ประเด็นสีเขียว การค้าและการเจรจา FTA อียู-ไทย

ข่าวทั่วไป Thursday September 13, 2012 14:01 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

อียูสนใจและให้ความสำคัญกับประเด็น สีเขียวอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาอย่างยั่งยืน สวัสดิภาพสัตว์ และบางครั้งรวมไปถึงประเด็นด้านสังคมอื่นๆ อาทิเช่น แรงงาน สวัสดิการสังคม และสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในเวทีการค้าโลกยุคที่การแข่งขันกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย อาทิเช่น จีน อินเดีย เข้มข้นขึ้น อียูยิ่งมีแนวโน้มผูกโยงประเด็นสีเขียวเหล่านี้เข้ากับเรื่องการดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้าและการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ กับคู่ค้าต่างๆ มากขึ้น อีกทั้ง มาตรการและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของอียูก็มีนัยและส่งผลกระทบเชิงพาณิชย์และเชิงเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าอย่างที่อียูเองก็ปฏิเสธไม่ได้

สำหรับอียูแล้ว เป้าหมายการมุ่งสู่การเศรษฐกิจสีเขียวหรือ Green Economy หมายถึง การบูรณาการและการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งอียูเห็นว่าประเด็นสีเขียวไม่ได้ถือเป็นภาระหน้าที่ ที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจหรือของประเทศสมาชิก แต่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นการลงทุน เพื่อสร้างความเจริญเติบโตในระยะยาว แทนที่จะถูกมองว่าเป็นข้อกีดกันหรือข้อจำกัดทางการค้าอย่างที่หลายคนมอง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นสีเขียวกลายเป็นประเด็นฮอตที่ได้รับการหารือในหมู่ผู้นำและผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของอียู และอียูได้ออกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญๆ อาทิเช่น EU ETS (Emission Trading Scheme) เพื่อกำหนดสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในอียู และสร้างระบบการค้าขายคาร์บอนเครดิต กฎระเบียบ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) เพื่อป้องกันการจับปลาและการประมงเถื่อน กฎระเบียบ FLEGT และ EU Timber Regulation ป้องกันการค้าไม้เถื่อน เป็นต้น

อาจมองว่ามาตรการสีเขียวเหล่านี้ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับการดำเนินการค้า แต่อันที่จริง กฎระเบียบเหล่านี้ส่งผลกระทบในเชิงพาณิชย์และการดำเนินการค้าระหว่างอียูกับประเทศคู่ค้ารวมทั้งไทย อาทิเช่น การส่งออกสินค้าประมง (ส หรับกฎระเบียบ IUU) และสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (สำหรับกฎระเบียบ กฎระเบียบ FLEGT และ EU Timber Regulation) ไปยังตลาดสหภาพยุโรป กล่าวคือ ส่งผลให้ต้องมีการปรับปรุงระบบและกระบวนการผลิตของสินค้าดังกล่าวในประเทศไทย เพื่อให้สามารถตรวจตรวจสอบย้อนกลับและมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวก่อนที่จะส่งออกไปยังอียู และที่สำคัญ ประเทศ ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการจะต้องสามารถยืนยันได้ว่าสินค้าที่ส่งออกไปอียูนั้นไม่ได้ มาจากแหล่งที่ผิดกฎหมายหรือเถื่อน

สำหรับระบบ EU ETS ยกตัวอย่างสำหรับสาขาการบิน ก็ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจการค้ากับไทย เพราะ สายการบินที่บินเข้าไปยังและบินออกจากท่าอากาศยานของประเทศอียู จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อเครดิตสำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่ม(หากได้ใช้โควตาการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่อียูให้ฟรีหมด แต่อย่างไรก็ดี ในอนาคต อียูมีแนวโน้มลดการให้โควตาการปล่อยก๊าซฟรีลงไปเรื่อยๆ) นั่นหมายถึง ราคาค่าโดยสารเครื่องบินและการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบในลักษณะ pass-through costs จึงไปสู่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทำให้ ต้นทุนของสินค้าจากไทยที่ส่งออกไปยังอียูผ่านสายการบินอาจเพิ่มขึ้นด้วย อาจมองได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ (discriminatory) ต่อสินค้าที่ ส่งออกมายังอียูผ่านสายการบินก็ว่าได้ ในบริบทของการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ เอฟทีเอ อียูให้ความส คัญกับประเด็นสีเขียวอย่างมาก โดยได้ผนวกประเด็นสีเขียวไว้เป็นเรื่องหลักในการเจรจา อาทิเช่น การเจรจาเอฟทีเอกับเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดี และเกาหลีใต้ได้ออกมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาสีเขียวที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดรับกับข้อเรียกร้องต่างๆ ของอียู อาทิเช่น การออกกฎหมาย ETS ของเกาหลีใต้ เพื่อเชื่อมโยงกับระบบ ETS ของอียู การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว การสนับสนุนการบริโภคสีเขียว และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เป็นต้น เกาหลีใต้ได้ดำเนินมาตรการสีเขียวเหล่านี้ เป็นนโยบายระดับชาติเลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทย ประเด็นสีเขียวและ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของอียูมัก ถูกมอง ว่าเป็นเรื่องของการปกป้องทางการค้าหรือเป็นการสร้างการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ซึ่งก็คงอดคิดไม่ได้ เพราะมาตรการเหล่านี้ ก็ส่งผลกระทบเชิงพาณิชย์และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยจริงๆ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักและยอมรับ คือ อียูเป็นผู้กำหนดเกมสีเขียวนี้ในการดำเนินการค้าในระดับโลก และได้ใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกับการเจรจาเอฟทีเอ กับหลายประเทศ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จหากไทยจะเริ่มเจรจาเอฟทีเอ กับอียูก็คง ต้องทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์และนโยบายสีเขียวของประเทศให้ก้าวหน้า เป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับข้อเรียกร้องและมาตรการต่างๆ ของอียู เพื่อจะได้ใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศและพัฒนาศักยภาพ ของภาคธุรกิจไทย พร้อมๆ ไปกับการเจรจาเอฟทีเอ กับอียู ซึ่งภาคธุรกิจไทยหลากหลายสาขาก็มีศักยภาพในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยหน้าใคร ดังนั้น แทนที่จะมองว่าประเด็นสีเขียว เป็นเพียงเรื่องของการกีดกันทางการค้าจากอียู น่าจะมองว่าเป็นโอกาสในการหาช่องทางและ โอกาสใหม่ๆ ให้ภาคธุรกิจไทยผ่านการเจรจา เอฟทีเอกับอียู (กรุงเทพธุรกิจ)

Source: http://www.dtn.go.th/filesupload/10_Sep_2012.pdf

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ