ไทย- ตุรกี เริ่มศึกษาร่วมผลกระทบ FTA

ข่าวทั่วไป Thursday August 29, 2013 14:51 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 28 สิงหาคม 2013 เวลา 10:10 น.

นางพิรมลเจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าหลังจากการเดินทางเยือนสาธารณรัฐตุรกีของนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)และได้มีการลงนามแผนปฏิบัติการร่วมไทย- ตุรกี ฉบับที่ 1 (ปี 2556- 2561)เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ตนและคณะเดินทางไปยังสาธารณรัฐตุรกีเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานร่วมสำหรับการจัดทำการศึกษาร่วม ถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี หรือ JointWorking Group (JWG) for a Free Trade Agreement between the Republic of Turkeyand the Kingdom of Thailand ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 13- 14สิงหาคม 2556

นางพิรมล กล่าวว่าได้ประชุมร่วมกับอธิบดีกรมกิจการยุโรป กระทรวงเศรษฐกิจตุรกี (Mr. Murat Yapici) โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับตุรกีและแนวทางในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำFTA ไทย- ตุรกี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับร่างเอกสารขอบเขตหน้าที่ (Terms ofReference- TOR) ของการศึกษาร่วมฯ โดยมีประเด็นสำคัญ ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ของการศึกษาโครงสร้างของ JWG ตลอดจนขอบเขตของการจัดทำการศึกษาร่วมซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะให้ศึกษาในส่วนของความตกลงด้านการค้าสินค้าและประเด็นที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers- NTBs) กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origins —ROOs) มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัย(Sanitary andPhytosanitary- SPS) มาตรการทางเทคนิคต่อการค้า (TechnicalBarriers to Trade- TBT) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (TradeFacilitation) กระบวนการทางศุลกากร (Customs Procedures) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า (Cooperation) เป็นต้นซึ่งการศึกษาผลกระทบดังกล่าวจะเป็นขั้นตอนแรก เพื่อนำไปสู่การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี ในอนาคต

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางในการขยายความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าโดยเห็นว่าไทยและตุรกีมีการจัดทำความตกลงทางการค้าตั้งแต่ปี 2530แต่ยังไม่เคยจัดการประชุมร่วม (Joint Trade Committee- JTC) ภายใต้เวทีดังกล่าวจึงน่าจะเริ่มมีการประชุมเพื่อให้มีเวทีในการหารือในประเด็นต่างๆ ทางการค้า ทั้งด้านความร่วมมือในสาขาที่สนใจร่วมกันและการหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า เช่น ตุรกีใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าของไทยและปัญหาการนำเข้าสินค้าเกษตรของตุรกีมายังไทย

ทั้งนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JWG ครั้งต่อไป โดยคาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี2556 หรือต้นปี 2557 เพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินการของแต่ละฝ่าย เพื่อนำไปสู่การจัดทำการศึกษาร่วมรวมทั้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ

นางพิรมล กล่าวเสริมว่าตุรกีเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ภาคเอกชนไทยควรให้ความสำคัญเพราะนอกจากจำนวนประชากรที่มีมากถึง 80 ล้านคน แล้วยังมีนักท่องเที่ยวอีกไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านคนต่อปี ที่เดินทางเข้าท่องเที่ยวยังประเทศตุรกีเนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม หลากหลายวัฒนธรรมมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมยุโรปและเอเชียได้อย่างลงตัวเป็นผู้นำทางด้านการลงทุนที่สำคัญอีกประเทศหนึ่ง และยังได้เปรียบประเทศอื่น เนื่องจากเป็นแหล่งส่งออกสินค้าสำคัญเข้ายุโรปและประเทศในตะวันออกกลางสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เพชรพลอย ยานพาหนะ เครื่องจักรกลเหล็กและเหล็กกล้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ เยอรมนีอิรัก อิหร่าน สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

นอกจากนี้ตุรกียังเป็นสหภาพศุลกากร (CustomsUnion) เดียวกับสหภาพยุโรปซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับสูงกว่าการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกล่าวคือนอกจากจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิกแล้วยังกำหนดให้อัตราการเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศที่ 3 ในอัตราเดียวกันซึ่งในส่วนของสหภาพยุโรปและตุรกีนั้น มีผลครอบคลุมเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรแปรรูปโดยไม่รวมสินค้าเกษตร เหล็กและถ่านหิน ดังนั้นการจัดทำ FTA กับตุรกีจะช่วยให้สินค้าไทยสามารถขยายตลาดไปยังยุโรปและตะวันออกกลางได้เพิ่มมากขึ้นศักยภาพในการแข่งขันของสินค้า และธุรกิจบริการของไทยดีขึ้น

“กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเร่งผลักดันการเจรจาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วและระหว่างที่มีการเจรจา FTA กรมฯ จะจัดให้มีการประชุมJoint Trade Commission (JTC) ระหว่างกันให้เร็วที่สุด โดยคาดว่าประมาณปลายปี2556 หรือต้นปี 2557 นี้” นางพิรมล กล่าว

ปัจจุบัน ตุรกีเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่40 ของไทย และเป็นอันดับที่ 7 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จากสถิติการค้าไทย-ตุรกีในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551- 2555)ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับตุรกีมาโดยตลอด โดยในปี 2555ไทยและตุรกีมีมูลค่าการค้าระหว่างกันทั้งสิ้น 1,329.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าการส่งออก 1,085.42 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 243.83ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้ากับตุรกีคิดเป็นมูลค่า841.59 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วงครึ่งปีแรก(มกราคม- มิถุนายน) ของปี 2556 ไทยมีการค้ากับตุรกีคิดเป็นมูลค่า 831.29ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 20.03การส่งออกคิดเป็นมูลค่า 625.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.24และนำเข้าจากตุรกีมูลค่า 206.20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.26สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังตุรกี อาทิ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยางพารา เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ