ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นความตกลงหลายฝ่าย (Plurilateral Agreement) ภายใต้ WTO ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 1996 เฉพาะกับประเทศสมาชิกWTO ที่เข้าเป็นภาคีความตกลงฯโดยสมัครใจ ทั้งนี้ ปัจจุบันความตกลง GPAมีสมาชิกจำนวน 15 ประเทศ [1] โดยประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคีในความตกลงฯ ดังกล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ความตกลงฉบับปรับปรุงฯ นี้จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีภาคีสมาชิกจำนวน2 ใน 3 ของจำนวนภาคีสมาชิก GPA ดังกล่าวให้การรับรองความตกลงฯ ซึ่งภาคีสมาชิก 10ประเทศแรกที่ให้การรับรองและต้องปฏิบัติตามความตกลงฉบับนี้นับตั้งแต่วันที่ 6เมษายนที่ผ่านมา คือ ลิกเตนสไตน์นอร์เวย์ แคนาดา จีนไทเป สหรัฐอเมริกา จีนฮ่องกง สหภาพยุโรป ไอซ์แลนด์ สิงคโปร์และอิสราเอล (เรียงตามลำดับการให้การรับรอง) และในวันที่ 16เมษายน 2557 ญี่ปุ่นจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จะต้องปฏิบัติตามความตกลงฯนี้เป็นลำดับที่ 11
ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐฉบับปรับปรุงนี้ มีเนื้อหาที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) และวิธีดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น เช่นกำหนดขอบเขตการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและหลักการทั่วไปภายใต้ความตกลงฯให้ครอบคลุมถึงวิธีจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ลดระยะเวลาในการดำเนินการจัดซื้อสินค้า/จัดจ้างบริการที่มีอยู่ในท้องตลาด ลดการฉ้อราษฎร์บังหลวงในระบบจัดซื้อจัดจ้างของภาคีสมาชิกเป็นต้น รวมทั้งการส่งเสริมการสงวนไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและการปกป้องสิ่งแวดล้อมผ่านการกำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องนอกจากนี้ ความตกลงฯ ฉบับใหม่ยังปรับปรุงแนวปฏิบัติให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เช่น การเผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับความประสงค์ในการจัดซื้อจัดจ้างการเผยแพร่กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ความตกลงฯดังกล่าว ยังได้เพิ่มเนื้อหาที่ให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นอาทิ การให้ระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการเข้าร่วมเป็นภาคี หรือการบังคับใช้หลักการและข้อบทในความตกลงฯ รวมทั้งการดำเนินการตามที่ตกลงกัน โดยความตกลงฯระบุถึงความจำเป็นในการพิจารณาระดับการพัฒนา และภาพแวดล้อมต่างๆของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเป็นพิเศษ
WTO คาดการณ์ว่า ภาคธุรกิจของภาคีสมาชิกความตกลงGPAจะได้รับประโยชน์จากโอกาสการเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของภาคีสมาชิกอื่นถึงกว่า80 - 100 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี ซึ่งเป็นการเจาะเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างในระดับกระทรวง หน่วยงานท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจทั้งการจัดซื้อสินค้า และการจัดจ้างบริการด้านต่างๆ ที่มีขอบเขตขยายมากขึ้น
ปัจจุบันกระแสการต่อต้านการคอรัปชั่นในวงการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของหน่วยงานต่างๆ ของไทยมีอย่างกว้างขวาง ความตกลง GPA ภายใต้ WTO จึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดปัญหาคอรัปชั่นด้านนี้ลงได้เนื่องด้วย ข้อบท GPA จะก่อให้ประโยชน์ด้านความโปร่งใสตั้งแต่ การออกประกาศโครงการ การกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมประกวดราคา ตลอดจนผลการตัดสินให้ผู้เข้าร่วมชนะการประกวดราคา นอกจากนี้ การเจรจา FTA ในปัจจุบันประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเจรจาเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นภาคีสมาชิก GPA ซึ่งมักจะใช้ความตกลง GPA ฉบับปรับปรุงฯเป็นฐานในการเจรจา และผลักดันให้ประเทศคู่เจรจายอมรับหลักการภายใต้ GPA มาปฏิบัติใช้ในความตกลง FTA ระหว่างกันด้วย
นายสมเกียรติ กล่าวเสริมว่าการเจรจาการค้าเสรีสองฝ่ายที่ประเทศต่างๆอยู่ระหว่างการเจรจากับไทย โดยเฉพาะ การเจรจาความตกลงฉบับใหม่ๆ อาทิการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รวมทั้งการเจรจาที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคต เช่น การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าแห่งยุโรป(EFTA) และ Trans-Pacific Partnership Agreement (TPP) เป็นต้นล้วนให้ความสำคัญกับโอกาสการเข้าสู่ตลาดและความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐทั้งสิ้นการเตรียมตัวเพื่อรองรับการเจรจา FTA ในเรื่องนี้จึงสำคัญและจำเป็นสำหรับไทยอย่างยิ่ง
การก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ของความตกลง GPAฉบับแก้ไขนี้ จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถรับทราบข้อเท็จจริงของการดำเนินการตามความตกลงโดยตรงและใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของไทยรวมถึงเป็นพื้นฐานการสร้างความร่วมมือด้านดังกล่าวในเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ การเข้าเป็นสมาชิกสังเกตการณ์จะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถศึกษาในเชิงลึกถึงข้อดี ข้อเสียและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากเข้าร่วมเป็นสมาชิก GPA
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630