GCC ตลาดใหม่ที่ไทยไม่ควรมองข้าม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 23, 2014 14:01 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กลุ่มประเทศ GCC เป็นตลาดหนึ่งที่หลายประเทศให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และในขณะเดียวกัน GCC ก็สนใจที่จะขยายการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียที่มีเศรษฐกิจเติบโตแซงหน้าสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา1 ทว่าการเจรจาการค้ากับ GCC ที่ผ่านมาใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถเจรจาการค้ากับ GCC ได้สำเร็จ ซึ่งมีเพียงสิงคโปร์ที่สามารถสรุปผลการเจรจา FTA กับ GCC ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี นอกจากนี้ มาเลเซียยังเป็นประเทศที่น่าติดตามอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ได้มีการลงนามกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจการค้าฯไปแล้ว และมีเป้าหมายที่จะจัดทำFTA กับ GCC ต่อไปในอนาคต

นับตั้งแต่กลุ่มประเทศ GCC (Gulf Cooperation Council) อันประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 6 ประเทศ คือซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน บาห์เรน และคูเวต ได้ยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเป็นสหภาพศุลกากรเมื่อปี 2546 GCC ได้เดินหน้าเจรจาการค้ากับประเทศนอกกลุ่มมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสทางการค้ากับประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแตกต่างจากประเทศสมาชิกภายในกลุ่ม ที่มีการส่งออกน้ำมันดิบเป็นหลัก โดยGCC ได้เจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศในภูมิภาคเอเชีย สำหรับการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2533 (รวมเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี) แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยราบรื่นนัก เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังมีประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้อยู่หลายประเด็น เช่น เสรีนิยม (Political openness) สิทธิมนุษยชน(Human rights) และการปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental protection) อีกทั้ง 2 ฝ่ายยังมีประเด็นปัญหาทางการค้าระหว่างกัน นั่นคือ GCC ได้ให้การอุดหนุนสินค้าอะลูมิเนียมและปิโตรเคมีที่จะส่งออกมายังสหภาพยุโรป และในทางกลับกัน GCC ก็ไม่พอใจที่สหภาพยุโรปเก็บภาษีสูงกับสินค้าทั้ง 2 รายการนี้ จึงทำให้ GCC กับสหภาพยุโรปยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้จนถึงปัจจุบัน สำหรับสหรัฐอเมริกาได้จัดทำ FTA แบบทวิภาคีกับประเทศบาห์เรน(2549) และโอมาน (2552)

เนื่องจากการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป เป็นไปค่อนข้างช้า GCC จึงหันมาให้ความสนใจกับตลาดเอเชียเพื่อแสวงหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยประเทศที่ GCC สนใจจัดทำ FTA ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดียปากีสถาน จอร์แดน ตุรกี อิหร่าน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการเจรจามีเพียงสิงคโปร์ที่สามารถจัดทำ FTA กับ GCC ได้สำเร็จ และยังเป็นประเทศแรกในอาเซียนอีกด้วย

สิงคโปร์ได้เริ่มต้นเจรจา FTA กับ GCC ในปี 2549 สามารถลงนาม FTA ได้ในปี 2551 และมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยซาอุดิอาระเบียให้สัตยาบันในการบังคับใช้ความตกลงเป็นประเทศสุดท้าย ภายใต้ FTA GCC - สิงคโปร์ ครอบคลุมประเด็น การเปิดตลาดการค้าสินค้า โดย GCC ได้เปิดตลาดสินค้าให้กับสิงคโปร์ถึงร้อยละ 99 ของรายการสินค้าทั้งหมด และทั้ง 2 ฝ่ายยังได้เจรจาเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนอีกด้วย นอกจากนี้ ประโยชน์ที่สิงคโปร์จะได้รับอีกประการหนึ่ง คือ สินค้าฮาลาลของสิงคโปร์จะสามารถเข้าถึงตลาด GCC ได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก FTA GCC - สิงคโปร์ได้ยอมรับการรับรองตราฮาลาลของหน่วยงานSingapore’s Majilis Ugama Islam Singapura (MUIS) ที่จะส่งออกไปยัง GCC สำหรับด้านการค้าบริการ สิงคโปร์ได้ให้สิทธิพิเศษกับบริการด้านวิชาชีพ เช่น บริการทางกฎหมาย บัญชี และวิศวกรรม และธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง และค้าปลีก เป็นต้น และเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา สิงคโปร์กับ GCC ยังมีความคืบหน้าการลงนาม MOU การแลกเปลี่ยนความรู้ในสาขาพลังงานระหว่างภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการพัฒนาสาขาพลังงานของสิงคโปร์สูงขึ้น

มาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งในอาเซียน ที่มีความร่วมมือทางการค้ากับ GCC โดยได้ลงนามกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเทคนิคในปี 2554 ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรอบความตกลงฯ มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รวมถึงเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่าย และมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การเจรจาจัดทำ FTA ในอนาคตซึ่งจะต้องติดตามว่าการเจรจา FTA ระหว่าง GCC กับมาเลเซียจะประสบความสำเร็จได้โดยเร็วเหมือนสิงคโปร์หรือไม่เพราะมาเลเซียกับ GCC ต่างมีความใกล้ชิดทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นตัวช่วยเกื้อหนุนให้มีการเจรจาที่ง่ายขึ้นก็เป็นไปได้

การที่สิงคโปร์และมาเลเซียต่างมีความร่วมมือทางการค้ากับ GCC ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมาเลเซียสามารถจัดทำ FTA กับ GCC ได้เป็นผลสำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่ไทยและมาเลเซียเป็นคู่แข่งกัน เช่น เครื่องจักรกล รัตนชาติและโลหะมีค่า เครื่องจักรไฟฟ้า ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นต้น เนื่องจากสินค้าดังกล่าวต่างเป็นสินค้า Top ten ของไทยและมาเลเซียที่ส่งออกไปยังGCC นอกจากนี้ สินค้าฮาลาลเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่น่าจับตามองที่คาดว่าจะมีการแข่งขันสูงขึ้น เพราะทั้งมาเลเซียและไทยต่างชิงแชมป์การเป็น Hub ฮาลาลโลก แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลรายใหญ่ของโลก แต่มาเลเซียได้เปรียบด้านภาพลักษณ์ความเป็นมุสลิมเหมือนกัน สินค้าฮาลาลของมาเลเซียจึงเป็นที่น่าเชื่อถือสำหรับกลุ่ม GCCดังนั้นสิ่งสำคัญที่ไทยจะสามารถแข่งขันในการเป็น Hub ฮาลาลโลกได้นั้น คือ ไทยต้องพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านต้นทุนโดยใช้ความได้เปรียบของวัตถุดิบให้เป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่การผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าแต่มีคุณภาพทัดเทียมกัน และการสร้างภาพลักษณ์ของตรารับรองสินค้าฮาลาลที่ออกโดยประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับแก่กลุ่ม GCC

GCC เป็นตลาดหนึ่งที่มีศักยภาพและไทยไม่ควรมองข้ามในการเข้าไปขยายตลาดสินค้า เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง อีกทั้งยังเป็นตลาดส่งออกหลักลำดับที่ 9 ของไทยอีกด้วย โดยในปี 2556 การส่งออกของไทยไปยัง GCCมีมูลค่า 7,704,043 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น การที่สิงคโปร์และมาเลเซียประสบความสำเร็จในการร่วมมือทางการค้ากับ GCC ก่อนไทยนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า ไทยจะเสียเปรียบความสามารถทางการแข่งขันในตลาด GCC หรือไม่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ไทยพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดิอาระเบีย ไทยอาจหันไปใช้แนวทางขยายความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นรายประเทศ ด้วยกิจกรรมส่งเสริมทางการค้ารูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า 2 ฝ่าย และเปิดโอกาสให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในตลาด GCC มากขึ้น อาทิ การจัดงานแสดงสินค้าร่วมกัน การจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น

สำหรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐไทยยังได้มี MOU ความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านอาหาร การค้า และการลงทุนในผลิตภัณฑ์และโภคภัณฑ์การเกษตรกับบาห์เรน ที่จะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฮาลาลไปยังบาห์เรน รวมถึงกระจายสินค้าไปยังประเทศข้างเคียงของบาห์เรน (เช่นซาอุดิอาระเบีย กาตาร์) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ในระดับเวทีอาเซียนได้มีสถานะคืบหน้าล่าสุดจากการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-GCC ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมาว่า ไทยได้ผลักดันให้อาเซียนและ GCC เพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและฮาลาล ซึ่งไทยหวังว่าจะได้เห็นความคืบหน้าของการทำงานระหว่างอาเซียนกับ GCC อันจะส่งผลดีต่อความร่วมมือทางการค้าของอาเซียน รวมทั้งไทยด้วยเช่นกัน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ