ความตกลงการค้าเสรีไทย - สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA)

ข่าวทั่วไป Thursday August 1, 2013 15:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความตกลงการค้าเสรีไทย — สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA ได้ถูกเสนอขึ้น ระหว่างการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสวิส นาย Joseph Deiss เมื่อเดือนมีนาคม 2547 และนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ

ต่อมาคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้พิจารณามีมติมอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายเกริกไกร จีระแพทย์ ทำหน้าที่หัวหน้าคณะเจรจาความตกลง โดยมีกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ โดยให้ทำการศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย — EFTA แล้วรายงานผลต่อ กนศ.

ผลการศึกษาผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี

กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย — EFTA เมื่อเดือนกันยายน 2547 และเสร็จสิ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2548

การหารือเตรียมการครั้งที่ 1 ไทยและ EFTA ได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ฝ่ายไทยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายเกริกไกร จีระแพทย์ เป็นหัวหน้าคณะ ฝ่าย EFTA มีนาย Gretar Mar Sigurdsson จากไอซ์แลนด์เป็นหัวหน้าคณะ

การประชุมครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับกรอบ แนวทาง กำหนดการเจรจาฝ่ายไทยมีความเห็นว่าความตกลงควรครอบคลุมสินค้าทุกรายการ โดยไม่มีข้อยกเว้น (comprehensive) ขณะเดียวกันควรยึดหลักความยืดหยุ่น (flexibility) เพื่อให้มีระดับความเป็นไปได้สูงและยังประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย (mutual benefit) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการขององค์การการค้าโลก

การหารือเตรียมการครั้งที่ 2

ไทยและ EFTA ได้มีการประชุมหารืออย่างเป็นทางการระหว่างวันที 10-12 พฤษภาคม 2548 ณ กรุงเรคาวิค ประเทศไอซ์แลนด์ โดยมีนายเกริกไกร จีระแพทย์ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และนาย Gretar Mar Sigurdsson เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่าย EFTA การประชุมหารือครั้งนี้ถูกกำหนดเป็น Exploratory meeting เนื่องจากสมาชิก EFTA บางประเทศยังดำเนินการภายในเพื่อขออาณัติการเจรจาไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม EFTA แสดงความพร้อมและมีเจตนารมณ์ที่จะให้การเจรจากับไทยแล้วเสร็จโดยเร็วและนำมาซึ่งประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ การหารือมุ่งเน้นแลกเปลี่ยนและสอบถามข้อมูลการค้า กฎระเบียบ มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และรายละเอียดข้อผูกพันภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอื่นๆ ของไทยและ EFTA รวมถึง หยั่ง (probe) ท่าทีและความต้องการของทั้งสองฝ่ายในแต่ละหัวข้อการเจรจา โดยได้แบ่งกลุ่มเจรจาดังนี้

1) การเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้ง มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชมาตรการกีดกันทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า

2) การค้าบริการและการลงทุน การแข่งขัน การจัดซื้อโดยรัฐ และ Legal Issue

3) กฎแหล่งกำเนิดสินค้า

4) ทรัพย์สินทางปัญญา

5) การค้าสินค้าเกษตร ประชุมรายประเทศ

สถานะการเจรจา

ไทยและ EFTA ได้มีการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีมาแล้ว 2 รอบ โดยการเจรจารอบที่ 1 เมื่อวันที่ 11-15 ตุลาคม 2548 ณ จังหวัดภูเก็ต และการเจรจารอบที่ 2 เมื่อวันที่ 16-20 มกราคม 2549 ณ จังหวัดเชียงใหม่ การเจรจามีสาระครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้าเกษตรพื้นฐาน สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าประมง และสินค้าเกษตรแปรรูป การค้าบริการ การลงทุน มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคทางการค้า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และกลไกยุติข้อพิพาท ซึ่งยังมีหลายประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องหารือกันต่อไป

ทั้งนี้ การเจรจาได้หยุดชะงักไปเมื่อกันยายน 2549 เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งต่อมาฝ่าย EFTA ได้เสนอให้ไทยกลับไปเริ่มเจรจาใหม่อีกครั้ง แต่เนื่องจากไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยมาตรา 190 ได้กำหนดแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการก่อนการเจรจารวมถึงการขอความเห็นชอบการเจรจาจากรัฐสภาอีกครั้งซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ เป็นตลาดหนึ่งที่มีศักยภาพ และมีการค้ากับไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการค้าเฉลี่ยในช่วง 3 ปี (2553-2555) คิดเป็นมูลค่า 12,561.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ในปี 2555 สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 10 และเป็นตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับ 8 ของไทย การค้ารวมของไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปมีมูลค่า 14,901 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 2.8 ของการค้ารวมของไทย ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) ประมาณร้อยละ 37.78 โดยไทยส่งออกไปยังสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปมูลค่า 5,731 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) ประมาณร้อยละ 29.9 ในส่วนของการนำเข้า ไทยนำเข้าจากสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปมูลค่า 9,169.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) ประมาณร้อยละ 52.9

ความคืบหน้าล่าสุด

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ว่า กรมมีแผนที่จะเดินหน้าการเจรจาต่อไป ตามมติที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ที่ได้เห็นชอบในหลักการไว้ เมื่อครั้งการประชุมผู้นำอาเซม ครั้งที่ 9 ณ ประเทศลาว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยกรมมีแผนเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดท่าทีในการเจรจาตามมาตรา190 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยในปี 2556 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินการจัดสัมมนาเวทีสาธารณะเรื่อง “FTA ไทย-EFTA: โอกาสและความท้าทาย” 4 ครั้งในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2556 (ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา กรุงเทพฯ) และจัดการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยในลักษณะ Focus group ในกลุ่มสินค้าประมงและประมงแปรรูป เพิ่มเติมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2556 ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมจะเสนอร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะสามารถกลับมาเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปได้ในปี 2557

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

  • ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป
  • ข้อมูลทางการค้าไทย-สมาพันธรัฐสวิส
  • ข้อมูลทางการค้าไทย-นอร์เวย์
  • ข้อมูลทางการค้าไทย-ไอซ์แลนด์
  • ข้อมูลทางการค้าระหว่างไทย-ลิกเตนสไตน์
  • Fact Sheet สมาพันธรัฐสวิส
  • Fact Sheet นอร์เวย์
  • Fact Sheet ไอซ์แลนด์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ