ไทยและภูฏานประสบความสำเร็จ จัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกัน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 11, 2013 13:34 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทั้งในระดับราชวงศ์และประชาชนที่ผ่านมา รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้พยายามกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและล่าสุดเมื่อวันที่ 2กันยายน 2556 ไทยได้จัดการประชุมร่วมกับภูฏานเพื่อจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ(Trade and Economic CooperationAgreement between Thailand and Bhutan) จนประสบความสำเร็จ

และปีที่ผ่านมาเมื่อกล่าวถึงภูฏานประชาชนคนไทยต่างชื่นชมยินดีในพระกิจวัตรอันงดงามของพระราชวงศ์และประชาชนชาวภูฏานซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า "Land of Happiness" เป็นดินแดนที่คนไทยทุกคนใฝ่ฝันจะได้ไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ความสำคัญของภูฏานมิได้เพียงเท่านั้นแต่ภูฏานยังเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางการค้าการลงทุนที่ประเทศไทยไม่ควรมองข้ามเพราะรัฐบาลภูฏานมีนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างมากและยินดีต้อนรับนักลงทุนจากประเทศไทย

ล่าสุดเพื่อเป็นการเร่งติดตามนโยบายขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของนายกรัฐมนตรี(นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไทยจึงได้จัดให้มีการประชุมร่วมกับภูฏานเพื่อจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556

นางพิรมลเจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตนและคณะได้ร่วมการประชุมกับภูฏานซึ่งประกอบด้วย Mr. SonamP. Wangdi รองปลัดกระทรวงเศรษฐการของภูฏาน (Joint Secretariat,Ministry of Economic Affairs) เพื่อจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจร่วมกันโดยมีสาระสำคัญของความตกลงฯครอบคลุมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การท่องเที่ยว ก่อสร้าง สุขภาพและการรักษาพยายาลการศึกษา พลังงาน โลจิสติกส์ รวมทั้งการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก ตลอดจนมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า(Joint Trade Committee) เพื่อเป็นเวทีในการทบทวนพัฒนาการด้านการค้าและการลงทุนรวมทั้งหารือถึงแนวทางขยายการค้าระหว่างกัน โดยคาดว่าความตกลงฯ จะมีการลงนามภายในปลายปี2556 หรือต้นปี 2557

นางพิรมล กล่าวว่าถึงแม้ภูฏานจะเป็นประเทศเล็ก ไม่มีทางออกทะเลแต่เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยมีการนำเข้าสินค้าไทยเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 150,000เหรียญสหรัฐ และในปี 2556 การส่งออก จากไทยไปภูฏานเพิ่มขึ้นร้อยละ 98.97 นอกจากนั้นภูฏานยังเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนใน

หลายกิจการ รวมถึงกิจการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้วเช่น การพัฒนาส่งออกพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศการพัฒนาศูนย์การศึกษาในประเทศ ศูนย์ผลิตพืชออแกนิค ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นต้น

นอกจากนี้ ภูฏานได้มีความตกลง FTA กับหลายประเทศอาทิ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน เป็นต้น เป็นสมาชิก ความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค เช่น SAARC และ BIMSTEC จึงนับว่าภูฏานเป็นประเทศที่ยังมีโอกาสให้นักลงทุนของไทยเข้าไปลงทุนและทำการค้ากับภูฏานเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ภูฏานได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีเหล่านั้น

"โอกาสของประเทศไทยคือ การขยายการค้าการลงทุนไปตั้งในภูฏาน เพื่อใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีตาม FTA ที่ภูฏานมีกับคู่เจรจาสำคัญๆในเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ซึ่งจะง่ายกว่าการไปตั้งธุรกิจในประเทศเหล่านั้นนอกจากนี้ โครงการใหญ่ที่สำคัญกำลังจะเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ คือโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 10,000 เม็กกะวัตต์ และจะขยายเป็นอีก 3 เท่าในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อส่งไปขยายต่อยังอินเดียและประเทศเพื่อนบ้าน (ขณะนี้มีอินเดียเป็นนักลงทุนรายใหญ่)โอกาสยังเปิดกว้างสำหรับธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไทยมีจุดแข็ง คือ ด้านดูแลสุขภาพ การศึกษา การท่องเที่ยว รีสอร์ตร้านอาหาร และธุรกิจบริการในด้านอื่นๆ"นางพิรมล กล่าว

ในปี2556 ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 153 ของไทย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) การค้ารวมเฉลี่ยมีมูลค่า 12.10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่134 ของไทย มีมูลค่าเฉลี่ย (2551-2555)11.94 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 180ของไทย มีมูลค่าเฉลี่ย (2551-2555) 0.15ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปภูฏาน ได้แก่สิ่งทอ รถยนต์และอุปกรณ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผ้าผืนเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น สินค้านำเข้าจากภูฏานที่สำคัญของไทย ได้แก่เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


แท็ก Trade   ภูฏาน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ