การปรับตัวของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าวทั่วไป Thursday October 3, 2013 15:06 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ประเทศไทยสามารถผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงได้เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยในปี 2553 มีปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำที่เป็นการเพาะเลี้ยงทั้งตามชายฝั่ง และการเพาะเลี้ยงน้ำจืด รวมทั้งสิ้น 1.286 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 88,165 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าของผลผลิตสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่งจะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งหมด โดยกุ้งเป็นสัตว์น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงและมีผลผลิตที่สามารถทำได้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49 ของปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่มีการเพาะเลี้ยง

ปี 2554 อาเซียนมีปริมาณรวมของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 16.11 ล้านตัน โดยไทยมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประมาณ 1.414 ล้านตัน เป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจาก อินโดนีเซีย (7.94 ล้านตัน) เวียดนาม (3.05 ล้านตัน) และฟิลิปปินส์ (2.61 ล้านตัน) ตามลำดับ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยมีมากที่สุดคือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย (ร้อยละ 52.98) ได้แก่ กุ้งขาว ปลากะพง และปลากะรัง รองลงมาคือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด (ร้อยละ 33.61 ได้แก่ ปลานิล ปลาดุก และปลาตะเพียนขาว และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล (ร้อยละ 13.44) ได้แก่ หอยแมลงภู่ หอยแครง และหอยนางรม

ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลมากที่สุดภายในประเทศ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน และประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมากที่สุดได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ขณะที่ไทยมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยมากที่สุดภายในประเทศ โดยมีรายละเอียดของแต่ละประเทศ ดังนี้

อินโดนีเซีย ผลผลิตที่สำคัญ คือ สาหร่าย หอยนางรม และปลากะรัง ฟิลิปปินส์ ผลผลิตที่สำคัญ คือ สาหร่าย ปลานวลจันทร์ทะเล และหอยแมลงภู่ มาเลเซีย ผลผลิตที่สำคัญ คือ สาหร่าย หอยแครง และหอยแมลงภู่ สิงค์โปร์ ผลผลิตที่สำคัญ คือ ปลานวลจันทร์ทะเล หอยแมลงภู่ และปลากระพงขาว บรูไน ผลผลิตที่สำคัญ คือ กุ้งสีฟ้า ปลากะพง และกุ้งกุลาดำ เวียดนาม ผลผลิตที่สำคัญ ปลาสวาย ปลาตะเพียน และปลาไน เมียนมาร์ ผลผลิตที่สำคัญ คือ ปลายี่สกเทศ ปลากะโห้ และปลานิล สปป.ลาว ผลผลิตที่สำคัญ คือ ปลานิล ปลานวลจันทร์น้ำจืด และปลาลิ่น กัมพูชา ผลผลิตที่สำคัญ คือ ปลาสวาย ปลาตะเพียนขาว และปลาสลิด ในปี 2555 ไทยมีการส่งออกสัตว์น้ำมูลค่า 87,198 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับปี 2554 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 การส่งออกมีมูลค่า 35,367 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30.47 เนื่องจากสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกุ้งได้ประสบกับปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง (Early Mortality Syndrome : EMS) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และยังไม่สามารถแก้ไขโรคดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ประเทศในอาเซียนที่มิได้มีการส่งออกสัตว์น้ำในภูมิภาคนี้ ได้แก่ บรูไนและสปป.ลาว ตลาดอาเซียนที่สำคัญของไทยคือ มาเลเซีย รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์และเวียดนาม ประเทศที่มีการส่งออกสัตว์น้ำมากที่สุด คือ ไทย รองลงมา คือ เวียดนาม สำหรับการส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางและจีน ประเทศที่ส่งออกมาก คือ ไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ สินค้าส่งออกของไทยและเวียดนามส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเดียวกัน คือ กุ้งและปลา ขณะที่สินค้าส่งออกของเมียนมาร์ คือ ปลา ดังนั้น ประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกสัตว์น้ำในตลาดอาเซียนและตลาดโลกคือ ไทยและเวียดนาม โดยทั้งสองประเทศเป็นคู่แข่งทางการค้าในสินค้าที่เหมือนกัน โดยเฉพาะกุ้งขาวและปลา และส่งออกไปยังตลาดเดียวกัน เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากเมียนมาร์เปิดประเทศมากขึ้น ก็อาจขยับบทบาทเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาในตลาดโลก และเป็นคู่แข่งขันสำคัญของไทยในอนาคตได้

นอกจากนี้ ไทยยังมีศักยภาพหรือจุดแข็งของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ 1) ความเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีการสั่งสมประสบการณ์มานานกว่า 30 ปี 2) การรวมกลุ่มที่มีความพร้อมและความเข้มแข็งในบางกลุ่มเกษตรกร และ 3) การรักษามาตรฐานการผลิตสินค้าสัตว์น้ำและการแปรรูปสินค้า

อย่างไรก็ตาม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในฟาร์มของไทยก็ยังคงประสบปัญหาหลายด้าน ที่สำคัญได้แก่ ผลผลิตต่ำ คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน และต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งเกิดจากสาเหตุภายในฟาร์มเลี้ยงที่สำคัญ ดังนี้ 1) ที่ดิน ทุน และแรงงาน มีราคาสูง/พื้นที่เพาะเลี้ยงมีจำกัด 2) โรคระบาดและศัตรูสัตว์น้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ และ 3) ปัญหาเรี่องการใช้เทคโนโลยี การจัดการบ่อเพาะเลี้ยง และทักษะการเพาะเลี้ยงที่ต่ำ และเกษตรกรยังประสบปัญหาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากภายนอก ได้แก่ 1) ปัญหาการลักขโมยผลผลิต 2) ไม่สามารถเข้าถึงตลาดส่งออก 3) แข่งขันกับตลาดสัตว์น้ำนำเข้า 4) ตลาดภายในประเทศมีจำกัด 5) ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม 6) ปัญหาคุณภาพน้ำต่ำและน้ำท่วม และสภาพแวดล้อม/ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

แนวทางที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประกอบด้วย 1) เพิ่มการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงกฎระเบียบ และนโยบายภาครัฐ 2) ส่งเสริมเกษตรกรให้เข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร การฝึกอบรม และสินเชื่อ และ 3) สร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มของเกษตรกร 4) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำในระดับต้นน้ำและกลางน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธ์ของพ่อ-แม่พันธุ์ที่แข็งแรง รวมทั้งพัฒนาการเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มศักยภาพพื้นที่เพาะเลี้ยง 5) สร้างการเชื่อมโยงของการพัฒนาระดับปลายน้ำ โดยเฉพาะการเข้าสู่ระบบการค้าระหว่างประเทศและตลาดต่างประเทศ ทั้งในด้านการส่งออกและการเข้าไปลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศเพื่อนบ้าน

การเตรียมความพร้อมของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยในอาเซียน นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ สร้างระบบ Fisheries National Single Window เชื่อมโยงกับ NSW กับกรมศุลกากร โดยการให้บริการออกใบรับรองการนำเข้า-ส่งออกสัตว์น้ำ การจัดทำมาตรฐานการเพาะเลี้ยงกุ้งอาเซียน (ASEAN Shrimp GAP) และ การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายสถาบันสัตว์น้ำอาเซียน (ASEAN Network on Aquatic Animal Health Centre: ANAAC) เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแผนแม่บทการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (2555-2599 ) และการจัดทำยุทธศาสตร์สัตว์น้ำที่สำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์กุ้งไทย (2553-2556) และยุทธศาสตร์การพัฒนาปลานิล (2553-2557) ซึ่งเป็นการวางแผนพัฒนาสัตว์น้ำตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

นอกจากนี้ ควรมีการเตรียมความพร้อมและร่วมกันพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอาเซียน โดยเฉพาะการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขโรคระบาดของสัตว์น้ำ ซึ่งขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคสัตว์น้ำมักจะเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในทุกประเทศอาเซียน รวมทั้งการร่วมกันแก้ไข และขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดจากการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศต่างๆ ในอาเซียน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ