(The Impact Assessment on the Future of the EU-US Trade Relations)
ศึกษาโดย European Commission ในปี 2013
แม้ว่าสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ของโลก โดยมี GDP คิดเป็นร้อยละ 25.1 และ 21.6 เมื่อเทียบกับมูลค่า GDP โลก อย่างไรก็ดี การค้าสองฝ่ายในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาหลายด้าน ดังนี้
1. การค้าสินค้า ในช่วงปี 2543-2544 สหภาพยุโรปมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังคู่ค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปลดลงจากร้อยละ 28.1 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 16.9 ในปี 2544
2. มาตรการด้านภาษี แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีอัตราภาษีต่ำ แต่สินค้าสำคัญบางรายการยังมีอัตราภาษีสูง ประกอบกับมีกฎระเบียบด้านสินค้าและบริการที่แตกต่างกันทำให้เป็นอุปสรรคต่อการค้า/การลงทุน และเพิ่มค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าอัตราภาษีถึงร้อยละ 10-20 ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) สูญเสียโอกาสในการจ้างงานและการเติบโตของธุรกิจ
3. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้เปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้แก่สหภาพยุโรปเพียงร้อยละ 32 หรือคิดเป็น 178,000 ล้านยูโร ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement Agreement-GPA) ของ WTO ดังนั้นหากทั้งสองฝ่ายลดมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ได้รับประโยชน์อย่างมาก จากการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
1. การค้าสินค้า (Trade in Goods) ยกเลิกภาษีสินค้าทุกรายการ โดยเฉพาะในภาคเกษตรแปรรูป สิ่งทอ และเสื้อผ้า กำหนดมาตรการเยียวยาสำหรับสินค้าอ่อนไหว ยกเลิกหรือลดหย่อนกฎระเบียบต่างๆ ที่จะเป็นการกีดกันทางการค้า ปรับปรุงกฎระเบียบของทั้งสองฝ่ายให้สอดคล้องกันทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม หรือปรับปรุงมาตรฐานสินค้าของสหรัฐฯ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และจัดทำความตกลงการค้าเสรีที่สามารถเจรจาปรับเปลี่ยนกฎระเบียบได้ตลอดเวลา (Living agreement)
2. การค้าบริการ (Trade in Services) มุ่งให้เกิดการเปิดตลาดในภาคบริการที่สำคัญ เช่น การขนส่ง รวมทั้งร่วมมือในการออกกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน เพื่อรองรับการแข่งขันจากภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปบนพื้นฐานการไม่เลือกปฏิบัติ
3. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement) ผลักดันให้สหรัฐฯ เปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐครอบคลุมทั้งรัฐบาลกลางและระดับมลรัฐ เพิ่มจำนวนรัฐให้มากกว่าที่กำหนดในความตกลง GPA รวมทั้งยกเลิกข้อกำหนด Buy America (n) ที่กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างในสหรัฐฯ จะกระทำได้ต่อเมื่อสินค้าผลิตหรือแปรรูปในประเทศ
ทางเลือกที่ 1 จัดทำความตกลงฯ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ นำประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบของสินค้ามาพิจารณาภายใต้ Transatlantic Economic Council (TEC) และ High Level Regulatory Cooperation Forum (HLRCF) ซึ่งทางเลือกนี้จะใช้เป็นฐานเพื่อเปรียบเทียบผลทางเศรษฐกิจที่จะได้จากทางเลือกที่ 2 และ 3
ทางเลือกที่ 2 เลือกจัดทำความตกลงด้านในด้านหนึ่ง ได้แก่
1. ความตกลงด้านภาษี (Tariff-only Agreement) โดยลดภาษีร้อยละ 98 ทุกรายการสินค้า อย่างไรก็ดี ความตกลงด้านภาษีอย่างเดียวจะทำให้สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ยินยอมแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะด้านการค้าบริการและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สหภาพยุโรปให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในขณะที่สหรัฐฯ ต้องใช้ความพยายามสูงในการปรับกฎระเบียบภายใน
การจัดทำความตกลงด้านภาษีนี้จะส่งผลให้สหภาพยุโรปมี GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.10 และรายได้ภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ล้านยูโร ภายในปี 2570 เมื่อเทียบกับ GDP และรายได้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายทางเลือกที่ 1
2. ความตกลงด้านการค้าบริการ (Services-only Agreement) การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันจะน้อยมาก โดยสหภาพยุโรปจะมี GDP เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.01 และรายได้ภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 2,500 ล้านยูโร ภายในปี 2570
3. ความตกลงด้านการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement-only Agreement) ความตกลงนี้จะส่งผลทางเศรษฐกิจน้อยมาก เพราะสหภาพยุโรปไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของสหรัฐฯ ในระดับมลรัฐ เนื่องจากเกินกว่าที่สหรัฐฯ ตกลงใน GPA ความตกลงนี้จะทำให้สหภาพยุโรปมี GDP เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.02 และรายได้ภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 3,600 ล้านยูโร ภายในปี 2570
ทางเลือกที่ 3 จัดทำความตกลงทุกประเด็นครอบคลุมทั้งด้านภาษี มาตรการการกีดกันทางการค้าด้านสินค้า บริการ การลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทางเลือกนี้หากพิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์ที่ทั้งสองฝ่ายมิได้เปลี่ยนแปลงมาตรการใดๆ (Conservative Scenario) โดยยึดหลักและกฎเกณฑ์ตาม FTA ที่ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำกับเกาหลีใต้ ก็จะส่งผลให้สหภาพยุโรปมี GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และมีรายได้ภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 48,000 ล้านยูโร อย่างไรก็ดี หากทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้าและการลงทุนที่มีความทะเยอทะยานกว่าเดิม (Ambitious Scenario) จะทำให้ GDP ของสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.48 และรายได้ภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 86,000 ล้านยูโร
1.ด้านสังคม การดำเนินนโยบายจัดทำความตกลงด้านใดด้านหนึ่ง (ทางเลือกที่ 2) จะส่งผลกระทบต่อรายได้ ของแรงงานมีฝีมือและไม่มีฝีมือน้อยกว่าการจัดทำความตกลงรอบด้าน (ทางเลือกที่ 3) ตัวอย่างเช่น ความตกลงด้านภาษีอย่างเดียวจะทำให้รายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12 ขณะที่นโยบายการจัดทำความตกลงรอบด้านส่งผลให้รายได้ของแรงงานไม่มีฝีมือ (Unskilled workers) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30 สำหรับ Conservative Scenario และร้อยละ 0.51 ส่วน Ambitious Scenario รายได้ของแรงงานมีฝีมือ (Skilled workers) จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.29 และ 0.50 ตามลำดับ
2.ด้านสิ่งแวดล้อม วัดผลกระทบจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่มีผลต่อการ เปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ หากสหภาพยุโรปเจรจาโดยใช้ทางเลือกที่ 3 Ambitious Scenario จะทำให้สหรัฐฯและสหภาพยุโรปมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3.9 และ 4.3 เมตริกตันตามลำดับ นับว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับนโยบายทางเลือกอื่น เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยมาก
*ข้อเสนอแนะแนวทางการเจรจาสำหรับการจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ เป็นที่แน่ชัดว่าสหภาพยุโรปจะทางเลือกที่ 3 คือการจัดทำความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Comprehensive trade and investment agreement) แบบ Ambitious Scenario ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ ทางเศรษฐกิจและการค้าสูงสุด เกิดการสร้างธุรกิจและโอกาสการจ้างงานในทุกภาคส่วน และก่อให้เกิดประสิทธิภาพและศักยภาพมากที่สุด เพราะทั้งสองฝ่ายมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องเพื่อลดภาระด้านการบริหารจัดการ นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก โดยทุกประเทศมีรายได้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นรวมกันเป็นมูลค่า 238,000 ล้านยูโร โดยแบ่งเป็นของประเทศกำลังพัฒนา 86,000 ล้านยูโร
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630