ภายใต้ประเด็นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน สหภาพยุโรปและจีนได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในขอบเขต ดังนี้ 1. การมีส่วนร่วมและตระหนักถึงข้อผูกพันที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อข้อตกลงที่เกิดขึ้นในที่ประชุม G-20 ที่ผ่านมา จีนและสหภาพยุโรปได้ตกลงในประเด็นความร่วมมือเรื่องแผนปฏิรูปการคลัง (roadmap for financial reform) การหลีกเลี่ยงการใช้ระบอบการปกป้องการค้า (trade protectionism) และการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบยั่งยืน (sustainable economy)
2. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคี จีนและสหภาพยุโรปจะริเริ่มปูพื้นฐานความร่วมมือด้านการบริการด้านการเงิน (financial services) การเข้าสู่ตลาด (market access) และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (green growth) ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงด้านศุลกากร Strategic Framework for China-EU Customs Cooperation for 2014 - 2017 โดยร่วมมือกันในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Border enforcement of intellectual property rights) ความมั่นคงตลอดเล้นอุปทาน (Supply chain security) การต่อต้านการทุจริตทางการค้า (Anti-commercial fraud) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade facilitation) และความร่วมมือด้านข้อมูลทางสถิติทางการค้า (External trade statistics) นอกจากนี้ จีนและสหภาพยุโรปยังเดินหน้าเจรจาความตกลงด้านการลงทุน (Investment Agreement) และความตกลงด้านการค้าบริการ (Trade in Service Agreement: TiSA)
3. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับพหุภาคี สหภาพยุโรปสนับสนุนให้เกิดการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในจีน โดยพร้อมผลักดันทั้งในระดับพหุภาคี และทวิภาคีอย่างเข้มข้น และสนับสนุนให้จีนเข้าเป็นภาคีในความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement Agreement: GPA) ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก
ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 2020 Strategic Agenda for Cooperation ซึ่งประกอบไปด้วยความร่วมมือทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม เป็นความร่วมมือทวิภาคีที่น่าสนใจมากกรอบหนึ่งของโลก เพราะนอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งจีนและสหภาพยุโรป ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ในเชิงเศรษฐกิจ กรอบความร่วมมือนี้ยังเป็นพื้นฐานที่จะพัฒนาไปสู่ความตกลงการค้าเสรี (Free-Trade Area: FTA) ของสหภาพยุโรปและจีนในอนาคต ซึ่งจะเป็นความตกลง FTA ที่ส่งผลกระทบและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดฉบับหนึ่ง
ที่มา : เว็บไซต์ คณะกรรมาธิการยุโรป http://eeas.europa.eu/statements/docs/2013/131123_01_en.pdf
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630