ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 12, 2014 15:05 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสวีเดน

(Potential Effects from an EU-US Free Trade Agreement- Sweden in Focus)

ศึกษาโดย Sweden National Board of Trade ในปี 2012

บทนำ

สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการผลิตและ GDP รวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของการผลิตโลก และมีเศรษฐกิจเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายจะมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกันสูง แต่การจัดทำความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันจะทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศขยายตัวมากขึ้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ได้ร่วมกันจัดตั้ง High-Level Working Group on Job and Growth เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายเพื่อเป็นแนวทางในการเจรจา FTA ที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2555

สวีเดนนับเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ โดยในปี 2554 สวีเดนมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ร้อยละ 7 และนำเข้าร้อยละ 3 ในปี 2553 ส่วนภาคบริการ สวีเดนมีมูลค่าในสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าบริการทั้งหมดของสวีเดน ขณะที่ภาคบริการของสหรัฐฯ ในสวีเดนคิดเป็นร้อยละ 13

จุดประสงค์ของการศึกษา

สภาหอการค้าแห่งสวีเดนได้ศึกษาโดยการริเริ่มของกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดทำความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจ การค้า รายได้ประชาชาติ (National Income) การผลิต และกระแสการค้า (Trade flows) ของสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และสวีเดน ทั้งนี้ ผลการศึกษานี้เป็นเพียงแนวทางและกลไกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมิใช่ตัวเลขที่แน่นอน เนื่องจากแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่นำมาวิเคราะห์นี้มีพื้นฐานมาจากสมมติฐานและข้อจำกัดที่หลากหลายของทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เช่น อัตราภาษีนำเข้าระหว่างกัน และมาตรการกีดกันทางการค้า (Non-tariff barriers-NTBs)

สถานการณ์ FTA ที่ใช้ในการศึกษา

สถานการณ์ที่ใช้ศึกษาคือ การยกเลิกภาษีและการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการลดต้นทุนทางการค้าที่เกิดขึ้นจาก NTBs โดยแบ่งเป็น 2 สถานการณ์ ได้แก่ Comprehensive Scenario และ Limited Scenario โดยการวิเคราะห์ผลการศึกษาเน้นผลที่ได้จาก Limited Scenario ส่วน Comprehensive Scenario จะใช้เทียบเคียง

แบบจำลองและข้อมูล
          แบบจำลองจะใช้การคำนวณจาก CGE Model ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ        ในวงกว้าง ตลอดจนนโยบายด้านการค้าอื่นๆ ส่วนกรอบของแบบจำลองคือ The Global Trade Analysis Project  (GTAP) ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสวีเดน สมาชิกสหภาพยุโรป 26 ประเทศ สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ แบบจำลองจะแสดงผลกระทบด้านนโยบายทางการค้า รวมทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากนโยบายที่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการลดภาษีข้าวสาลี จะส่งผลกระทบต่อความต้องการข้าวสาลีที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นที่ได้จากข้าวสาลี  เช่น ขนมปัง สินค้าที่ใช้ทดแทนข้าวสาลี เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต รวมทั้งที่ดินและยาฆ่าแมลงซึ่งเกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวสาลี

ข้อจำกัดในการศึกษา

แบบจำลอง GTAP จะไม่นำพลวัตด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจมาคำนวณ อาทิ การเปลี่ยนแปลงด้านรายได้ เงินออม การสะสมเงินทุน การกระจายของความรู้ (Knowledge spillover) และการเติบโตของผลิตภาพ (Productivity) ในระยะยาว อีกทั้งผลการศึกษาอาจต่ำกว่าจริงเพราะมิได้นำการลงทุนทางตรงและการบริการรูปแบบที่ 3 (Commercial presence) ที่เป็นการเข้าไปลงทุนให้บริการในประเทศลูกค้ามาวิเคราะห์ร่วมด้วย

โครงสร้างเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ และฐานข้อมูลแสดงลักษณะทางการค้า

1. มูลค่าการผลิตจากสาขาต่างๆ ในสหภาพยุโรป (EU26) สหรัฐฯ และสวีเดน ปี 2550 (บริการรูปแบบที่ 3 มิได้รวมอยู่ในฐานข้อมูล GTAP) ก่อนการนำสถานการณ์การจัดทำ FTA มาวิเคราะห์ร่วม พบว่า

  • ภาคการบริการ สร้างมูลค่าการผลิตสูงสุดในทุกกลุ่มประเทศ โดยคิดเป็นร้อยละ 75-80 โดยประมาณ (สวีเดน ร้อยละ 77, EU26 ร้อยละ 75, สหรัฐฯ ร้อยละ 82)
  • ภาคการบริการที่สำคัญที่สุดในสวีเดน คือ ภาคการบริการทางธุรกิจ โดยคิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 ของมูลค่าการผลิตในภาคบริการทั้งหมด ส่วนการบริการด้านนันทนาการและการบริการอื่นๆ (Recreational public and other services) สร้างมูลค่าสูงสุดให้แก่ EU26 และสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ34 และร้อยละ 50 ตามลำดับ
  • สาขาย่อยของนันทนาการของสหรัฐฯ ที่สร้างมูลค่า คือ การบริการด้านสุขภาพและการทหาร
2. การค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ
  • การบริการมีมูลค่าการผลิตมากกว่าสินค้าในขณะที่สินค้ามีมูลค่าทางการค้ามากกว่า เนื่องจากการบริการบางสาขาไม่สามารถทำการค้าระหว่างกันได้มากนัก อาทิ การบริการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรรัฐหรืออุตสาหกรรมการทหาร นอกจากนี้ การบริการมักแฝงอยู่ในสินค้าทำให้เกิดการค้าบริการทางอ้อม ส่วนสินค้าเกษตรจะมีมูลค่าการผลิตน้อยกว่าสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนร้อยละ 70-80 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด
  • สวีเดนมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปสหรัฐฯ สูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 77 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และมีมูลค่าการนำเข้าด้านการบริการจากสหรัฐฯ สูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 55 โดยมีภาคบริการทางธุรกิจถึงร้อยละ 41 (มูลค่าส่วนใหญ่มาจากสาขาการวิจัยและพัฒนา) ซึ่งต่างกับ EU26 ที่มีการนำเข้าบริการทางธุรกิจเพียงร้อยละ 10 ส่วนมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมของ EU26 จากสหรัฐฯมีมูลค่าใกล้เคียงกัน คิดเป็นร้อยละ 63 และ 35 ตามลำดับ
  • สินค้าที่สวีเดนและ EU26 นำเข้าจากสหรัฐฯส่วนใหญ่ ได้แก่ ยาและสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ (Chemicals aerospace) การบริการด้านนันทนาการ และเครื่องจักรอื่นๆ (Other machinery) หมายรวมถึง น้ำมัน แร่ธาตุ และสิ่งทอ ซึ่งเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อการค้าของสวีเดนและ EU26 โดยเฉพาะการส่งออก ที่มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 22 และร้อยละ 17 สำหรับสวีเดนและ EU26 ตามลำดับ ส่วนสาขาอื่นๆที่มีความสำคัญอาทิ ยาและสารเคมี ยานยนต์ การบริการทางธุรกิจ และเหล็ก อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2550 มูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทยานยนต์ไปยังสหรัฐฯ ลดลงประมาณร้อยละ 55
3. ภาษีสินค้านำเข้า
  • สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มีอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันต่ำ เว้นเพียงบางรายการสินค้าของสหภาพ
ยุโรปที่มีอัตราภาษีค่อนข้างสูง ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม และยานยนต์
  • การคำนวณภาษีแบบ Trade-weighted ทำให้สวีเดนและ EU26 มีน้ำหนักภาษีต่างกันในบางรายการ แม้ว่า รายการนั้นมีการเก็บภาษีเท่ากัน เนื่องจากความแตกต่างของสินค้าในสาขาย่อย ทั้งนี้ ไม่มีการนำอัตราภาษีที่สูงมากเกินไปมาคำนวณค่าน้ำหนักเพื่อมิให้ส่งผลต่อค่าเฉลี่ยทั้งหมด
4. การกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน (NTBs)
  • ต้นทุนทางการค้าที่เกิดขึ้นจากมาตรการ NTBs โดยคำนวณจากฐานข้อมูลของ ECORYS ปี 2552 (สวีเดนและ EU26 แสดงผลเดียวกัน) พบว่า NTBs ทำให้ต้นทุนสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่การบริการด้านการขนส่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด โดยสหภาพยุโรปมีต้นทุนทางการค้าจาก NTBs มากกว่าสหรัฐฯ
  • NTBs เป็นอุปสรรคทางการค้าเสรีมากกว่ามาตรการทางภาษี และไม่สามารถยกเลิกได้ทันทีเนื่องจากต้องคำนึงถึงการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน ปกป้องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตาม การที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ สามารถปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความสอดคล้อง มีประสิทธิภาพ และสร้างความเข้าใจร่วมกัน ย่อมส่งผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย
  • ข้อเสนอแนะเพื่อให้การจัดทำ FTA เกิดประโยชน์สูงสุดคือ การลด NTBs เพื่อลดต้นทุนทางการค้าลง ร้อยละ 50 ภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปี *สถานการณ์การจัดทำความตกลงทางการค้าเสรี

สถานการณ์ที่ 1 การยกเลิกภาษี แบบจำลองนี้จะยกเลิกภาษีนำเข้าในสินค้าทุกรายการในภาคอุตสาหกรรมและเกษตร อย่างไรก็ดี สถานการณ์นี้อาจไม่สามารถทำได้จริงในทุกรายการสินค้า เนื่องจากสินค้าเกษตรมีความอ่อนไหวทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ แม้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเองยังมีมาตรการเพื่อปกป้องสินค้าเกษตรภายในประเทศ

สถานการณ์ที่ 2 การยกเลิก NTBs - NTBs ในแบบจำลอง CGE พบว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้า 2 รูปแบบ ได้แก่

1) Cost-creating barrier หมายถึง กฎระเบียบที่มิได้เป็นอุปสรรคทางการค้าโดยตรง แต่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างชาติมีค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การยกเลิก NTBs ประเภทนี้ จะส่งผลดีต่อรายได้ประชาชาติ

2) Rent-creating barrier หมายถึง กฎระเบียบที่กีดกันผู้ประกอบการต่างชาติโดยตรง และก่อให้เกิดอุปสรรคด้านการส่งออกอื่นๆ

*ผลการศึกษาจากสถานการณ์การจัดทำความตกลงการค้าเสรี

จากการเปรียบเทียบสถานการณ์ก่อนและหลังการจัดทำ FTA ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยพิจารณาจาก สถานการณ์ที่ 2 (Limited scenario) ได้ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ดังนี้

1. ภาพรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจ

1.1 ผลกระทบที่มีต่อรายได้ประชาชาติ

-เมื่อสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มีการยกเลิกภาษีและ NTBs ระหว่างกันจะส่งผลให้สินค้า ส่งออกของทั้งสองฝ่ายมีราคาลดลง ความต้องการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง รวมทั้งกระแสการค้าของประเทศอื่นทั่วโลก สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะมีการค้าและการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับมูลค่า GDP ก่อนการจัดทำ FTA ทั้งนี้เนื่องจาก FTA ทำให้ทั้งสองฝ่ายใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้งเมื่อมีการลด NTBs จะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกลดลงและเกิดการใช้ทรัพยากรภายในประเทศและนำเข้าอย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น

  • การยกเลิกภาษีระหว่างกันส่งผลให้สวีเดนมีมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.01 แต่การลด NTBs จะทำให้ GDP มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.09 และ 0.18 ใน Limied และ Comprehensive scenario ตามลำดับ ส่วน EU26 มีมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นมากกว่าสวีเดน (ร้อยละ 0.12 และ 0.22 ใน Limied และ Comprehensive scenario) สหรัฐฯ มี GDP เพิ่มขึ้นสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 0.24 และ 0.51 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี GDP ของประเทศอื่นๆ มีมูลค่าติดลบ เนื่องจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มีกฎระเบียบที่สอดคล้องกันมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้อาจไม่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง หากประเทศอื่นๆ ใช้มาตรฐานที่สอดคล้องกันของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ หรือมาตรฐานระหว่างประเทศ

1.2 ผลกระทบที่มีต่อการค้าและการผลิตโดยรวม

  • สวีเดนมีการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเพิ่มในการผลิตไม่มาก โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.03 ส่วน EU26 และสหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มในการผลิตร้อยละ 0.06 และ 0.65 ตามลำดับ การที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯมีมูลค่าเพิ่มในการผลิตมากกว่าสวีเดน เนื่องจากมีปริมาณการผลิตมากกว่า ส่วนกลุ่มประเทศอื่นๆ มีมูลค่าเพิ่มลดลงร้อยละ 0.4
  • มูลค่าการค้าโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยสวีเดนมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเนื่องจากพึ่งพาการค้าในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมากกว่าสหรัฐฯ สินค้านำเข้าและส่งออกของสวีเดนไป EU26 มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 67 และ 27 ตามลำดับ ในขณะที่สวีเดนมีมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 3 และมูลค่าการส่งออกร้อยละ 7 กับสหรัฐฯ ส่วนสหภาพยุโรปนั้นมีการค้ากับสหรัฐฯ ร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ แต่คิดเป็นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับมูลค้าการค้าภายในภูมิภาค สำหรับสหรัฐฯ นั้นมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเนื่องจากมีมูลค่าการค้ากับสหภาพยุโรปมากถึงร้อยละ 20 และเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปจะแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ กับผู้ประกอบการที่มิใช่สหรัฐฯ เป็นหลัก ขณะที่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ แข่งขันโดยตรงกับผู้ประกอบการของสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ ส่วนประเทศอื่นๆ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกเท่าเดิม แต่การนำเข้าลดลง

1.3 การเปลี่ยนแปลงของกระแสการค้า

สวีเดนจะมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับสหรัฐฯ มากขึ้น แบ่งเป็นส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 และนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากที่เคยมีมูลค่าการค้ากับ EU26 และประเทศประเทศอื่นๆมากกว่า ขณะที่ มูลค่าการส่งออกจาก EU26 และสหรัฐฯ ไปยังประเทศประเทศอื่นๆ ลดลง อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งออกระหว่าง EU26 และสหรัฐฯ จะมีมูลค่าใกล้เคียงกัน แต่ EU26 ได้เปรียบในแง่ปริมาณการส่งออกที่มากกว่า นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ จะมีมูลค่าการส่งออกไปสวีเดนและ EU26 เพิ่มขึ้น แต่มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.5 และการนำเข้าลดลงร้อยละ 3 ทั้งนี้ เนื่องจากมีประเทศสมาชิก NAFTA ในกลุ่มประเทศประเทศอื่นๆ ซึ่งสหรัฐฯ เปิดตลาดให้มากกว่าสหภาพยุโรป ดังนั้นการจัดทำ FTA ระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งทำให้การกีดกันทางการค้าลดลงนั้นย่อมส่งผลให้ NAFTA มีความได้เปรียบทางการค้าลดลง ทั้งนี้ ประเทศอื่นๆ มีแนวโน้มการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ มากกว่าสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปที่มีราคาต่ำกว่า

2. ผลทางเศรษฐกิจที่มีต่อสวีเดน

2.1 ผลกระทบที่มีต่อการค้า การผลิต และการเปลี่ยนแปลงทางการค้าระหว่างสวีเดนและสหรัฐฯ สินค้าและบริการของสวีเดนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำ FTA มากที่สุด ดังนี้

1) เครื่องดื่มและอาหาร การผลิต การค้า และการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดในสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากเป็นสินค้าอ่อนไหวของทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งมีการเปิดตลาดระหว่างกันไม่มากและมีกฎระเบียบเข้มงวด อย่างไรก็ดี การยกเลิก NTBs ทั้งหมดหรือร้อยละ 25 อาจจะเป็นไปได้ยาก

2) ยานยนต์ FTA จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสวีเดนมากจากการส่งออกและนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับภาวะการชะลอตัวด้านการค้าและการผลิตตั้งแต่ปี 2550 ส่วนการลดหย่อน NTBs จะส่งผลดีต่อบางสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคยานยนต์

3) การบริการทางธุรกิจ สวีเดนจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในภาคบริการทางธุรกิจ ซึ่งต่างกับการบริการสาขาอื่นๆ ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากกว่าส่งออก นอกจากนี้ การที่สวีเดนเข้าถึงบริการทางธุรกิจของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ภาคการเงินและการประกันภัยในสวีเดนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งสาขาการบริการดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้เกิดการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีได้

2.2 การจัดทำ FTA ระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ส่งผลดีด้านการผลิต การค้า และรายได้ประชาชาติของทั้งสองฝ่าย ส่วนประเทศอื่นๆ จะได้รับประโยชน์จากรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้น ส่วนการลดหย่อน NTBs จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ทางการค้าและสวัสดิภาพทางสังคม โดยหากลด NTBs ร้อยละ 50 จะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับการลด NTBs ลงร้อยละ 25 ประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง คือ ในบางสาขาที่มี NTBs มักเป็นสาขาที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากที่สุดหากมีจัดทำ FTA นอกจากนี้ NTBs อาจส่งผลกระทบทางอ้อม เช่น ในกรณีภาคการบริการทางธุรกิจของสวีเดนที่การลดหย่อน NTBs ส่งผลให้การผลิตลดลงแต่รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคการบริการทางธุรกิจเป็นส่วนผลักดันให้ภาคการเงินและประกันภัยขยายตัวทางเศรษฐกิจ

*บทสรุปผลการศึกษา

1. การจัดทำ FTA ระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อทั้งสองฝ่ายไม่มาก แต่ทำให้สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มีรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น และเกิดผลดีทางเศรษฐกิจ

2. การลดหย่อน NTBs ตาม Limited scenario ทำให้สวีเดนมี GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.09 ต่อปี ขณะที่ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 สำหรับ Comprehensive scenario

3. การลดหย่อน NTBs จะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจมากที่สุดในกรณีที่มีการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการค้าระหว่างกัน

4. การยกเลิกภาษีจะส่งผลดีต่อสินค้าบางประเภท หากต้องการให้การยกเลิกภาษีส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้นอาจต้องมีการยกเลิกกระบวนการดำเนินการบางประการที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย

5. มูลค่าการผลิตของโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 ส่วนสวีเดนจะมีมูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03 โดยมูลค่าเพิ่มจะอยู่ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมตามลำดับ ส่วนภาคบริการนั้นมีมูลค่าเพิ่มเพียงเล็กน้อย

6. มูลค่าการค้าของสวีเดนจะเพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม การบริการด้านการประกันภัยยานยนต์ และเหล็ก

7. การค้าสองฝ่ายระหว่างสวีเดนและสหรัฐฯ จะเพิ่มมากขึ้น โดยใน Limited scenario สวีเดนจะมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และ 15 ตามลำดับ ซึ่งจะมากขึ้นประมาณสองเท่าหากพิจารณาจาก Comprehensive scenario โดยสินค้าที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ อาหารและเครื่องดื่ม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

8. ภาคการบริการทางธุรกิจเป็นสาขาที่สวีเดนและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันมากที่สุด เนื่องจากสวีเดนเป็นผู้ส่งออกและนำเข้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าจะมีมูลค่าการนำเข้าระหว่างกันมากขึ้นหากมีการลดหย่อน NTBs

9. สวีเดนจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุดจากการเปิดตลาดการบริการทางธุรกิจ โดยคิดเป็นหนึ่งในสามของผลประโยชน์ที่จะได้รับ เนื่องจากการบริการทางธุรกิจส่งผลทางเศรษฐกิจต่อภาคบริการอื่นๆ ตลอดจนทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลทางพลวัตต่อเศรษฐกิจสวีเดนอย่างมาก อย่างไรก็ดี ยังต้องมีการศึกษาเรื่องกระแสการค้าสองฝ่ายและอุปสรรคทางการค้าอย่างละเอียดต่อไปเพื่อการวิเคราะห์ผลกระทบจาก FTA ที่รอบด้านมากขึ้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ