ไทยและชิลี ลงนามความตกลงการค้าเสรี

ข่าวทั่วไป Wednesday October 9, 2013 15:45 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางจินตนา ชัยยวรรณาการ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ไทยและชิลีได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันในโอกาสที่นายเซบัสเตียน ปิเญรา เอเชนีเก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐชิลี เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นสักขีพยานการลงนาม ร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย

นางจินตนา กล่าวว่าความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จำเป็นต่อการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์โดยชิลีจะเป็นประตู (Gateway) ที่สำคัญของไทยสู่ทวีปลาตินอเมริการวมทั้งไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่ชิลีมีการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTAs) กับประเทศต่างๆ ราว 60 ประเทศทำให้มีเครือข่ายทางการค้าและการลงทุนอย่างกว้างขวางทั้งกับประเทศในทวีปลาตินอเมริกาและประเทศในภูมิภาคอื่นทั่วโลก ดังนั้นหากไทยไม่มีความตกลงการค้าเสรีกับชิลีจะทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งที่มีความตกลงการค้าเสรีกับชิลีอยู่แล้วเช่น ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซียและเวียดนาม เป็นต้น

ในโอกาสนี้ นางจินตนาฯกล่าวเพิ่มเติมว่า ชิลีเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนเนื่องจากชิลีเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สินแร่ต่างๆ ทั้งนี้สินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปชิลีได้มากขึ้น ได้แก่ สินค้าประเภทยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า และข้าว ส่วนสินค้าที่คาดว่าไทยจะนำเข้าจากชิลีเพิ่มขี้น ได้แก่สินแร่และหัวแร่เซอร์โคเนียม อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ และปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง นอกจากนี้ชิลียังได้ชักชวนให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในสาขาที่ชิลีมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมอาหารปลาแซลมอน ผลไม้ การผลิตไวน์ เป็นต้น

ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับชิลีเป็นความตกลงฯที่ชิลีให้ความสำคัญมาก เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและเป็นฐานการผลิตและการค้าของอาเซียนรวมทั้งไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของชิลีในบรรดาสมาชิกอาเซียนโดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี2555 ไทยส่งออกไปชิลีมีมูลค่าส่งออกไปชิลีเป็นมูลค่า 628 ล้านเหรียญสหรัฐฯและไทยนำเข้าจากชิลีมีมูลค่าประมาณ 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ นักลงทุนชิลีก็ให้ความสนใจที่จะลงทุนในไทยมากขึ้นดังจะเห็นได้จากการที่มีบริษัท Magotteaux เข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานผลิตลูกเหล็กบดและอุปกรณ์สำหรับทำเหมืองในไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สามและบริษัท Soquimich ซึ่งเป็นบริษัทผลิตปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ได้มาเปิดสำนักงานที่กรุงเทพฯนอกจากนี้ ศูนย์ทดสอบทางวิทยาศาสตร์ของชิลีก็อยู่ระหว่างการจัดตั้งธุรกิจเพื่อผลิตยาในไทยด้วย

นางจินตนา กล่าวเสริมว่าในโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายมีความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันแล้วกระทรวงพาณิชย์จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้นักธุรกิจและนักลงทุนหันมาให้ความสนใจกับตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเช่นชิลีและใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ให้มากที่สุด ทั้งนี้ หลังจากลงนามความตกลงฯ แล้ว ชิลีและไทยจำเป็นต้องดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถใช้บังคับความตกลงฯ ได้ภายในต้นปี 2557

ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลีเป็นความตกลงที่มีกรอบกว้าง (Comprehensive Agreement) ประกอบด้วยข้อบทด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ พิธีการศุลกากรกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้ามาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความโปร่งใสส่วนข้อบทการลงทุนจะมีการเจรจาภายใน 2 ปีนับจากความตกลงมีผลใช้บังคับโดยในด้านการค้าสินค้า สินค้าชิลีและไทยอย่างน้อยร้อยละ 90ของรายการสินค้าและมูลค่าการนำเข้าจะลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ สำหรับสินค้าที่เหลืออีกร้อยละ 10ของรายการสินค้าทั้งหมด ทั้งสองฝ่ายจะลดภาษีลงเป็นลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่คาดว่าไทยที่จะได้รับประโยชน์จากความตกลงฯอาทิ ยานยนต์ ปลาแปรรูป (ปลากระป๋อง) โพลิเมอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ เม็ดพลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์จากยางและอัญมณี เป็นต้นในขณะที่ชิลีจะได้ประโยชน์จากสินค้าที่ไทยมีความต้องการนำเข้า อาทิ ทองแดงสินแร่เหล็ก และเยื่อกระดาษ เป็นต้น

มูลค่าการค้าปัจจุบันชิลีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่3 ของไทยในภูมิภาคอเมริกาใต้ รองจาก บราซิล อาร์เจนตินา ในปี 2555 ไทยได้ดุลการค้ากับชิลี 278.07 ล้านเหรียญสหรัฐโดยส่งออกไปชิลีเป็นมูลค่า 628.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 21.05%) ในขณะที่นำเข้าจากชิลีเป็นมูลค่า350.18 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.1)โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปชิลี ได้แก่ รถยนต์/อุปกรณ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ปูนซีเมนต์เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง/พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากชิลี ได้แก่ สินแร่ โลหะ สัตว์น้ำสด/แช่เย็น/แช่แข็งแปรรูปเยื่อกระดาษ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ