พิมพ์เขียวกระทรวงพาณิชย์ รองรับการเข้าร่วม AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 14, 2014 14:24 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ในฐานะกระทรวงเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2554 ให้เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนและบูรณาการการเจรจาและการดำเนินการของไทย ในเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งมีเป้าหมายที่จะบรรลุสู่การเป็นประชาคมในปี 2558 จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักในการใช้อาเซียนเป็นฐานในการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกภายใต้โลกาภิวัตน์ที่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วรวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น โดยที่เศรษฐกิจของไทยได้เปิดรับการค้าเสรีต่อเนื่องกันมาและปัจจุบันแนวโน้มการรวมกลุ่มเศรษฐกิจและการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยสู่สากลเพื่อรองรับการค้าและการลงทุนในประเทศไทย ในภูมิภาคอาเซียน และในระดับโลกความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกด้านคือระบบห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายการผลิตการค้าและการลงทุนของโลกได้เชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้นกว่าเดิมและบริษัทต่างชาติมุ่งเน้นการสร้างประสิทธิภาพในการผลิตและการประกอบธุรกิจโดยพร้อมที่จะย้ายฐานการผลิตได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและมีปัจจัยพื้นฐานที่เอื้ออำนวยมากกว่า

ในการดำเนินการตามภารกิจสำคัญดังกล่าวนี้กระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์และจัดทำพิมพ์เขียวในการดำเนินการ(Blueprint)เพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC โดยมีเป้าหมายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนร่วมกันระหว่างหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ทั้งในส่วนกลางภูมิภาค (76 จังหวัด) และในต่างประเทศ(66 แห่งใน 44 ประเทศทุกภูมิภาคของโลก) รวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในลักษณะที่สร้างความเป็นพันธมิตรร่วมกัน (Public-Private Partnership : PPP)

ในการเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี2558 กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดพิมพ์เขียวเป็นกรอบการดำเนินการรองรับAEC ไว้ โดยมี 8 ยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1: ขับเคลื่อนการเจรจาในเวทีเศรษฐกิจของอาเซียนและเวทีเศรษฐกิจการค้าอื่น เช่น WTO APEC ตลอดจนเวทีเจรจาทวิภาคี (Joint Trade Committees) ให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ยุทธศาสตร์ที่2: พัฒนาฐานองค์ความรู้เกี่ยวกับAEC โดยกระทรวงพาณิชย์จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Learning Center) ณ กระทรวงพาณิชย์เพื่อเป็นศูนย์กลางการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ AECอย่างครบวงจร และบูรณาการแผนการจัดฝึกอบรม และสัมมนาของหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้มแข็งเพื่อพัฒนาบุคลากรทั้งในภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์ที่3: การยกระดับการให้บริการของกระทรวงพาณิชย์แก่ภาคเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า โดยการพัฒนาระบบการให้บริการของกระทรวงอย่างครบวงจรและสร้างระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบบช่องทางเดียว(Single Gateway) ตลอดจนให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาทางธุรกิจผ่านศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC Business Support Centers) รวมทั้งสิ้น 87 ศูนย์ในกระทรวงพาณิชย์ส่วนกลาง สำนักงานพาณิชย์ทุกจังหวัด และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(ในอาเซียนและจีนตอนใต้) ศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ(One Stop Export Service Center) ณ หน่วยงานสาขาของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศถนนรัชดาภิเษก และศูนย์แก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการค้า (Trade Dispute Solution Center) ณ กระทรวงพาณิชย์

ยุทธศาสตร์ที่4: การพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานรองรับเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ (TradeInfrastructure) เช่น ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าและบริการของไทยการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce และการพัฒนาห่วงโซ่ด้านโลจิสติกส์การค้า เช่น คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้าด่านศุลกากร และการปรับประสานกฎระเบียบในการขนส่งและพิธีการศุลกากร เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่5: การพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคและการค้าชายแดนรองรับ AECโดยกระทรวงพาณิชย์มุ่งเตรียมความพร้อมให้แก่จังหวัดต่างๆในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อใช้โอกาสทางธุรกิจการค้าและการลงทุน ที่เพิ่มขยายให้เต็มศักยภาพและรับมือกับการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้จังหวัดต่างๆ ของไทยก้าวไปสู่การเป็นนครแห่งอาเซียน (AEC Cities) โดยมีเป้าหมายในปี 2557-2558 ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่จังหวัดขอนแก่น เชียงราย และสงขลา นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการค้า กับประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน และมีแผนดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าณ จุดผ่านแดน ส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าแถบชายแดนและในประเทศเพื่อนบ้านและมุ่งดำเนินการให้เอกชน ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มในอนุภูมิภาคต่างๆ เช่น GMSและ ACMECS เป็นต้น อย่างเต็มที่

ยุทธศาสตร์ที่ 6: การพัฒนาและขยายเพิ่มสัดส่วนการตลาดของไทยใน AEC โดยกระตุ้นให้ภาคเอกชนไทยปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์มาให้ความสำคัญอย่างจริงจังแก่ตลาดอาเซียนและตระหนักว่าอาเซียน 10ประเทศ เป็นตลาดที่เชื่อมโยงเป็นผืนเดียวกันเสมือนกับเป็นตลาดภายในของไทย

ยุทธศาสตร์ที่7: การพัฒนากฎหมายด้านเศรษฐกิจการค้าให้ทันสมัยและสอดคล้องกับข้อผูกพันภายใต้ AEC (กระทรวงพาณิชย์มีกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลจำนวน 31 ฉบับ)

ยุทธศาสตร์ที่8 : การพัฒนาบุคลากรของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและภาคเอกชน โดยการยกระดับสถาบันกรมพระจันทบุรีนฤนาถของกระทรวงพาณิชย์เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการดำเนินการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและเอกชนสู่ความเป็นสากลและการจัดหลักสูตรอบรมพัฒนาผู้ประกอบการแบบบูรณาการให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย เช่น โครงการYoung AEC Traders โครงการ OTOP Traders และโครงการสร้างนักธุรกิจมืออาชีพเป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ