การประชุมเพื่อเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2551 ที่ประเทศยูกันดา โดยมีผู้นำจากสามกลุ่มเศรษฐกิจเห็นชอบร่วมกันให้มีการจัดทำเขตการค้าเสรีขึ้น ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อปี 2554 ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ได้เห็นชอบในบทบัญญัติเกี่ยวกับการเจรจา โครงสร้างของการเจรจาและแผนแม่บท (Roadmap) ในการจัดทำเขตการค้าเสรี และได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญาเพื่อริเริ่มการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างสามกลุ่มเศรษฐกิจ คือ COMESA EAC และ SADC โดยได้ตั้งเป้าหมายให้สามารถลงนามเขตการค้าเสรีได้ในเดือนมิถุนายนศกนี้
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจาคอบ ซูมา ของแอฟริกาใต้ ได้กล่าวสนับสนุนการจัดทำเขตการค้าเสรีดังกล่าวในการประชุมที่นครโจฮันเนสเบิร์ก โดยเห็นว่า "สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังคงไม่แน่นอน และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของยุโรปยังคงซบเซา แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแอฟริกากลับดีขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยขนาดของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นมากกว่าสามเท่าตั้งแต่ปี 2543 และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกในอนาคต ดังนั้น การจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้จะทำให้แอฟริกากลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross domestic product : GDP) กว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือด้าน ต่าง ๆ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะทำให้แอฟริกากลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยประชากรกว่า 1 พันล้านคน และมีมูลค่าการค้ากว่า 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ"
ในด้านการลงทุน แอฟริกาใต้มีการลงทุนในทวีปแอฟริกาจำนวนมาก โดยในปี 2555 มีการลงทุนของแอฟริกาทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 45,000 ตำแหน่ง อีกทั้ง แอฟริกาใต้มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย เคนยา และแองโกลา ต่างเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันและการขยายการลงทุนในภูมิภาค ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม Sub - Saharan Africa 4จะเติบโตถึงร้อยละ 6.1 ในปี 2557 ดังนั้น การเติบโตขึ้นของทวีปแอฟริกาอย่างต่อเนื่องจะทำให้แอฟริกามีสถานะเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
ข้อคิดเห็น 1.แอฟริกาถือเป็นตลาดสำคัญที่ไทยไม่อาจมองข้าม เนื่องจาก เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การจัดทำเขตการค้าเสรีย่อมส่งผลให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 26 ประเทศเป็นไปอย่างเสรี โดยจะมีการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกันภายในกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งหากมีการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ได้เป็นผลสำเร็จ จะทำให้แอฟริกากลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 600 ล้านคน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถขยายการค้าไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญจากฝั่งแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้หลายประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ อียิปต์ ลิเบีย แองโกลา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยไทยอาจพิจารณาส่งเสริมการส่งออกในรายสินค้าที่มีศักยภาพไปยังแอฟริกามากขึ้น เช่น ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์
2.ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับทวีปแอฟริกาในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2552-2556) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 10,320.332 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ในปี 2556 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย 5 อันดับแรกในทวีปแอฟริกา มีมูลค่า 8,056.66 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 78 ของการค้าระหว่างไทยกับทวีปแอฟริกาทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย แอฟริกาใต้ มูลค่า 4,842.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ไนจีเรีย มูลค่า 963.43 ล้านเหรียญสหรัฐ อียิปต์ มูลค่า948.81 ล้านเหรียญสหรัฐ แอลจีเรีย มูลค่า 795.41 ล้านเหรียญสหรัฐ และเบนิน มูลค่า 506.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ไทยจึงควรติดตามความคืบหน้าของการจัดทำเขตการค้าเสรีดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการส่งออกของไทยและสร้างโอกาสในการค้าและการลงทุนไปยังทวีปแอฟริกามากขึ้น
3.จากข้อมูลของฝ่ายเศรษฐกิจและการเมืองสหประชาชาติ รายงานว่า ปี 2555 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป คิดเป็นร้อยละ -0.4 ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแอฟริกา คิดเป็นร้อยละ 5.7 จะเห็นว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของยุโรปยังคงซบเซา แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแอฟริกากลับดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากมีการจัดทำเขตการค้าเสรีทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกา จะเป็นโอกาสอันดีของไทยในการขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น
ที่มา : http://www.bilaterals.org/./?zuma-says-eastern-southern-africa
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630