สิงคโปร์ : ผู้นำด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 24, 2014 15:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

หลายคนคงมีความสงสัยว่าเพราะเหตุใดสิงคโปร์จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศผู้นำด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ แม้ว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ซึ่งมีประชากรเพียงประมาณ 5 ล้านคน ทั้งยังมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ

ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการมีบทบาทนำของสิงคโปร์ในเศรษฐกิจโลก คือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด ซึ่งใช้ตลาดนำ โดยเป้าหมายหลักของนโยบายการค้าของสิงคโปร์ คือ การขยายฐานทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจของคนสิงคโปร์ในตลาดต่างประเทศ การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการค้าที่เป็นธรรมและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ และการลดข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความโปร่งใสของกฎระเบียบและการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น โดยในปี 2556 สิงคโปร์ถูกจัดอันดับโดยองค์กรด้านความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International: TI) ให้เป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นน้อยที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก จาก 176 ประเทศ รองจากเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ และสวีเดน และเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ซึ่งมีลักษณะเด่นในเรื่องการมีระบบกฎหมายที่เหมาะสม ความสม่ำเสมอในการดำเนินงานตามกฎหมาย และการเข้าถึงข้อมูลและหน่วยงานภาครัฐที่มีความน่าเชื่อถือ ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสรีด้านการค้าและการลงทุน ทั้งยังมีความง่ายในการทำธุรกิจมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ยังถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีช่องว่างของรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก จาก 42 ประเทศที่มีการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์สูง (ตามดัชนีของ UNDP ในปี 2553) ทั้งยังกำลังเผชิญกับความท้าทายของการเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ

ด้านการค้าสินค้า สิงคโปร์สนับสนุนระบบการค้าเสรี โดยได้มีการลงนามและอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค รวม 18 ฉบับ ครอบคลุมประเทศสมาชิก 24 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้นโยบายการค้าเสรีของสิงคโปร์ ปัจจุบันสิงคโปร์มีภาษีนำเข้าสินค้าเกือบทุกรายการเป็นร้อยละ 0 (ยกเว้น 6 รายการ เช่น เบียร์ และเครื่องดื่มแอกอฮอล์) แม้ว่ายังมีการห้ามนำเข้าสินค้าบางรายการด้วยเหตุผลส่วนใหญ่ด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับข้อผูกพันระหว่างประเทศของสิงคโปร์ เช่น หมากฝรั่ง และรถยนต์ใช้แล้วนานกว่า 3 ปี สำหรับการนำเข้าข้าว สิงคโปร์มีการบริหารจัดการการนำเข้าผ่านการดำเนินยุทธศาสตร์การสำรองข้าวเพื่อตอบสนองความมั่นคงด้านอาหาร โดยมีการใช้มาตรการขอใบอนุญาตนำเข้าจาก International Enterprise Singapore (IE Singapore) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้มีปริมาณข้าวสำรองในปริมาณเทียบเท่ากับ 2 เดือนของการนำเข้า

ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า สิงคโปร์ได้นำระบบ Single Window มาใช้ในพิธีการศุลกากรซึ่งช่วยให้ผู้ทำการค้าสามารถยื่นเอกสารการนำเข้า-ส่งออก ณ จุดเดียว ผ่านทางเว็บไซต์ โดยเป็นระบบที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ทำให้ผู้ทำการค้าสามารถผ่านพิธีการศุลกากรได้ภายในเวลาประมาณ 10 นาที

ด้านการลงทุน สิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีเงินลงทุนขาออกสุทธิ คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 20.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในช่วงปี 2550-2554 ขณะเดียวกัน ยังเป็นประเทศผู้รับการลงทุนที่สำคัญของโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2550 มีเงินลงทุนไหลเข้าประเทศเฉลี่ยปีละเกือบ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากสิงคโปร์มีข้อจำกัดด้านการลงทุนน้อยมาก แม้ว่ายังคงมีอยู่ในบางสาขา เช่น สื่อสารมวลชน บริการด้านกฎหมาย และธนาคารพาณิชย์ ในแง่สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน สิงคโปร์ให้สิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษีแก่นักลงทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการออกไปลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศเพื่อขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ ส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาและการฝึกอบรม และเสริมสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรจากภายนอก ขณะเดียวกัน ยังให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคและระดับโลกในสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพื่อเสริมสร้างให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านบริการ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนของสิงคโปร์มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้ความเชี่ยวชาญและความรู้เข้มข้น อาทิ การจัดโครงการฝึกอบรมบุคลากรท้องถิ่นให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมตามความต้องการของงาน

ด้านบริการ ถือเป็นสาขาที่มีความสำคัญที่สุดของสิงคโปร์ โดยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมากกว่า 2 ใน 3 และมีการจ้างงานประมาณร้อยละ 70 ของแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้ ในช่วงปี 2550-2554 สาขาบริการที่มีอัตราการขยายตัวสูง คือ การเงินและการประกันภัย บริการธุรกิจ บริการด้านที่พักและอาหาร การค้าส่งและปลีก การขนส่งและโกดัง ขณะที่สาขาที่มีความเข้มแข็ง คือ การเงินและธนาคาร โดยมีจุดแข็งด้านความยืดหยุ่นต่อวิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งส่งผลให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การมีมาตรฐานด้านกฎระเบียบสูง รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ และการมีบุคลากรทางด้านการเงินที่มีศักยภาพ

นอกจากนี้ สาขาโทรคมนาคมยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านโทรคมนาคมที่ก้าวหน้าและมีผลต่อการพัฒนาประเทศและขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับ 2 ของโลก จาก 144 ประเทศ รองจากฟินแลนด์ ตามการจัดอันดับของ World Economic Forum ในปี 2556 (ตามดัชนี Networked Readiness Index: NRI) ทั้งนี้ ในปี 2548 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ริเริ่มแผนแม่บทการพัฒนาสาขาโทรคมนาคมในช่วงเวลา 10 ปี (a Ten-year Master Plan Intelligent Nation) หรือที่เรียกว่า "iN2015 Vision" โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในภาพรวม

สำหรับสาขาบริการขนส่งทางน้ำ ยังคงเป็นสาขาที่มีความสำคัญของสิงคโปร์ ด้วยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะ ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ยังไม่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายและกฎระเบียบในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในสาขานี้ รวมถึงไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการมีลูกเรือที่เป็นคนชาติสิงคโปร์สำหรับลูกเรือที่ทำงานบนเรือจดทะเบียนในสิงคโปร์ นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทขนส่งทางเรือในรูปแบบต่างๆ ทำให้ปัจจุบันสิงคโปร์มีบริษัทที่ให้บริการขนส่งทางน้ำมากกว่า 5,000 แห่ง ครอบคลุมกลุ่มผู้ขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศมากกว่า 120 กลุ่ม โดยท่าเรือสิงคโปร์ถูกจัดให้เป็นท่าเรือที่มีสายการเดินเรือเข้าเทียบท่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ด้านบริการขนส่งทางอากาศ สิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรี (Open skies policy) ในระดับทวิภาคีและภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์ได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้แก่สายการบินทั่วโลก โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปฏิรูปโครงสร้างองค์กรที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมการบิน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมการขนส่งทางอากาศที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

บทวิเคราะห์ เมื่อพิจารณาศักยภาพของสิงคโปร์ในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้สิงคโปร์มีบทบาทนำในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ แม้ว่าสิงคโปร์ยังมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทำให้ไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมในบางสาขา เช่น ภาคการผลิตและการเกษตร แต่ด้วยความเข้มแข็งด้านทรัพยากรมนุษย์และด้านองค์กรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ รวมถึงในด้านความโปร่งใสของกฎระเบียบ ทำให้สิงคโปร์มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นของโลก ไทยในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของสิงคโปร์ ทั้งยังมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสิงคโปร์ ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน จึงควรใช้โอกาสในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านต่างๆ จากสิงคโปร์ ผ่านกรอบความร่วมมือดังกล่าว ขณะเดียวกัน ไทยยังสามารถร่วมมือกับสิงคโปร์ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทั้งสองประเทศต่างมีจุดแข็งที่เกื้อหนุนกัน เช่น ด้านปศุสัตว์ ซึ่งไทยมีความพร้อมด้านทรัพยากร อาทิ พ่อและแม่พันธุ์สัตว์ รวมถึงพื้นที่สำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่สิงคโปร์มีความก้าวหน้าด้านการตรวจสอบการปลอดโรคสัตว์ปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease : FMD) รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำ เช่น เรือสำราญ เป็นต้น นอกจากนี้ จากความได้เปรียบของสิงคโปร์ในการเป็นผู้ค้าที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงกับตลาดระหว่างประเทศ ไทยควรแสวงหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับสิงคโปร์ เพื่อให้เป็นประตูการค้าในการกระจายสินค้าไทยไปยังตลาดทั่วโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ