WTO เร่งเดินหน้าวางแผนการเจรจา ปลุกรอบโดฮาคืนชีพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 10, 2014 14:50 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อเดือนธันวาคม 2556 สมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) รวม 159 ประเทศ ได้บรรลุข้อตกลงบาหลี (Bali Package) ซึ่งครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเกษตร (การยกเลิกการอุดหนุนส่งออก การปรับปรุงการบริหารโควตาภาษี มาตรการภาครัฐเพื่อความมั่นคงทางอาหาร) การจัดทำความตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และประเด็นด้านการพัฒนา (เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ประเทศด้อยพัฒนา เป็นต้น) โดยการบรรลุข้อตกลงบาหลีนับเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของ WTO ที่จะผลักดันและฟื้นฟูการเจรจาการค้าระดับพหุภาคีให้กลับมามีความคืบหน้าอีกครั้ง รวมถึงเร่งสานต่อการเจรจารอบโดฮาในประเด็นที่ยังคงค้างอยู่ให้สำเร็จโดยเร็ว

เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2557 รัฐมนตรีการค้าของสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญในเวที WTO จำนวน 20 ประเทศ1 พร้อมด้วยผู้อำนวยการใหญ่ WTO (Director General Roberto Azevedo) ได้ร่วมหารือ ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยที่ประชุมเห็นพ้องถึงความสำคัญของการเร่งจัดทำแผนดำเนินการ เพื่อหาข้อสรุปประเด็นการเจรจารอบโดฮา ที่สมาชิก WTO ยังไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ โดยเฉพาะประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงในประเด็นดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและสามารถดำเนินการได้

ผู้อำนวยการใหญ่ WTO เน้นย้ำว่า ประเด็นการเจรจาเหล่านี้ล้วนมีความเชื่อมโยงต่อกัน และไม่อาจสรุปผลการเจรจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ก่อนที่ประเด็นทั้งหมดจะได้ข้อสรุป ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่จะยอมเจรจาด้านการเกษตร ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและบริการด้วย

ทั้งนี้ สมาชิก WTO บางประเทศ ได้หยิบยกความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจาประเด็นใหม่ทางการค้าที่ไม่ถูกบรรจุเป็นประเด็นการเจรจาภายใต้รอบโดฮา เช่น สิ่งแวดล้อม พลังงาน การลงทุน และการแข่งขัน อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศด้อยพัฒนายังคงต้องการให้การเจรจาจำกัดอยู่ในประเด็นของรอบโดฮาที่มีอยู่เดิม

นอกจากนี้ สมาชิก WTO จำนวน 14 ประเทศ2 ได้ประกาศเจตนารมย์ร่วมกันในการที่จะเดินหน้าเจรจาลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบ WTO ตามปฏิญญาโดฮา โดยเห็นควรให้มีการเจรจากลุ่มย่อยโดยสมัครใจในลักษณะการเจรจาหลายฝ่าย (Plurilateral Negotiation) แทนการเจรจาแบบพหุภาคี (Multilateral Negotiation) ที่ต้องเห็นชอบโดยสมาชิก WTO ทั้งหมด โดยการเจรจาจะเริ่มจากการใช้ข้อตกลงการลดภาษีนำเข้าสินค้าสิ่งแวดล้อม 54 รายการ เช่น กังหันลม แผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้กรอบ APEC เป็นพื้นฐานการเปิดตลาดสินค้าสิ่งแวดล้อมให้กับสมาชิกภายใต้กรอบ WTO ต่อไป อนึ่ง ปัจจุบันการค้าสินค้าสิ่งแวดล้อมของสมาชิก WTO ที่สนับสนุนการลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 86 ของการค้าสินค้าสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

ที่มา :In Davos, WTO Ministers Set Stage for Debate on Post-Bali Agenda , Insidetrade, 29 January 2014; "Green Goods" Trade Initiative Kicks Off in Davos, ICTSD, 30 January 2014; WTO Ag Negotiators Begin Charting Post-Bali Course, ICTSD, 6 February 2014.

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ