การค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์จะเพิ่มขึ้น หลังจากเมียนมาร์เปิดใช้วีซ่า ณ ด่านชายแดน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 1, 2013 16:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ประเทศเมียนมาร์ได้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2553 และการเลือกตั้งซ่อมตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 เป็นต้นมา ประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งแถบตะวันตก และตะวันออกต่างก็ให้ความสำคัญและยอมรับเมียนมาร์มากขึ้นว่าเมียนมาร์ได้เริ่มเปิดประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจและการค้าเสรีของโลกแล้วจนขณะนี้เป็นที่ยอมรับของสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งต่างก็ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยการผ่อนปรนให้เมียนมาร์ส่งออกสินค้าไปขายยังสหรัฐอเมริกาได้ และเริ่มเปิดให้นักลงทุนของตนเองเข้ามาแสวงหาโอกาสในการลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังได้ยกเลิกหนี้เก่าระหว่างประเทศถึง 52,200 ล้านบาท และแสดงความสนใจในการเข้าไปลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน และการสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเมียนมาร์อีกด้วย จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยจะเข้าไปแสงหาโอกาสทั้งด้านการค้าและการลงทุนมากขึ้น

ในปี 2555 การค้าระหว่างไทยกับเมียนมาร์มีมูลค่า 211,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.85 เมื่อเทียบกับปี 2554 โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่าการค้า 132,512 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.15 และเมียนมาร์เป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับไทยมาโดยตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

การส่งออกของไทยไปเมียนมาร์ในปี 2555 มีมูลค่า 96,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.39 เมื่อเทียบกับปี 2554 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 การส่งออกมีมูลค่า 64,918 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเมียนมาร์ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปูนซิเมนต์ เป็นต้น การนำเข้าของไทยจากเมียนมาร์ในปี 2555 มีมูลค่า 114,820 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับปี 2554 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 โดยสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเมียนมาร์ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ในปี 2555 การค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ มีมูลค่า 180,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.79 เมื่อเทียบกับปี 2554 ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 การค้าชายแดนมีมูลค่า 110,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยเมียนมาร์เป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับไทยมาโดยตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

การส่งออกชายแดนของไทยกับเมียนมาร์ในปี 2555 มีมูลค่า 69,975 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับปี 2554 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 การส่งออกชายแดนมีมูลค่า 45,343 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ12.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยสินค้า ส่งออกตามชายแดนสำคัญของไทยไปเมียนมาร์ ได้แก่ น้ำมันดีเซล เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ น้ำมันเบนซิน เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอร์ ผ้าผืนและด้าย การนำเข้าชายแดนไทยกับเมียนมาร์ในปี 2555 มีมูลค่า 110,495 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ6.5 เมื่อเทียบกับปี 2554 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 การนำเข้าชายแดนมีมูลค่า 65,038 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดย สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าตามแนวชายแดนจากเมียนมาร์ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ พืชน้ำมันและ ผลิตภัณฑ์ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ เป็นต้น

การค้าระหว่างไทยกับเมียนมาร์มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น และมีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูงทั้งการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดนของทั้งสองประเทศ โดยมีปัจจัยหลายประการที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ ปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพและมั่นคงมากขึ้นในสายตาของผู้ค้าและนักลงทุน ปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การปรับเปลี่ยนกฎหมายการลงทุนของต่างชาติที่ผ่อนคลายและเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้มากขึ้น รวมทั้งปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนของทั้งสองประเทศติดต่อกันยาวถึง 2,400 กิโลเมตร ตั้งแต่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย จนถึงภาคใต้จังหวัดระนองของไทย ทำให้การค้าขายตามแนวชายแดนมีโอกาสค้าขายกันมากขึ้น ประกอบกับการที่ผู้บริโภคชาวเมียนมาร์มีความชื่นชอบในคุณภาพและแบรนด์ของสินค้าไทยเป็นอย่างมาก จึงผลักดันและส่งเสริมให้การค้าของทั้งสองประเทศเติบโตมากขึ้นอย่างมาก

ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามและถือได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการเจริญเติบโตดังกล่าวก็คือการที่ผู้นำของรัฐได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นด้านเศรษฐกิจและการค้า รวมทั้งยังมีความพยายามสูงที่จะผลักดันให้เมียนมาร์เป็นที่ยอมรับ และน่าเชื่อถือในสายตาของชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางเยือนต่างประเทศของผู้นำเมียนมาร์ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นการผลักดันของรัฐบาลในการเปิดด่านถาวรมากขึ้น โดยเฉพาะด่านเมียวดี-แม่สอด จังหวัดตาก การเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวบ้านน้ำพุร้อน จังหวัดกาญจนบุรี การยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน และด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจุดผ่านแดนถาวร รวมทั้งการประกาศยกเลิกการใช้มาตรการห้ามนำเข้าสินค้า 15 รายการ การจัดทำอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ และส่วนใหญ่รัฐบาลเมียนมาร์มักจะเริ่มปรับตัวก่อนไทยเสมอ เพื่อช่วงชิงโอกาสทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา รัฐบาลของเมียนมาร์ยังได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยจัดทำความตกลงว่าการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) เป็นเวลา 14 วัน สำหรับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดาทั่วไประหว่างไทยกับเมียนมาร์อีกด้วย โดยฝ่ายเมียนมาร์เสนอขอให้มีการยกเว้นการใช้วีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางผ่านจุดนำเข้าระหว่างประเทศ (International Port of Entry) ทั้งที่เป็นสนามบินนานาชาติ และด่านชายแดนถาวร (Local Border Cross Points) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของฝ่ายไทย ซึ่งมีสัญญาณที่ดีว่าทั้งสองประเทศจะเปิดการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้นจากความตกลงดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาร์มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายเปิดประเทศในเชิงรุกมากขึ้น โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา พ.อ.อ่องดู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและชายแดนแห่งรัฐบาลเมียนมาร์ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการใช้หนังสือเดินทางและออกวีซ่าให้แก่นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวของไทยและต่างประเทศที่จะเดินทางผ่านพรมแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ จำนวน 3 จุดผ่านแดนที่สำคัญ ได้แก่ 1) ด่านแม่สอด จังหวัดตาก-เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง 2) ด่านระนอง - เมืองเกาะสอง และ 3) ด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน โดยการใช้หนังสือเดินทางและวีซ่านั้น รัฐบาลเมียนมาร์จะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย และผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางโดยวิธีดังกล่าว จะสามารถเดินทางไปยังทุกแห่งที่ได้รับการอนุญาต รวมทั้งยังสามารถเดินทางกลับออกมาได้ทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็นสนามบินย่างกุ้ง ช่องทางชายแดนมูเซ-จีน และช่องทางเมียวดี-แม่สอด เป็นต้น

ดังนั้น การใช้นโยบายเชิงรุกในการเปิดประเทศของเมียนมาร์โดยการเพิ่มความสะดวกของการเข้า-ออก ณ ด่านชายแดนถาวรดังกล่าว จะเป็นโอกาสให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ขยายตัวมากขึ้น คาดว่าการค้าชายแดนทั้ง 3 ด่านสำคัญดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นถึง 75,000 ล้านบาท ต่อปี (ปี 2555 มีมูลค่า 68,930 ล้านบาท) โดยเฉพาะบริเวณด่านชายแดนอำเภอแม่สอด - เมืองเมียวดี ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า และวัตถุดิบ คาดว่าจะมีมูลค่าการค้าชายแดนบริเวณดังกล่าวสูงสุดมากกว่า 50,000 ล้านบาท ต่อปี (ปี 2555 มีมูลค่า 39,376 ล้านบาท)

และคาดว่าอุตสาหกรรมไทยจะมีการขยายตัวในการลงทุนมากขึ้น เพราะบริเวณนี้เป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีศัยภาพสูงสุด และมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนมากที่สุด เพื่อใช้แรงานราคาถูกจากเมียนมาร์ ประกอบกับรัฐบาลเมียนมาร์ยังได้เตรียมความพร้อมให้นักลงทุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยการประกาศให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีทั้งเขตปลอดอาการ (Free Zone) และเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone : EPZ) รวมทั้งการพัฒนาเมืองท่าขี้เหล็กให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปทำการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลเมียนมาร์มองไทยเป็นประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มากขึ้น เพราะการเปิดประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวขยายตัวและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศนั้น รัฐจำเป็นต้องผลักดันและส่งเสริมอย่างเต็มที่ ส่วนประเทศที่เป็นคู่ค้าของเมียนมาร์ ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ