รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเร่งผลักมาตรการสำคัญ เพื่อเร่งเข้าสู่ AEC ให้ทันในปี 2015

ข่าวทั่วไป Monday August 26, 2013 16:10 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายนิวัฒน์ ธำรงบุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน(AEM) ครั้งที่ 45 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนฯ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อเข้าสู่ AECตามมาตรการต่างๆที่อาเซียนได้ตกลงกันไว้

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ขณะนี้อาเซียนได้ดำเนินการตาม Blueprint ของอาเซียน ได้ประมาณร้อยละ80 ของการดำเนินการทั้งหมด โดยประเทศที่ดำเนินการคืบหน้าได้มากได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ส่วนประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการตามมาตรการ ได้แก่ฟิลิปปินส์และกัมพูชา โดยที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆที่ตกลงไว้เพื่อไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 ซึ่งจะสะท้อนภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของอาเซียนต่ประชาคมโลก

สำหรับการค้าสินค้าที่ประชุมมีมติให้ทุกประเทศสมาชิกเสนอมาตรการทางการค้าของตนเองที่ถูกร้องเรียนว่าเป็นปัญหาอุปสรรคทางการค้า1 เรื่อง มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างของการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าในอนาคตโดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1 ปี นอกจากนี้ ได้ยืนยันให้มาเลเซียและอินโดนีเซียลดภาษีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายในปี 2558 โดยใช้มาตรการภายในประเทศเช่น ภาษีสรรพสามิต แทนภาษีนำเข้าหากจำเป็น รวมทั้งเร่งรัดให้เวียดนามและกัมพูชา ลดภาษีสินค้าปิโตรเลียม

ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้รับทราบสถานะการดำเนินการจัดทำข้อผูกพันชุดที่9 ของประเทศสมาชิก โดยอาเซียนยังต้องจัดทำข้อผูกพันการค้าบริการอีก 1 ชุด คือชุดที่ 10 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2015 อันจะมีผลให้นักลงทุนในธุรกิจบริการจากประเทศอาเซียนสามารถถือหุ้นได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ในธุรกิจบริการที่ได้มีการตกลงกันนอกจากนี้ อาเซียนกำลังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงความตกลงการค้าบริการ เพื่อให้ทันสมัยและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นซึ่งก่อนหน้าอาเซียนเคยปรับปรุงการค้าสินค้าและการลงทุนมาแล้ว โดยคำนึงถึงการพัฒนาในศตวรรษที่21 ด้วย

ในช่วงที่ผ่านมาสมาชิกอาเซียนได้ปรับปรุงตารางข้อสงวนให้เปิดเสรีเพิ่มมากขึ้นและเพื่อให้ผลความตกลงมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ อาเซียนจึงกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อปรับปรุงพิธีสารเพื่อการปรับปรุง/แก้ไขข้อบทของความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญโดยที่ประชุมเห็นชอบให้สินค้าของอาเซียนไม่ต้องสำแดงมูลค่าสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางหรือ FOBในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฟอร์ม ดี ของอาเซียน ในกรณีที่สินค้านั้นผลิตได้ทั้งหมดในประเทศสมาชิกหรือมีการผลิตและแปรสภาพสินค้าตามเกณฑ์ที่อาเซียนกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ส่งออกโดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญของการดำเนินการเข้าสู่AEC สำนักเลขาธิการอาเซียนได้ทำการประเมินและพบว่าปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ความล่าช้าในการให้สัตยาบันความตกลงอาเซียน/พิธีสารให้มีผลบังคับใช้ ปัญหาการปรับกฎหมาย กฎระเบียบ ภายในประเทศซึ่งส่งผลต่อการรรวมภูมิภาค การขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองในการดำเนินการเรื่องการรวมกลุ่มภูมิภาคและข้อผูกพันเฉพาะของแต่ละประเทศ

เพื่อให้ดำเนินการไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นตามกำหนดโดยเฉพาะในมาตรการสำคัญๆ อาเซียนได้กำหนดมาตรการที่ต้องดำเนินการในปี 2013 และ2015 (Prioritized AEC Deliverables for 2013 and 2015) เช่น การจัดตั้ง National single Window การจัดทำข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการชุดที่ 9 และ 10 เป็นต้น (Prioritized AEC Deliverablesfor 2013 and 2015) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือเพื่อเตรียมการสำหรับการหารือกับคู่เจรจาต่างๆได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐ รัสเซีย และแคนาดา โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือการเตรียมการเยือนจีนของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายปี 2556เพื่อประชาสัมพันธ์อาเซียนให้เป็นที่รู้จักและขยายการค้าและการลงทุนกับจีนให้มากยิ่งขึ้นโดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานของอาเซียนกับจีนจะมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมครั้งนี้การหารือแนวทางการเพื่อสรุปการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุนกับอินเดียและญี่ปุ่นและการพิจารณารับรองแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ