นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ไทยมีความกังวลต่อการตัดสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรปในการนำเข้าสินค้าจากไทยโดยแจ้งอิตาลีว่าหากสินค้าไทยถูกตัดสิทธิ ไม่เพียงผู้ส่งออกไทยที่จะได้ผลกระทบแต่ผู้นำเข้าของสหภาพยุโรปเองก็ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ ไทยได้รับรายงานว่าบริษัทผู้นำเข้ากุ้งจากไทยของอิตาลี2 รายแสดงความวิตกว่าจะได้รับผลกระทบ ไทยจึงขอให้อิตาลีซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานสหภาพยุโรปช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยไทยเสนอให้แก้ไขปัญหาในระยะสั้นก่อน คือ ให้ยกเว้นการเก็บอากรกับสินค้าประมงชั่วคราวหรือกำหนดโควตาภาษี (Tariff Rate Quota: TRQ) ให้กับสินค้ากุ้งของไทยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น ในการนี้ สินค้าสำคัญของไทยที่ได้รับประโยชน์จากสิทธิ GSPจากสหภาพยุโรป ได้แก่ กุ้งสด/แช่เย็น/แช่แข็ง ยานยนต์ขนส่งกุ้งปรุงแต่ง ถุงมือยาง เลนส์แว่นตา เครื่องปรับอากาศ ยางนอกรถยนต์และสับปะรดกระป๋อง
Mr.Carlo Calenda แจ้งว่าต้องการผลักดันการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปให้สรุปผลโดยเร็วที่สุด และได้วางไทยเป็นประเทศในยุทธศาสตร์ที่อิตาลีให้ความสำคัญเพื่อขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน ในการนี้อิตาลีต้องการขยายประเภทสินค้าส่งออกมายังประเทศไทยให้มีความหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้ง แจ้งข้อกังวลของอิตาลีที่มีต่อข้อกำหนดด้านเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซรามิคและการเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มไวน์ ซึ่งเป็นสินค้าที่อิตาลีให้ความสำคัญ นายนิวัฒน์ธำรงรับทราบข้อกังวลของอิตาลี พร้อมทั้งชักชวนให้ใช้ไทยเป็นประตูทางการค้าและการลงทุนในอาเซียนเนื่องจากไทย มีโครงการลงทุนด้าน Logistics เพื่อเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคไปถึงจีนและอินเดีย การใช้ไทยเป็นฐานจะทำให้สะดวกต่อนักธุรกิจอิตาลีในการขยายตัวในภูมิภาคอาเซียนและจีนท
นอกจากนี้ ไทยมีความยินดีที่ประธานาธิบดีของอิตาลีพร้อมด้วยผู้นำภาคธุรกิจเอกชนประมาณ200 คนในสาขาแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ อาหาร และการเงิน ที่มีความสนใจทำธุรกิจกับนักธุรกิจไทยมีกำหนดการมาเยือนประเทศไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และด้านอื่นๆ ระหว่างทั้งสองประเทศ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630