ตลาดทุนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นการเพิ่มโอกาสทางเลือกในการลงทุน และการกระจายความเสี่ยงแก่ผู้ลงทุนทั้งภาคประชาชนและธุรกิจ ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในอาเซียนต่างตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการตลาดทุนในประเทศ รวมถึงร่วมมือกันเพื่อพัฒนานโยบายและกฎเกณฑ์ เพื่อใช้สนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการลงทุน ส่งผลให้การพัฒนาและเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
สำหรับโอกาสของการเติบโตของตลาดทุนในอาเซียน ผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศต่างตระหนักถึงประโยชน์ และโอกาสของการเชื่อมโยงตลาดทุนของประเทศตนในภูมิภาค ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนแก่ผู้ลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่า รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพแก่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
ปัจจุบันภายใต้การดำเนินงานของ "The ASEAN Capital Markets Forum (ACMF)[๑]" ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนอาเซียน 10 ประเทศ ผู้นำประเทศอาเซียนมีความเห็นพ้องร่วมกันในการร่างยุทธศาสตร์เพื่อการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน โดยมีเป้าหมายดำเนินการภายในปี 2558 และ 2563 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ความท้าทายที่สำคัญในการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ได้แก่ การปรับโครงสร้างสกุลเงิน การจัดสรรระบบเงินทุน และการปรับนโยบายภาษีภาครัฐ เพื่อประสานนโยบายในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างๆ ยังต้องพัฒนามาตรฐานการดำเนินการเพื่อความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงตลาดทุนอาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกประเทศที่เข้าร่วม แต่ในทางกลับกันจะส่งผลกระทบด้านบวกในระยะยาวและครอบคลุมในวงที่กว้างกว่า ซึ่งการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน และการสนับสนุนจากทางภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ มีความชัดเจนและโปร่งใสในการดำเนินการ และปรับปรุงกฎเกณฑ์ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาฐานการลงทุนในประเทศให้เข้มแข็งเพื่อรองรับการแข่งขันในระดับภูมิภาค
ปัจจัยสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อเชื่อมโยงตลาดทุนของอาเซียน ได้แก่ 1) การพัฒนาฐานตลาดทุนในประเทศให้เข้มแข็ง และ 2) พัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคใน การปรับกฎเกณฑ์ให้มีความสอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อการเปิดเสรีในอนาคต
- สถานะปัจจุบันของตลาดทุนอาเซียน
ประเทศต่างๆ ในอาเซียนยังมีระดับการพัฒนาตลาดทุนที่แตกต่างกันมาก เนื่องจากความแตกต่างทางโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบสกุลเงิน กฎระเบียบภายในประเทศ และระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศทั้งนี้ การพัฒนาตลาดทุนอาเซียน ทั้งตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้
1. กลุ่มตลาดพัฒนาแล้วชั้นนำ: สิงคโปร์ถือเป็นประเทศผู้นำด้านตลาดเงินและตลาดทุนในอาเซียนและเอเชีย ซึ่งประกอบด้วยผู้ลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย มีการแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างเสรี มีระบบการจัดการภาษี และโครงสร้างทางการเงินที่มีความพร้อม รวมถึงมีระบบจัดการสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาประเทศ
2. กลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว: มาเลเซียและไทยมีตลาดทุนที่ประกอบด้วยปัจจัยที่มีความพร้อม ทั้งบริษัททุนจดทะเบียนและนักลงทุนที่หลากหลาย ทั้งนี้ มาเลเซียถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตของตลาดตราสารอนุพันธ์อย่างรวดเร็ว ขณะที่กิจกรรมในตลาดตราสารหนี้ยังไม่เติบโตมากนัก ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าแม้ตลาดทุนของไทยและมาเลเซียจะมีความพร้อมในหลายๆด้าน แต่ยังมีข้อจำกัดด้านปริมาณนักลงทุน และเงินทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะในประเทศไทย
3) กลุ่มตลาดพัฒนาระดับรอง: ตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารอนุพันธ์ (Equity and Fixed Income Market) ของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีระดับการพัฒนาตลาดทุนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่บริษัทส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ส่งผลให้ตลาดขาดแรงดึงดูดในการลงทุน และยังขาดความพร้อมสำหรับการแข่งขันในระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ข้อดีของตลาดเกิดใหม่ อาทิ นโยบายที่ผ่อนปรนแก่นักลงทุนต่างชาติ
4) กลุ่มตลาดเกิดใหม่: ระดับการพัฒนาตลาดทุนของ บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยระบบซื้อขายหลักทรัพย์และขนาดบริษัทเงินทุนมีขนาดเล็ก โดยเฉพาะบรูไนที่ยังมีนโยบายไม่เปิดตลาดการลงทุนแก่ต่างชาติ
- ประเภทตราสารในตลาดทุนอาเซียน กลุ่มประเทศอาเซียนมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยมีการพัฒนาระบบและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการลงทุนภายในภูมิภาค ทั้งนี้ ตลาดทุนในอาเซียนแต่ละแห่งประกอบด้วยตราสารหลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของตลาดทุน ปัจจุบันตราสารในตลาดทุนในอาเซียน ได้แก่
1) ตราสารแห่งทุน (Equities) ปี2555 ตลาดตราสารแห่งทุนของอาเซียนมีมูลค่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดระดมทุนที่มีขนาดใหญ่ลำดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
2) ตราสารอนุพันธ์ (Fixed Income) ตลาดตราสารอนุพันธ์เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันตลาดตราสารอนุพันธ์อาเซียนถือเป็นตลาดบริหารความเสี่ยงที่มีขนาดตลาดใหญ่ลำดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจาก ญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้
3) ตราสารหนี้ (OTC Derivative) ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้เพื่อใช้ระดมทุนของอาเซียนยังอยู่ในระดับเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการเติบโตเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 3 ทศวรรษ โดยเฉพาะในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทย โดยคาดว่าจะมีมีแนวโน้มของการเติบโตที่ดีในอนาคต
- นักลงทุนในตลาดอาเซียน ในทศวรรษที่ผ่านมาปริมาณนักลงทุนในตลาดทุนอาเซียนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1) บริษัทจดทะเบียน (Issuers) การขยายตัวของตลาดทุนอาเซียนส่งผลให้มีปริมาณบริษัทจดทะเบียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เข้มข้นในอินโดนีเซียและมาเลเซีย และการเพิ่มแรงจูงใจโดยเพิ่มผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ในตลาดตราสารอนุพันธ์ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
2) บริษัทผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (Intermediaries) การพัฒนาตลาดทุนในอาเซียน แม้จะอยู่ในขั้นเริ่มต้นแต่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนได้พัฒนาการจัดตั้งการดำเนินงานณ จุดเดียว "ASEAN Single Point of Access" เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนต่างๆ อาทิ CIMB, DBS Vickers, Hong Leong และ Maybank/Kim Eng
3) นักลงทุน/ผู้ลงทุนสถาบัน (Investors) อาเซียนถือเป็นตลาดอันดับ 3 ของเอเชีย ที่มีสภาพคล่องของเงินทุนหมุนเวียนในตลาดรองจากจีนและญี่ปุ่น นับเป็นศูนย์กลางตลาดทุนแห่งใหม่ของภูมิภาค โดยปัจจุบันมีการจัดตั้งสถาบันลงทุนใหม่ๆ อาทิ บริษัทกองทุนประกันภัย (Formalized Insurance) และบริษัทกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension Sectors) ในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนทั้งในตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 525 ในทศวรรษที่ผ่านมา
- ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ (Infrastructure) การเชื่อมโยงระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ของอาเซียนยังไม่สามารถเทียบเคียงภูมิภาคยุโรปและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้นำของแต่ละประเทศในอาเซียนมีนโยบายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาระบบซื้อขายหลักทรัพย์ในภูมิภาค ดังนี้
1) การรวมกลุ่ม (Integration) ส่งเสริมการแข่งขันระดมทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัทหลักทรัพย์ในภูมิภาค ส่งผลให้ปัจจุบันมีการรวมกิจการในหลายบริษัท อาทิ การควบกิจการของบริษัท Jakarta และ Surabaya Stock Exchange, และบริษัท Hanoi and HoChi และ Philippines equity และ debt exchanges เป็นต้น
2) การพัฒนาสถาบันลงทุน (Operation) ส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะในมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เพื่อสร้างโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ
3) การเชื่อมโยงตลาดทุน (ASEAN Trading Link) การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ซึ่งในปี 2555 มีการเชื่อมโยงตลาดทุนในมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยแล้ว และคาดว่าจะขยายไปยังตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนามในอนาคต
4) การพัฒนาระบบซื้อขายหลักทรัพย์ (New Infrastructure) ส่งเสริมการพัฒนาระบบซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในตลาดทุนสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าพัฒนาล้ำหน้าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคค่อนข้างมาก โดยสิงคโปร์ได้พัฒนาและทดลองระบบตราสารหนี้ใหม่ๆ อาทิ OTC CCP (AsiaClear) และ Chi-East เป็นต้น
- ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาตลาดทุนในตลาดเกิดใหม่นั้น ปัจจุบันกัมพูชาและลาว ได้จัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติแล้วในปี 2553 รวมถึง พม่าและบรูไน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งตลาดทุน
- นโยบายสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนอาเซียนที่สำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงกฎเกณฑ์ภายในประเทศไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน การพัฒนามาตรฐานกำกับดูแลสู่ระดับสากล รวมถึงการพัฒนาใช้กฎเกณฑ์อย่างเดียวกันหรือสอดคล้องกัน (Cross-Border-Harmonization) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนและส่งเสริมการเปิดเสรีของตลาดทุนอาเซียนต่อไป
- แผนยุทธศาสตร์เพื่อการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน
ทศวรรษที่ผ่านมา พัฒนาการของตลาดทุนอาเซียนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และมีกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ได้มาตรฐานสากล โดยแต่ละประเทศมีแผนยุทธศาสตร์เพื่อการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนากฎเกณฑ์ให้มีมาตรฐานสากลและส่งเสริมระบบยอมรับซึ่งกันและกัน โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าการดำเนินการในหลายเรื่อง รวมถึงการส่งเสริมตลาดทุนภายนอกภูมิภาคด้วย
ปัจจุบันแผนยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ภายในปี 2558 ซึ่งได้แก่การรวมตัวกันเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุนอย่างเสรี ประกอบด้วยการส่งเสริมช่องทางการเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนมากขึ้น การเชื่อมโยงกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลตลาดทุน และสร้างระบบการยอมรับซึ่งกันและกัน รวมถึงการสร้างความน่าเชื่อถือในสินค้าตลาดทุนอาเซียน อาทิ ความสามารถในการรักษาสภาพคล่องของตลาด ทั้งนี้ ความคืบหน้าการดำเนินการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยมาเลเซีย สิงคโปร์และไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีการพัฒนาด้านตลาดทุนมากได้มีการพัฒนาความร่วมมือเพื่อยอมรับมาตรฐานกฎกติการะหว่างกันและประกาศใช้ ASEAN Standard แล้ว ส่งผลให้การลงทุนของทั้ง 3 ประเทศเป็นไปอย่างสะดวกและเสรีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นความท้าทายซึ่งไม่อาจมองข้าม แม้ทั้ง 3 ประเทศจะมีนโยบายยอมรับมาตรฐานร่วมกันแล้ว แต่ในความเป็นจริงระบบกฎหมายและเกณฑ์กำกับดูแลของแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกันอยู่สูง ซึ่งยังไม่สามารถครอบคลุมความร่วมมือทุกด้านได้ รวมถึงประเด็นความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนของแต่ละประเทศ ซึ่งส่งผลให้การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนอาจเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน
- โอกาสในการเติบโตของตลาด
1) การเติบโตของตลาดตราสารอนุพันธ์ (ASEAN Fixed Income Market) เติบโตอย่างรวดเร็วโดยมูลค่าของตลาดตราสารอนุพันธ์ในมาเลเซียและสิงคโปร์จัดอยู่ในระดับเดียวกับตลาดพัฒนาแล้วของโลก อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนผู้ลงทุนยังมีจำนวนไม่มากหากเปรียบเทียบกับตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
2) ฐานนักลงทุน นักลงทุนในอาเซียนยังมีจำนวนจำกัดและยังมีโอกาสในการเติบโตสูง โดยปัจจุบัน ผู้ลงทุนในตลาดตราสารทุนของสิงคโปร์ มีจำนวนเพียงร้อยละ 9 ขณะที่ฮ่องกงร้อยละ 35 และออสเตรเลียร้อยละ 17 ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินหมุนเวียนในภูมิภาคยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 20 นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญ คือตลาดอาเซียนยังมีนโยบายปกป้องตลาดภายในสูง ซึ่งเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3) การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน แม้อาเซียนจะมีนโยบายพัฒนาการเชื่อมโยงตลาดทุนภายในภูมิภาค แต่ปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนจริงภายในภูมิภาคมีเพียงร้อยละ 5 โดยร้อยละ 40 ของมูลค่าการลงทุนเป็นการลงทุนตามแนวชายแดนของการลงทุนในมาเลเซียและอินโดนีเซียเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น ทั้งนี้ เห็นว่าทางการจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาความแตกต่างใน ระบบกฎหมาย สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน ให้ความรู้ด้านวิชาการและแนวปฏิบัติที่ดีแก่บุคลากรในธุรกิจตลาดทุน และพัฒนาระดับของตลาดทุนในประเทศให้เข้มแข็ง ซึ่งหากอาเซียนสามารถดำเนินการตามแนวทางนี้ได้ ก็น่าจะมีโอกาสเห็นความคืบหน้าของการเชื่อมโยงตลาดทุนตามเป้าหมายที่วางไว้
- การประชุม Network ASEAN Forum: Post-Roundtable Considerations on Capital Markets
การประชุมเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านตลาดทุนอาเซียนครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2556 ประกอบด้วยผู้เข้าประชุมจากหน่วยงานและองค์กรเกี่ยวกับบริษัทลงทุนและกำกับดูแลตลาดทุน ผลของการประชุมสรุปได้ดังนี้
1) สนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือในการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ลงทุนต่างชาติ
2) ประเด็นความท้าทายของการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ได้แก่ ความซับซ้อนของกฎระเบียบ และระบบภาษี รวมถึงมาตรการความโปร่งใส
3) ปัญหาการเมืองภายในของหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งจะส่งผลกระทบให้การดำเนินการต้องล่าช้าออกไปกว่าแผนยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งเห็นว่าการพัฒนาความเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาคจะสำเร็จได้อยู่ที่การมีกรอบแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน โดยควรระบุเป้าหมายเร่งด่วนที่เห็นว่าสามารถดำเนินการได้และให้ดำเนินการก่อน ตลอดจนควรมีนโยบายที่ชัดเจนว่าทางการจะผลักดันการเชื่อมโยงตลาดทุนให้สำเร็จตามเป้าหมาย
- ข้อเสนอแนะเพื่อการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน
1) ระบุผลประโยชน์อย่างชัดเจน ผู้กำหนดนโยบายควรระบุผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน จากการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งถือเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของภูมิภาค อาทิ ประโยชน์จากความร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนที่จะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ลงทุนต่างชาติได้มากกว่าการดำเนินการของประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมถึงผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนและกระจายความเสี่ยงในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการจะสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการประกอบธุรกิจในหลายประเทศและขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น เป็นต้น
2) เพิ่มความโปร่งใส ผู้กำหนดนโยบายควรระบุผลกระทบจากการเชื่อมโยงตลาดทุนอย่างชัดเจน อาทิ นโยบายภาครัฐของแต่ละประเทศต่อการเปิดเสรีตลาดทุนในบางสาขาที่เป็นสาขาอ่อนไหว ทั้งนี้ เพื่อสามารถร่างแผนยุทธศาสตร์การดำเนินการได้อย่างถูกต้องและชัดเจนจากการวิเคราะห์ผลกระทบด้านบวกและลบในภาคต่างๆ โดยเห็นว่าทางการควรจัดประชุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคของภาคธุรกิจ และร่วมมือกันหาทางออกที่เหมาะสม โดยควรมีการประเมินผลกระทบอย่างครอบคลุมทุกสาขา และควรดำเนินการตรวจสอบผลกระทบอย่างสม่ำเสมอ
3) ระบุเป้าหมายเร่งด่วน ผู้กำหนดนโยบายควรร่างเป้าหมายระยะสั้นที่สามารถดำเนินการได้ง่ายและรวดเร็ว และกำหนดกรอบเวลาดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจน อาทิ การปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับหน่วยงานกำกับดูแลและการลงทุนของแต่ละประเทศ จัดรูปแบบการเปิดเผยข้อมูลกลางของอาเซียนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนและจัดเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันสำหรับระบบการเก็บภาษี ณ จุดเดียว รวมถึงให้ความรู้ด้านวิชาการและแนวทางปฏิบัติที่ดีแก่บุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาในระยะยาว
ส่วนสาขาธุรกิจบริการ
สำนักการค้าบริการและการลงทุน
26 พฤษภาคม 2557
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630