากับอียู

อย่างไรก็ดีในส่วนของเอฟทีเอกับอียูของไทยที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการตามกระบวนการของมาตรา190ของรัฐธรรมนูญ โดยการทำสัมมนาประชาพิจารณ์จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะยังทำต่อ ซึ่งคาดว่าไทยจะสามารถสรุป ผลกรอบและท่าทีเจรจาเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและนำเสนอต่อรัฐ สภาเพื่อขอความเห็นชอบได้ภายในปีนี้ และเริ่มการเจรจาได้ประมาณต้นปี 2556 ส่วนเอฟทีเอใหม่ๆ ที่เราวางแผนจะนำเสนอเพื่อเปิดการเจรจาได้แก่ เอฟทีเอไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปหรือ EFTA มีสมาชิกประกอบด้วยไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้จะเร่งสรุปผลการเจรจาเอฟทีเอระดับทวิภาคีที่ค้างอยู่กับชิลี เปรู และอินเดียให้แล้วเสร็จในปีนี้

ส่วนความตกลงหุ้นส่วนยุทธ ศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(Trans Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ที่มีสมาชิกเดิม 9 ประเทศภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา(อีก8 ประเทศได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม ชิลีและเปรู) อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเอฟทีเอล่าสุดสมาชิกได้อนุมัติให้แคนาดา และเม็กซิโกเข้าร่วมเจรจาแล้วขณะที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งมีเอฟทีเอกับสหรัฐฯแล้วก็กำลังจ่อคิวเข้าร่วม

กลุ่ม TPP ได้ประกาศจะนำผล ลัพธ์ความก้าวหน้าของการเจรจารายงานให้ที่ประชุมเอเปกซัมมิทที่เมืองวลาดิวอสต็อกของรัสเซียในเดือนกันยายนนี้ส่วนท่าทีของไทยในเรื่อง TPP เราก็คอยติดตามดูอยู่ เพราะว่าจริงๆ แล้ว สมาชิก 9 ประเทศของ TPP บวกแคนาดา และเม็กซิโกที่เข้ามาใหม่รวม 12 ประเทศ ในจำนวนนี้ไทยก็มีเอฟทีเอแล้วกับ9 ประเทศไม่รวมสหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก ส่วนชิลี เปรูเราก็ใกล้สรุปผลการเจรจา

สำหรับในเวทีอาเซียนที่สมาชิก10 ประเทศจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 นางศรีรัตน์ระบุภาพรวมความตื่นตัวของทุกภาคส่วนของไทยเกี่ยวกับเรื่องเออีซี อยู่ในระดับที่ดีถึงดีมาก

ในทุกเวทีที่กล่าวมาเราให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นลำดับแรก กรมไม่ใช่ทำคนเดียว แต่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซี และประชาคมอาเซียน ในภาพรวมผ่านช่องทางต่างๆแต่ส่วนตัวก็ยังไม่ได้พอใจเต็มร้อย ต้องเดินหน้าต่อไป

ขณะเดียวกันในโอกาสที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท (18-20พ.ย.2555 ณ ประเทศกัมพูชา) ในส่วนของเสาหลักด้านเศรษฐกิจของอาเซียนจะมีการเสนอให้ผู้นำประกาศเปิดเจรจาเอฟทีเอฉบับยักษ์ใหญ่ของโลกที่เรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) หรือ Comprehensive Economic Partnership in East Asia: CEPEA รวมเป็น16 ประเทศจะมีขนาดจีดีพีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเหนือกว่าTPP โดยวางเป้าหมายจะเจรจาให้แล้วเสร็จในปี 2558

ในอีก3 ปีข้างหน้าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกหลายอย่าง ก็ต้องบอกว่ากรมเจรจาฯจะเหนื่อยมาก เพราะจะมีการเจรจาอีกหลายด้าน หลายกรอบเนื่องด้วยเรามีหน้าที่เจรจาเปิดประตูการค้าช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคและกำกับดูแลในทางปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงตรงนี้ถือเป็นความท้าทาย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ