ในช่วงปี 2551-2556 กระทรวงเกษตรและกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียได้ออกกฎระเบียบ ควบคุมการนำเข้าสินค้าพืชสวนสดและแปรรูป จำนวนมากกว่า 10 ฉบับ โดยควบคุมสินค้าพืชสวนที่นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวน 39 รายการ(เดิม 57 รายการ) ประกอบด้วยพืชหัว 4 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม ผักและผลไม้สด จำนวน 18 ชนิด ได้แก่ แครอท พริก กล้วย สับปะรด มะม่วง ส้ม ส้มแมนดาริน เมล่อน มะละกอ แอปเปิ้ล ทุเรียน ลำไย และผักผลไม้แปรรูป 17 รายการ ที่สำคัญ ดังนี้
1)มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Standard: SPS) ควบคุมให้ผักและผลไม้จำนวน 100 รายการที่นำเข้าต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย โดยไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี และสารชีวภาพที่เกินกว่าระดับสูงสุดที่กำหนด รวมทั้งไม่มีสารเคมีต้องห้าม โดยการนำเข้าจะต้องมีการตรวจสอบสารเคมี และสารต้องห้าม 100 % หรือต้องเป็นสินค้าที่กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียให้การรับรองระบบการควบคุมความปลอดภัยของสินค้าเกษตร (Mutual Recognition Agreement : MRA)
2)มาตรการจำกัดจุดนำเข้า โดยควบคุมตามชนิดสินค้าพืชสวนที่นำเข้า โดยห้ามนำเข้าที่ท่าเรือหลัก ในกรุงจาการ์ตา หากสินค้าพืชสวนยังไม่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานความปลอดภัย (MRA) จากอินโดนีเซีย ยกเว้นทุเรียน และลำไย ยังคงสามารถนำเข้าได้ทั้งจาการ์ตาและจุดนำเข้าอื่นๆ ส่วนสินค้าพืชสวนอื่นๆจะถูกจำกัดจุดนำเข้าเหลือเพียง 4 แห่ง(จากเดิม 8 แห่ง)
3)มาตรการคำรับรองการนำเข้า (Recommendation on Import Horticultural Products : RIPH) โดยการจัดสรรปริมาณการนำเข้าสินค้าพืชสวน 39 รายการ (จากเดิม 57 รายการ) โดยกำหนดให้กระทรวงเกษตรออกคำรับรองการนำเข้า และปริมาณการนำเข้าให้แก่ผู้นำเข้าก่อนการดำเนินการนำเข้าในแต่ละ shipment โดยจัดสรรปริมาณการนำเข้า 2 ครั้ง/ปี คือ ช่วงเวลา 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2556 และช่วงเวลา 6 เดือนหลัง (ก.ค.-ธ.ค.) ของปี 2556 ทั้งนี้ พืชสวนประเภทที่อินโดนีเซียผลิตเองได้จะไม่เปิดให้ขอคำรับรองการนำเข้ามี 12 ชนิด ประกอบด้วย พืชหัว 4 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ หอมแดง และกระเทียม และผลไม้ 8 ชนิด ได้แก่ ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล และลำไย ส่วนช่วงหลังของปี 2556 กำหนดให้ขอคำรับรองการนำเข้า 19 ชนิด ประกอบด้วย พืชหัว 4 ชนิด เช่น หอมแดง หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง (เพื่อบริโภค และอุตสาหกรรม) ผักและผลไม้ 15 ชนิด ได้แก่ แครอท พริก กล้วย มะม่วง ส้ม ส้มแมนดาริน ส้มโอ มะนาว องุ่น เมล่อน มะละกอทุเรียน ลำไย (2 ชนิด) และ แอปเปิ้ล
ทั้งนี้ การนำเข้าในครึ่งปีแรกของปี 2557 ผู้นำเข้าต้องยื่นขอคำรับรองการนำเข้า (RIPH) ภายในวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2556 และยื่นขอใบอนุญาตนำเข้า(Import Permit) ภายในเดือนธันวาคม 2556 เท่านั้น ส่วนการนำเข้าในครึ่งปีหลังของปี 2557 ผู้นำเข้าต้องยื่นขอคำรับรองการนำเข้า (RIPH) ภายในวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2557 และยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าภายในเดือนมิถุนายน 2557
4)มาตรการข้อกำหนดทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade : TBT) ได้แก่ การ จำกัดจำนวนผู้จัดจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 3 ราย ผู้นำเข้าต้องมีห้องเย็นเก็บสินค้า และพาหนะขนส่งแบบห้องเย็น ห้ามนำเข้าเพื่อจำหน่ายโดยตรงให้แก่ผู้บริโภค หรือร้านค้าปลีก นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการติดฉลาก การใช้บรรจุภัณฑ์ตามมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศ (National Standard Indonesia : NSI) รวมทั้งกำหนดให้ผู้ส่งออกดำเนินการตรวจสอบเอกสารการส่งออก ณ ต้นทาง (Pre-shipment Inspection) โดย surveyor ที่มีอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งเป็นเครือข่ายกับบริษัทสำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย
5)มาตรการออกใบอนุญาตผู้นำเข้า(Import Licensing)และการขออนุญาตนำเข้า(Import Permit) แต่ละครั้ง โดยกำหนดให้การนำเข้าสินค้าพืชสวนนั้น จะต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้า (Import License) ตามระเบียบวิธีและขั้นตอนในการออกใบอนุญาต ซึ่งยื่นจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าประเภทผู้ผลิต (Manufacturer ImporterMI) หรือผู้นำเข้าประเภทผู้ค้า/ผู้จัดจำหน่าย (Registered Importer-RI) จากนั้นผู้นำเข้าจะต้องยื่นคำรับรองการนำเข้าจากกระทรวงเกษตรก่อน จึงจะได้รับใบอนุญาตในการนำเข้า (Import Permit) ในแต่ละ Shipment ที่มีการนำเข้า
6)มาตรการกำหนดราคากลาง (Price Reference) ของพืชสวนนำเข้า 2 ชนิด ได้แก่ พริก และ หอมแดง(ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 56) โดยทีมควบคุมกำกับราคาของกระทรวงการค้า โดยกำหนดว่าหากราคาพริกและหอมแดงในประเทศมีราคาต่ำกว่าราคากลาง รัฐบาลจะชะลอการนำเข้าจนกว่าราคาในประเทศจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคากลาง จึงจะออกใบอนุญาตนำเข้าให้ (แม้ว่าจะได้รับคำรับรองการนำเข้า RIPH แล้วก็ตาม) และผู้นำเข้าต้องดำเนินการนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างน้อย 80 % ของปริมาณที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนำเข้า
การใช้มาตรการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นอุปสรรคต่อการค้าพืชสวนของไทยเป็นอย่างมากได้ทำให้การ ส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปอินโดนีเซียลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในปี 2556 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออกสินค้า 33.57 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 61.93 เมื่อเทียบกับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2555 โดยมีผักและผลไม้สำคัญ เช่น ทุเรียน (ลดลงร้อยละ 80.95 %) ลำไย (ลดลงร้อยละ 58.54) หอมแดง (ลดลงร้อยละ 14.42) ทั้งนี้ อินโดนีเซียป็นตลาดขนาดใหญ่รองรับผลไม้คุณภาพปานกลางของไทยและสำคัญเป็นอันดับ 4 ของตลาดโลก รองจากตลาดสำคัญ เช่น จีน (อันดับ 1 ร้อยละ 36.94 ) เวียดนาม (อันดับ 2 ร้อยละ 11.95) ฮ่องกง (อันดับ 3 ร้อยละ 13.91) นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้ความสามารถในการเข้าถึงตลาดลดลง จนไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ โดยเฉพาะช่องทางการจัดจำหน่ายที่ลดลง และยากขึ้น จากการจำกัดจุดนำเข้า โดยเฉพาะผักและผลไม้จากประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีระบบการรับรองคุณภาพความปลอดภัย(MRA) กับอินโดนีเซียสามารถนำเข้าที่ท่าเรือหลักในกรุงจาการ์ตาได้ อีกทั้งยังทำให้ไม่ได้รับความสะดวกทางการค้า เช่น มีขั้นตอนในการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้น และสร้างภาระต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก จากการใช้มาตรการตรวจสอบสินค้าทางเทคนิคทั้งต้นทางและปลายทาง
ผลกระทบที่สำคัญมากจากการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs) ดังกล่าว คือ การ จัดสรรปริมาณการนำเข้าเช่นเดียวกับการใช้โควต้านำเข้า ซึ่งแอบแฝงมากับการขอคำรับรองการนำเข้า จนทำให้ผู้นำเข้าบางรายไม่สามารถนำเข้าได้ หรือนำเข้าได้ในปริมาณที่ต่ำกว่าความต้องการนำเข้ามาก โดยมีปัจจัยสำคัญที่อินโดนีเซียต้องออกกฎระเบียบควบคุมการนำเข้าผักและผลไม้ พืชสวน ได้แก่ ศักยภาพในการผลิตสินค้าดังกล่าวของอินโดนีเซียต่ำกว่าสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากไทย และจีน การผลิตมีไม่เพียงพอต่อการบริโภค ขาดการพัฒนาพันธุ์ผักและผลไม้ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพสูง จึงทำให้การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นมากเพื่อรองรับตลาดของผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสูง และต้องการบริโภคสินค้าที่ดีและมีคุณภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวคิดของการปกป้องคุ้มครองเกษตรกร ผู้ผลิตภายในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดเสรีทางการค้า อีกทั้งรัฐบาลยังต้องการส่งเสริมให้ผู้บริโภคของอินโดนีเซียหันมาบริโภคผักและผลไม้ภายในประเทศ เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องแข่งขันในด้านราคาและคุณภาพจากผักและผลไม้ที่นำเข้า จึงทำให้ออกมาตรการควบคุมการนำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินความจำเป็น และเกิดอุปสรรคต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป จีน และไทย
นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังทำให้ผู้บริโภคของอินโดนีเซียเองได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะราคาหอมแดงที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า รัฐบาลจึงได้ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเดิม และออกกฎระเบียบใหม่ แต่มาตรการที่นำมาใช้ก็มิได้เกิดการผ่อนคลายทางการค้าแต่อย่างใด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก และเห็นว่ามาตรการของอินโดนีเซียนั้นขัดกับความตกลงของ WTO โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตนำเข้าแบบไม่อัตโนมัติ และการกำหนดคำรับรองการนำเข้าที่มีการจัดสรรปริมาณการนำเข้า ก่อให้เกิดการจำกัดทั้งชนิดและปริมาณการนำเข้าของสินค้าผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ที่เข้าข่ายเป็นมาตรการจำกัดปริมาณ (Quantitative restriction) ซึ่งต้องห้ามตามความตกลงแกตต์และ อาเซียน การใช้กระบวนการควบคุมการนำเข้าที่ไม่มีเหตุผลและเกินความจำเป็น ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลบด้านโอกาสการแข่งขันทางการค้า ได้แก่ มีค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการขนส่งมากกว่าเดิม และกระทบต่อการเน่าเสียง่ายของสินค้านำเข้า
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 สหรัฐฯ ได้เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement : DS) ภายใต้องค์การการค้าโลก โดยยื่นขอหารือ (Consultation) ต่อ WTO เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 และล่าสุดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 สหรัฐฯ ได้ยื่นขอหารือครั้งใหม่ (Consultation) นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ก็ได้ยื่นขอหารือ (Consultation) กับอินโดนีเซียในฐานะประเทศผู้ฟ้องเช่นกัน
สำหรับกรณีของไทยได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทั้งการเจรจาในระดับทวิภาคีและการ ยกประเด็นหารือในการประชุมคณะกรรมการต่างๆ ภายใต้กรอบของ WTO และ ASEAN เพื่อกดดันให้อินโดนีเซียลดและยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้พัฒนาคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการยื่นขอจัดทำระบบการรับรองคุณภาพสินค้าพืชสวน(MRA) กับอินโดนีเซียก็ยังไม่สามารถทำให้อินโดนีเซียลดหรือยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556 คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกได้ยื่นขอเข้าร่วมการหารือและเข้าร่วมเป็นประเทศฝ่ายที่สาม ในการหารือครั้งใหม่ระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐฯ และนิวซีแลนด์แล้ว
การดำเนินการแก้ไขปัญหาจากมาตรการดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องใช้มาตรการ ต่างๆ ควบคู่กันไป ทั้งการเจรจาต่อรองในทุกระดับโดยกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการทำระบบการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practice : GAP) ให้สำเร็จในอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การปรับเปลี่ยนมุมมองของการแก้ไขปัญหาและการดำเนินการในเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ การเตรียมความพร้อมของงบประมาณ โดยเฉพาะการจัดตั้งทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย หากไทยตัดสินใจเลือกแก้ไขปัญหาด้วยการเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทใน WTO เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคตต่อไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630