สหภาพยุโรปเผชิญอุปสรรคการเจรจาเปิดเสรีการลงทุนภายใต้กรอบ TTIP กับสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 29, 2014 14:45 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อปลายปีที่แล้วสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ได้ประกาศเดินหน้าการเจรจาหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership: TTIP) ซึ่งเป็นกรอบความตกลงทางการค้าที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดของโลก ทั้งในด้านการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก นอกจากนี้ ยังรวมถึงความร่วมมือในการพัฒนากฎระเบียบและหลักการทางการค้าที่เป็นสากลซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของโลก

อย่างไรก็ดี ในประเด็นการเปิดเสรีด้านการลงทุนฝ่ายสหภาพยุโรปได้แสดงท่าทีที่จะชะลอการเจรจาออกไป เนื่องจากภาคเอกชนได้แสดงข้อกังวลว่าประเด็นดังกล่าวอาจจะส่งกระทบต่อกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่ ภาคประชาสังคมของสหภาพยุโรปตั้งข้อสงสัยถึงกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน (Investor-state Dispute Settlement- ISDS) โดยเห็นว่าจะเป็นการเปิดช่องทางให้ภาคเอกชน มีสิทธิยื่นฟ้องรัฐบาลฝ่ายเดียวได้ ภาครัฐจะถูกจำกัดอำนาจในการออกและบังคับใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองผลประโยชน์ของภาคเอกชนในประเทศของตนเอง รวมไปถึงการเข้ามาแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมและการเอารัดเอาเปรียบทางการค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ มากไปกว่านั้นอาจเกิดการไม่เคารพหรือบิดเบือนหลักปฏิบัติทางการค้าที่ส่งผลต่อการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัท Phillip Morris ยื่นฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย เรื่องการกฎระเบียบบรรจุภัณฑ์ซองบุหรี่ที่ขายในออสเตรเลีย โดยใช้กลไก ISDS ของความตกลงทวิภาคีระหว่างออสเตรเลียกับฮ่องกง

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าจะชะลอการเจรจาประเด็นการลงทุนออกไป แต่ยังคงเดินหน้าเจรจาความตกลง TTIP ในประเด็นอื่นๆ ตามแผนการเดิม โดยมุ่งมั่นให้เกิดการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจทางการค้าที่ใหญ่และทรงบทบาทที่สุดของโลก เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของมหาอำนาจทั้งสองเติบโตยิ่งขึ้น และเพิ่มมาตรฐานและระเบียบทางการค้าของโลกต่อไป

ที่มา: เว็บไซต์คณะกรรมาธิการยุโรป www.europa.eu

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ