การเปิดตลาดข้าวของไทยในฟิลิปปินส์ภายใต้พันธกรณีของอาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 1, 2013 16:07 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ในการเปิดตลาดสินค้าของประเทศสมาชิกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1992 นั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ รวมถึงฟิลิปปินส์ จะต้องมีข้อผูกพันในการเปิดตลาดสินค้าโดยการลด/ยกเลิกภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการลดภาษีให้เป็นไปตามกำหนดการในบัญชีลดภาษีที่ประเทศสมาชิกได้จัดทำขึ้น และมีเงื่อนไขของการได้รับสิทธิประโยชน์ นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังมีข้อผูกพันในการยกเลิกมาตรการจำกัดปริมาณ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ความตกลงของอาเซียนยังได้เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกที่เห็นว่าสินค้าบางประเภทที่ตนผลิตได้แต่ยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และยังคงต้องการเวลาในการปรับตัวมากกว่าสินค้าทั่วไป สามารถกำหนดให้สินค้าบางประเภทอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List : SL) และอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List : HSL) ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในการลดภาษีและอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองกับแต่ละประเทศในอาเซียน ทั้งนี้ การขอต่ออายุผ่อนผันการเปิดตลาดข้าวของฟิลิปปินส์จะต้องได้รับความเห็นชอบในแต่ละปีจากประเทศสมาชิกอาเซียนก่อน

ดังนั้น ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ASEAN Trade in Goods : ATIGA) ฟิลิปปินส์จึงได้ผูกพันสินค้าข้าวไว้ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง (HSL) เนื่องจากเห็นว่าข้าวเป็นสินค้าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร ความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนา การสร้างรายได้และการสร้างงาน ซึ่งจะต้องนำมาทยอยลดภาษีตั้งแต่ปี 2008 โดยมีการเจรจาและกำหนดอัตราภาษีสุดท้ายในปี 2010 และสามารถใช้สิทธิ์การชะลอลดอัตราภาษีนำเข้าข้าว (waiver) ภายใต้พิธีสารเพื่อพิจารณาเป็นพิเศษในสินค้าข้าวและน้ำตาล (Protocol to Provide Special Consideration for Rice and Sugar) โดยในปี 2007 ฟิลิปปินส์ได้ขอใช้สิทธิ์ผ่อนผันการชะลอการลดภาษีสินค้าข้าว และขอชดเชยการขอผ่อนผันดังกล่าว โดยการจัดทำความตกลงในการนำเข้าข้าวจากไทยในปริมาณขั้นต่ำ 367,000 ตัน/ปี ระหว่าง 8 เมษายน 2010 - 31 ธันวาคม 2014 (ปี 2556 กำหนดปริมาณนำเข้าเป็น 350,000 ตัน) เว้นแต่กรณีที่ราคาข้าวในตลาดโลก และ/หรือผลผลิตภายในประเทศมีความผันผวนจนทำให้ฟิลิปปินส์ไม่สามารถรักษาระดับการนำเข้าข้าวในปริมาณดังกล่าว

การขอชะลอการลดภาษีดังกล่าวฟิลิปปินส์จึงคงอัตราภาษีนำเข้าไว้ที่ร้อยละ 40 เป็นเวลา 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2010-2014 และจะลดลงเหลือร้อยละ 35 ในปี 2015 และหากฟิลิปปินส์จำเป็นต้องนำเข้าข้าวคุณภาพดีจะต้องให้ความสำคัญกับการนำเข้าข้าวคุณภาพดีจากไทยจำนวน 50,000 ตัน ซึ่งนับรวมอยู่ในปริมาณ 367,000 ตันภายใต้ MOU โดยมีรายละเอียดของอัตราภาษีศุลกากรขาเข้าสินค้าข้าวของฟิลิปปินส์ ดังนี้

สินค้าข้าว (AHTN 2007)                                                    2010  2011  2012  2013  2014  2015
 - Rice in the husk (paddy or rough (1006.10.00)                       40 %  40 %  40 %  40 %  40 %  35 %
  • Thai HOM MALI rice (1006.20.10, 1006.20.90, 1006.30.15, 1006.30.19
  • Parboiled rice (1006.30.20)
  • Glutinous rice (PULOT) 1006.30.30, 1006.30.90
  • Broken rice (1006.40.00)

การเปิดตลาดข้าวของไทยในฟิลิปปินส์ภายใต้พันธกรณีของอาเซียนดังกล่าว ไทยจึงไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการที่ฟิลิปปินส์ขอชะลอการลดภาษี เนื่องจากฟิลิปปินส์ยังคงมีอัตราภาษีนำเข้าข้าวในอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน คือร้อยละ 40(อินโดนีเซีย ร้อยละ 30 มาเลเซียและเมียนมาร์ร้อยละ 20 สิงคโปร์และบรูไน ร้อยละ 0) นอกจากนี้ไทยยังต้องแข่งขันกับข้าวคุณภาพราคาถูกจากเวียดนามอีกด้วย โดยในช่วงปี 2550-2555 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวโดยเฉลี่ยปีละ 1.7 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาวหัก 5-25% ซึ่งมีแหล่งนำเข้าจากเวียดนามร้อยละ 75 ไทยร้อยละ 20 และอื่นๆ ร้อยละ 5 เช่น เมียนมาร์ สหรัฐอเมริกา จีน ปากีสถาน และอินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งออกข้าวของไทยไปฟิลิปปินส์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(2553-255๗) มีปริมาณเฉลี่ยปีละ 233,573 ตัน โดยมีมูลค่าการส่งออกลดลงจาก 246 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 เป็น 3.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2555 ซึ่งปริมาณและมูลค่าลดลงมากทุกปีอย่างต่อเนื่องจนมีจำนวนน้อยกว่าปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ใน MOU และในปี 2013 NFA ของฟิลิปปินส์ประกาศนำเข้าข้าวหัก 25 % จากเวียดนามต้นเดือนเมษายน จำนวน 187,000 ตัน เพื่อเพิ่มปริมาณสต๊อคในการรองรับการเกิดพายุไต้ฝุ่นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะไม่นำเข้าจากต่างประเทศอีกในปีนี้

นอกจากนี้ ไทยยังประสบปัญหามาตรการต่างๆ ที่มิใช่ภาษี โดยฟิลิปปินส์ได้กำหนดให้ข้าวเป็นสินค้าควบคุมในการนำเข้าโดยมีหน่วยงานภาครัฐ คือ National Food Authority (NFA) เป็นผู้ควบคุม กำกับ และดูแลการสำรองข้าวของรัฐบาลเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร และมีการนำเข้า 2 รูปแบบ คือ 1) นำเข้าแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) และ 2) นำเข้าแบบรัฐกับเอกชนในต่างประเทศ (G to P) ซึ่งจะมีการประกาศประกวดราคารับซื้อเป็นครั้งคราว และเป็นผู้อนุมัติการนำเข้าข้าวให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะการนำเข้าข้าวชนิดคุณภาพดี และการนำเข้าโดยการประมูลโควตา

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ