นโยบายการลงทุนจากต่างชาติของเมียนมาร์ภายหลังการปฏิรูปประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 24, 2014 14:59 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่เมียนมาร์ได้ริเริ่มการปฏิรูประเทศ ในปี 2553 โดยรัฐบาลชุดใหม่ที่มิใช่รัฐบาลทหาร มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ซึ่งถือเป็นการปูทางให้ เมียนมาร์สามารถรวมตัวเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้อีกครั้งหลังจากที่ได้ปิดประเทศ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงสมัยการปกครองของรัฐบาลทหาร (ในช่วงปี 2491-2553) ซึ่งยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ ทั้งยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกของเมียนมาร์ในสายตาชาวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

การปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญและนำไปสู่การเปิดประเทศเมียนมาร์ต่อประชาคมโลก คือ การทบทวนปรับปรุงกฎหมายการลงทุนฉบับเดิมให้มีความทันสมัยและสอดรับกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ทั้งยังสอดคล้องกับแผนงานภายใต้กรอบการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและสังคม (Framework for Economic and Social Reform : FESR) ซึ่งเป็นแผนงานในช่วง 3 ปี (ปี 2556-2558) โดยการปฏิรูปประเทศของเมียนมาร์ ในด้านการลงทุน เมื่อปี 2555 เมียนมาร์ได้มีการออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ (Foreign Investment Law : FIL) มาใช้แทนกฎหมายฉบับเดิม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติในเมียนมาร์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างการจ้างงานภายในประเทศ อันนำไปสู่การลดความยากจนและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนของต่างชาติ คือ คณะกรรมาธิการการลงทุนแห่งเมียนมาร์ (Myanmar Investment Commission : MIC)

ตามกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ การลงทุนจากต่างชาติในเมียนมาร์จะสามารถทำได้ในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น โดยสาขาที่อนุญาตให้เข้ามาลงทุน ตามกฎหมายฉบับเดิมเป็นการระบุสาขาที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน (positive list) ในขณะที่กฎหมายฉบับใหม่ เมียนมาร์จะอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ทุกสาขา ยกเว้นในสาขาที่ระบุไว้ในรายการที่ห้ามมิให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน (negative list) ซึ่งครอบคลุมธุรกิจที่มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของคนเมียนมาร์ และสาธารณสุข ธุรกิจที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ การลงทุนภายในระยะทาง 10 ไมล์จากเขตชายแดน (ยกเว้นการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ) การนำเข้าเศษวัสดุที่เป็นพิษ การผลิต/ใช้เคมีภัณฑ์ที่เป็นพิษ และการนำเข้าเทคโนโลยี ยา และเครื่องมือที่ไม่ได้การรับรองในการใช้ นอกจากนี้ ยังมีสาขาการลงทุนที่สงวนไว้ให้แก่คนเมียนมาร์ตามที่ระบุไว้ในกฎระเบียบการดำเนินงาน (Implementing rules) ภายใต้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ อาทิ การผลิตยาและอาหารท้องถิ่น การทำเหมืองแร่ขนาดกลางและเล็ก การขุดเจาะน้ำมันดิบที่มีความลึกมากกว่า 1,000 ฟุต บริการโรงพยาบาลท้องถิ่นของเอกชน บริการรถพยาบาล การตั้งศูนย์บริการผู้สูงอายุ กิจการร้านอาหาร การขนส่งสินค้า การผลิตพลังงานไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกกะวัตต์ การพิมพ์และการกระจายหนังสือพิมพ์ภาษาท้องถิ่น การทำความสะอาดและซ่อมบำรุงรถไฟ การทำปศุสัตว์ และการประมงในเขตน่านน้ำของเมียนมาร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การใช้แนวทางในการพิจารณาอนุญาตโครงการลงทุนดังกล่าว จะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ในสาขาที่กว้างมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความยืดหยุ่นในเรื่องรูปแบบการลงทุน ซึ่งสามารถทำได้ในรูปแบบของการจัดตั้งธุรกิจที่ต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละ 100 สำหรับธุรกิจในบางสาขาที่แต่เดิมเคยสงวนไว้ อาทิ โทรคมนาคม การเกษตร (ยกเว้น การปลูกพืชสมุนไพรท้องถิ่น การทำปศุสัตว์ และประมง การเพาะเลี้ยงกุ้ง ฯลฯ) และการทำธุรกิจร่วมทุน (joint venture) กับคนเมียนมาร์ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นแล้วแต่คู่สัญญาจะตกลงกัน ซึ่งมีเหตุผลหลักเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีของต่างชาติให้แก่คนเมียนมาร์ เช่น การผลิตและการกระจายสินค้าประเภทอาหาร (ยกเว้นบางประเภท เช่น นม สุรา น้ำดื่ม เส้นด้าย ยาง และพลาสติก) การผลิตหนัง รองเท้า และกระเป๋า การสำรวจและการผลิตเหมืองแร่ขนาดใหญ่ การตั้งโรงงานผลิตโครงสร้างเหล็กเพื่อการก่อสร้างตึกและสะพานคอนกรีต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รีสอร์ทและสนามกอล์ฟ บริการขนส่งทางอากาศ บริการท่าเรือ การสร้างและการซ่อมเรือ ธุรกิจโรงพยาบาล และบริการท่องเที่ยว ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนที่อนุญาตให้ต่างชาติทำได้โดยต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อน เช่น อุตสาหกรรมไม้ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตที่มีการตัดต่อพันธุกรรม ฯลฯ

สำหรับสิทธิประโยชน์พิเศษด้านการลงทุน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายการลงทุนฉบับเดิมกับฉบับใหม่ พบว่า นักลงทุนต่างชาติจะได้รับจากสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม ที่ได้ห็นได้ชัด คือ สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้ในระยะเวลา 5 ปี (เมื่อเทียบกับ 3 ปี ตามกฎหมายเดิม) และยังสามารถต่ออายุได้ หากรัฐบาลเมียนมาร์เห็นว่าเป็นการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ นอกจากนี้ ยังให้การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างกิจการ รวมถึงภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตในช่วง 3 ปีแรกของกิจการ ส่วนสิทธิประโยชน์ในการเช่าซื้อที่ดิน นักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าซื้อที่ดินในระยะเวลานานถึง 50 ปี (เมื่อเทียบกับ 30 ปี ตามกฎหมายเดิม) และสามารถต่ออายุได้ 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 10 ปี รวม 70 ปี (เมื่อเทียบกับ 15 ปี ตามกฎหมายเดิม รวม 45 ปี) ทั้งนี้ หากเป็นการลงทุนในพื้นที่ที่ยังไม่พัฒนาและห่างไกลการติดต่อ MIC อาจพิจารณาขยายการต่ออายุการเช่าซื้อที่ดินอีก 10 ปี

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่มีลักษณะพิเศษของกฎหมายฉบับนี้ และนักลงทุนต่างชาติจำป็นต้องให้ความสำคัญ คือ เรื่องการจ้างแรงงานท้องถิ่นชาวเมียนมาร์ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วงเวลาการลงทุน กล่าวคือ อย่างน้อยร้อยละ 25 ในช่วง 2 ปีแรก เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในปีที่ 3-4 และร้อยละ 75 ในปี 5-6 นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างชาติในเมียนมาร์ยังถูกกำกับดูแลตามกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2554 และกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ปี 2554 ซึ่งปัจจุบันเมียนมาร์อยู่ระหว่างพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง คือ ทวาย Kyauk Phue และ Thilawa ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับที่ได้รับตามกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ และเน้นการส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก

จากสถิติการลงทุนจากต่างชาติในช่วงปีที่ผ่านมา เมียนมาร์มีแนวโน้มการลงทุนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านพลังงาน เช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาตินับตั้งแต่มีการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ ล่าสุด ยังพบว่า สถิติการลงทุนจากต่างชาติในสาขาการผลิตและบริการโรงแรมเริ่มมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตและประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ เสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง ขณะที่การลงทุนด้านพลังงานเริ่มหยุดชะงัก เนื่องจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อยู่ระหว่างดำเนินการไปแล้ว มีโครงการสำคัญ เช่น การพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง และการลงทุนสร้างท่อส่งก๊าซเพื่อส่งผ่านไปยังประเทศจีน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของความต้องการพลังงานในภูมิภาค โดยเฉพาะจีนและไทย เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า การลงทุนด้านพลังงานในเมียนมาร์จะยังคงขยายตัวอยู่ เนื่องจากทั้งสองประเทศถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในเมียนมาร์ ขณะที่การลงทุนในสาขาการผลิตและการท่องเที่ยวถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในสาขาที่กว้างมากขึ้น แม้ว่าสาขาพลังงานและการเกษตรจะยังคงเป็นสาขาสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมียนมาร์ในระยะกลางต่อไป

บทวิเคราะห์ แม้ว่าการปฏิรูปประเทศของเมียนมาร์ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และได้ผลตอบรับที่ดีจากประชาคมโลก เช่น การยกเลิกการคว่ำบาตรของประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่นสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่เมียนมาร์ยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะในประเด็นการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งครอบคลุมเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ระบบตลาดนำ โดยให้ภาคเอกชนมีบทบาทหลัก การรวมตัวเข้ากับเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคผ่านทางการค้าและการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึงแหล่งเทคโนโลยีและความรู้ด้านการบริหารจัดการของภาคเอกชน การยกเลิกข้อจำกัดด้านการลงทุนในเมียนมาร์ การเสริมสร้างความโปร่งใสของนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจ การเป็นรัฐบาลที่มีเงินงบประมาณเพียงพอกับความต้องการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่มีจำนวนมหาศาล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน อันนำไปสู่ความสมานฉันท์ทางสังคมภายในประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ