การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 8, 2014 14:40 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อเดือนกันยายน 2556 คณะกรรมาธิการยุโรป เผยแพร่เอกสารวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญากับการสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในยุโรป ซึ่งศึกษาโดย European Patent Office (EPO) และ Office for Harmonization in the Internal Market (OHIM) ผลการศึกษาพบว่า การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป โดยร้อยละ 39 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 4.7 พันล้านยูโรต่อปี และประมาณร้อยละ 26 ของการจ้างงาน เป็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือคิดเป็นจำนวนแรงงานประมาณ 56 ล้านคนในสหภาพยุโรป

นาย Michel Barnier กรรมาธิการด้าน Internal Market and services กล่าวว่าประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายอัตราการจ้างงาน ทั้งยังเป็นปัจจัยในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคยุโรปอีกด้วย

นาย Benoit Battistelli ประธาน EPO กล่าวเสริมว่า การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเหตุผลสำคัญเชิงรูปธรรมซึ่งเป็นประตูไปสู่การลงทุนในภาคธุรกิจที่ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการและสถาบันวิจัยในภูมิภาคยุโรป ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลก

ผลการวิจัยดังกล่าวพบว่า

1. การจ้างงาน อุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการจ้างงานในสหภาพยุโรปโดยรวมประมาณ 77 ล้านคน หรือ คิดเป็นร้อยละ 35 ของการจ้างงานทั้งหมดในสหภาพยุโรป อุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรงสร้างการจ้างงานในสหภาพยุโรปร้อยละ 26 หรือคิดเป็นแรงงานจำนวน 56.5 ล้านคน โดยแบ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับเครื่องหมายการค้าร้อยละ 21 อุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองด้านการออกแบบร้อยละ 12 อุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรร้อยละ 10 และอีกจำนวนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาสร้างการจ้างงานกว่า 20 ล้านคน

2. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product: GDP) ของสหภาพยุโรปมาจากกิจกรรมในอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาคิดเป็นร้อยละ 39 ของ GDP ทั้งหมด หรือคิดเป็น 4.7 พันล้านยูโร โดยแบ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับเครื่องหมายการค้าร้อยละ 34 อุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองด้านการออกแบบร้อยละ 13 อุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิบัตรร้อยละ 14 และอีกจำนวนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

3. ค่าแรง ของแรงงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในสหภาพยุโรป (เฉลี่ย 715 ยูโรต่อสัปดาห์) สูงกว่าค่าแรงของแรงงานในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับหรือไม่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (เฉลี่ย 507 ยูโรต่อสัปดาห์)

4. การค้า ของสหภาพยุโรปพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเป็นการนำเข้า ร้อยละ 88 และการส่งออก ร้อยละ 90

5. เปรียบเทียบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป พบว่า 1) เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าสหรัฐอเมริกา โดยสหภาพยุโรปสร้างการจ้างงานร้อยละ 26 คิดเป็นร้อยละ 39 ของ GDP ในขณะที่สหรัฐอเมริกาสร้างการจ้างงานร้อยละ 19 หรือร้อยละ 35 ของ GDP 2) ค่าแรงของแรงงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในสหรัฐอเมริกาสูงกว่าค่าแรงของแรงงานในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับหรือไม่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 42

ผลการวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญต่อ การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ซึ่งช่วยตอกย้ำเหตุผลความจำเป็นของสหภาพยุโรปในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจโดยอาศัยกฎระเบียบด้านทรัพย์สินทางปัญญาในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้น ตลอดจนการรักษาความมั่งคั่งและศักยภาพการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรปในปัจจุบันและอนาคต

ที่มา : เว็บไซต์ คณะกรรมธิการยุโรป http://europa.eu/rapid/press-release_IP-13-889_en.htm (30 กันยายน 2556)

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ