หลังการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซนในช่วงปี 2551 สหภาพยุโรป (European Union) ประกาศใช้นโยบายการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าทั้งในแถบเอเชียและอเมริกาเหนือ เพื่อคงไว้ซึ่งกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดในโลกและพร้อมก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจของโลกในด้านการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งได้กำหนดนโยบายทางการค้าเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสในการทำความร่วมมือในกรอบ FTA โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ ด้วย ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปยังยึดถือในนโยบายการค้าที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยังคงมุ่งมั่นในการทำการค้าร่วมกับการพัฒนาประเทศคู่ค้าในรอบด้านด้วย โดยในช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปมีความคืบหน้าในการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ดังนี้
เมื่อวันที่ 16-20 ธันวาคม 2556 สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ได้เจรจา Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) รอบที่ 3 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีประเด็นหารือสำคัญ ได้แก่ การเปิดตลาด ซึ่งครอบคลุมประเด็นการลดภาษีนำเข้า การประมูลงานภาครัฐ และการอำนวยความสะดวกในด้านการลงทุน ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ร่วมกันในด้านการคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การเงิน และความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี ภาคประชาสังคมของทั้งสองฝ่ายได้มีความเคลื่อนไหว/ความเห็นในหลายประเด็นที่ได้มีการเจรจาใน TTIP โดยภาคประชาสังคมของสหภาพยุโรปแสดงความกังวลเรื่องการลดมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร เนื่องจากสหภาพยุโรปมีระดับการคุ้มครองผู้บริโภคที่สูงกว่าสหรัฐฯ ในกรณีนี้ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรปย้ำว่าการปรับปรุงกฎระเบียบร่วมกันมิใช่เป็นการลดระดับมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ หรือจำกัดหน้าที่ของรัฐในการออกกฎระเบียบต่างๆ ขณะที่ภาคประชาสังคมของสหรัฐฯ ปฏิเสธการให้มีข้อบทกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน (Investor-state Dispute Settlement- ISDS) เนื่องจากเห็นว่าการที่นักลงทุนมีสิทธิยื่นฟ้องรัฐบาลเป็นการไม่เคารพกฎระเบียบภายในของสหรัฐฯ ที่มีความเข้มแข็งสูง
การเจรจา TTIP รอบที่ 4 มีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2557 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยเน้นการหารือเกี่ยวกับถ้อยคำในความตกลงดังกล่าว รวมถึงกฎระเบียบการอำนวยความสะดวกทางการค้าและศุลกากร กลไกการระงับข้อพิพาททางการค้า นโยบายการแข่งขันของภาคเอกชน และการคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน สหภาพยุโรป-แคนาดา
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 สหภาพยุโรปและแคนาดาได้ร่วมลงนามเบื้องต้นในข้อตกลงในการจัดทำความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างกัน (The Comprehensive Economic and Trade Agreement- CETA) ซึ่งนับว่าเป็นความตกลงครั้งสำคัญที่สุดและจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการของแคนาดาในหลายมิติ อันเนื่องมาจากความสามารถเข้าถึงการประมูลงานภาครัฐของสหภาพยุโรป และการลดภาษีนำเข้าร้อยละ 98 ครอบคลุมสินค้าหลายประเภท เช่น สินค้าเกษตร ประมง และสินค้าแร่และโลหะ โดยคาดว่าจะสามารถขยายตลาดส่งออกรถยนต์ เนื้อวัว และเนื้อหมูไปยังสหภาพยุโรปได้ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 23 ส่วนสหภาพยุโรปนั้นจะสามารถขยายตลาดชีสและไวน์ในแคนาดา รวมทั้งได้รับความคุ้มครองสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications- GIs) 125 รายการ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแคนาดาต้องวางแผนรับมือกับผลกระทบหลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ อาทิ ผู้บริโภคต้องซื้อยาในราคาสูงขึ้นเนื่องจากการขยายอายุสิทธิบัตรยา และผู้ผลิตชีสรายย่อยที่เรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากผลิตภัณฑ์ชีสของสหภาพยุโรป โดยคาดว่าจะส่งผลให้สูญเสียรายได้ประมาณ 450 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี ทั้งนี้ แคนาดามองว่าการเจรจา CETA กับสหภาพยุโรปจะเป็นพื้นฐานของการเจรจา FTA ฉบับอื่นๆ และคาดว่าจะสามารถให้สัตยาบันความตกลงดังกล่าวได้ภายในปี 2558 สหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21-25 ตุลาคม 2556 สหภาพยุโรปได้เจรจา FTA รอบที่ 3 กับญี่ปุ่น ประเด็นหารือสำคัญคือ การลดมาตรการการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures-NTMs) ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวของญี่ปุ่น ได้แก่ ภาคยานยนต์ และภาคเกษตรกรรม รวมไปถึงการเปิดเสรีด้านการค้าและการบริการ โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลงด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของรถยนต์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2559 ญี่ปุ่นยังได้ยื่นข้อเสนอให้สหภาพยุโรปลดภาษีนำเข้ารถยนต์ให้เหลือ ร้อยละ 10 อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในสหภาพยุโรปกังวลว่าการลดภาษีนำเข้าดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหภาพยุโรปสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับรถยนต์นำเข้าของญี่ปุ่น เฉกเช่นเดียวกับที่ได้รับผลกระทบจากการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ให้แก่เกาหลีใต้
สหภาพยุโรปมีท่าทีชัดเจนให้ญี่ปุ่นลดมาตรการการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษีเพื่อให้สินค้าจากสหภาพยุโรปสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น จากการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนของญี่ปุ่นที่มีต่อสหภาพยุโรป พบว่า NTMs ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกจากสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-30 ตัวอย่างเช่น ในภาคอาหารแปรรูป ญี่ปุ่นได้กำหนดปริมาณวัตถุเจือปนอาหาร (Food additives) ที่แตกต่างจากมาตรฐานของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังไม่ยอมรับผลการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารจากองค์กรของสหภาพยุโรป หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้สินค้าอาหารแปรรูปจากสหภาพยุโรปมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 25 เป็นต้น ดังนั้นการขยายตลาดสินค้าในญี่ปุ่นจึงมีความยุ่งยากเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่นๆของสหภาพยุโรป ประกอบกับความแตกต่างด้านรสนิยมของผู้บริโภค และข้อจำกัดด้านภาษา หากญี่ปุ่นมีการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าว สินค้าของสหภาพยุโรปที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด คือ เคมีและเภสัชภัณฑ์ ยานยนต์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ ในปี 2555 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป มีมติให้สหภาพยุโรปสามารถระงับการเจรจา FTA กับญี่ปุ่นได้ หากนโยบายลดหย่อน NTMs ของญี่ปุ่นไม่มีความคืบหน้าภายใน 1 ปี โดยสหภาพยุโรปจะมีการทบทวนนโยบายของญี่ปุ่นในช่วงเดือนเมษายน 2557
มีการคาดการณ์ไว้ว่า การลดภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีระหว่างกันจะส่งผลให้ สหภาพยุโรปมี GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 และมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 ขณะที่ญี่ปุ่นจะมี GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าสองฝ่ายที่มีมูลค่าลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สหภาพยุโรป-สิงคโปร์ สหภาพยุโรปและสิงคโปร์ได้ลงนามในความตกลง FTA ระหว่างกันแล้ว เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 โดยสิงคโปร์ได้ผลักดันให้มีการให้สัตยาบันในความตกลงดังกล่าวภายในพฤษภาคม 2557 เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ภายในปี 2558 อย่างไรก็ดี FTA อาจมีผลบังคับใช้ช้ากว่ากำหนด ทั้งนี้เนื่องจาก ยังขาดข้อบทด้านการคุ้มครองการลงทุนในความตกลงที่ได้ลงนามไว้เบื้องต้น และกระบวนการให้สัตยาบันของสหภาพยุโรปมีความซับซ้อนและล่าช้า สิงคโปร์เชื่อมั่นในโอกาสทางธุรกิจร่วมกับสหภาพยุโรป โดยมุ่งขยายตลาดในภูมิภาคยุโรป ขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่สิงคโปร์ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ฮังการีและสโลวาเกีย
เมื่อปี 2555 ฟิลิปปินส์ได้ลงนามในกรอบความตกลง PCA (Partnership and Cooperation Agreement) กับสหภาพยุโรป โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ PCA เป็นพื้นฐานไปสู่การเจรจา FTA ในอนาคต การที่ประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ได้ลงนามใน FTA กับสหภาพยุโรป และมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม มีความคืบหน้าในการเจรจา FTA ทำให้ฟิลิปปินส์ตื่นตัวในการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ECCP (European Chamber of Commerce of the Philippines) ให้ข้อคิดเห็นว่า ฟิลิปปินส์ควรบรรลุผลการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปก่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถือกำเนิดในปี 2558
การเจรจา FTA ของทั้งสองฝ่ายจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน จากข้อมูลปี 2556 มูลค่าการค้าระหว่างฟิลิปปินส์และสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการผลิตของภาคอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเพียง 6 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีการค้าเกินดุลกับฟิลิปปินส์ ได้แก่ เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี และเบลเยียม ส่วนในด้านการลงทุนทางตรงนั้น สหภาพยุโรปยังคงเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งในฟิลิปปินส์ โดยในปี 2554 มีมูลค่าการลงทุน (total stock of investments) รวมทั้งสิ้น 7,600 ล้านยูโร อย่างไรก็ดี ภาคประชาสังคมของฟิลิปปินส์มีข้อห่วงกังวลว่าฟิลิปปินส์จะได้รับผลประโยชน์จาก FTA น้อย เพราะการเปิดเสรีทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในหลายสาขารวมถึงข้อบทการลงทุนที่มีการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติในระดับสูงขึ้น ตลอดจนการยืดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยา (TRIPS Plus) เป็นต้น
สหภาพยุโรปสนใจขยายความร่วมมือกับเวียดนามในภาคสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูป ทั้งนี้ ในปี 2556 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 24,800 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 เมื่อเทียบกับปี 2555 ในปัจจุบันมีประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 23 ประเทศ เข้ามาลงทุนในเวียดนาม คิดเป็นมูลค่า 32,800 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ สหภาพยุโรปและเวียดนามมุ่งหวังว่าจะใช้ FTA เป็นกลไกในการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การเจรจารอบที่ 6 จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และทั้งสองฝ่ายมุ่งสรุปผลการเจรจาภายในปลายปีนี้
ถึงแม้ว่าสหภาพยุโรปและอาเซียนได้เห็นชอบในการเจรจา FTA ระหว่างกันเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองภูมิภาคตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2551 แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนมีความแตกต่างกันสูง สหภาพยุโรปจึงได้หยุดการเจรจา FTA ระหว่างภูมิภาคและเริ่มดำเนินการเจรจากับอาเซียนแบบรายประเทศ พร้อมทั้งมีนโยบายให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศลงนามในกรอบความตกลง PCA ซึ่งเป็นความตกลงด้านความร่วมมือในทุกมิติ เช่น เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และเศรษฐกิจ ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนที่ลงนามใน PCA แล้ว ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนไทยนั้นได้ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบและลงนามในข้อบทเบื้องต้นแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจากการให้สัตยาบัน ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของสหภาพยุโรปรองจากสหรัฐฯและจีน ในขณะที่สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากจีน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยในช่วงปี 2543-2553 มีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยปีละ 9,100 ล้านต่อปี
ที่มา : www.bilaterals.org www.europa.eu http://www.eias.org/asian-news-outlook
www.grain.org http://www.europarl.europa.eu
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630