จากการหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ เรื่องที่มีความยากในการเจรจา ได้แก่ เรื่องการเปิดตลาดสินค้า การค้าบริการ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งตนในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาได้ให้นโยบายที่ชัดเจนกับทีมเจรจาแล้วว่าจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของไทยในภาพรวมในการเจรจาเป็นสำคัญ
ความตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ จะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนไทยกับอียูอย่างมีนัยสำคัญ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของอียูในอาเซียน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับภาคธุรกิจทั้งภาคการผลิตและบริการของไทยต่อไป
นายโอฬาร กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอฉบับนี้ ทราบดีอยู่แล้วว่าเจรจายาก เพราะมีการเปิดเสรีที่เข้มข้นและมีหัวข้อใหม่ ๆ แต่ก็มั่นใจในทีมเจรจาของไทย โดยเชื่อว่าเอฟทีเอฉบับนี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ไทยทะยานไปข้างหน้า เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยให้อยู่ในระดับ World Class การเจรจาในครั้งนี้เป็นการหารือครั้งแรก เป้าหมายหลักคือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ข้อเรียกร้อง ข้อกังวลของทั้งสองฝ่าย สาหรับขั้นตอนต่อไปของไทยจะมีการหารือกับทุกภาคส่วน ซึ่งตนก็มีความยินดีที่เอฟทีเอไทยอียูได้รับความสนใจอย่างสูงจากทุกฝ่าย และขอยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศไทยเป็นหลัก
ทั้งนี้ อียูเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับสี่ของไทย รองจากอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน โดยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้ารวม 41.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไทยได้ดุลการค้าประมาณ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอียูเป็นนักลงทุนอันดับสองในไทย รองจากญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่าสองพันล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630