ผลกระทบของการประกาศใช้มาตรการห้ามการส่งออกไม้ซุงของเมียนมาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 5, 2014 15:02 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมียนมาร์ เป็นประเทศผู้ส่งออกไม้ซุงรายใหญ่ที่สุดของโลก มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกโลก ทั้งยังเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ไม่เคยห้ามการส่งออกไม้เนื้อแข็งที่มีค่า ดังนั้น การที่รัฐบาลเมียนมาร์ออกประกาศห้ามการส่งออกไม้ซุง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 น่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าไม้โลกในระดับหนึ่ง

รัฐบาลเมียนมาร์ได้ให้เหตุผลของการประกาศมาตรการห้ามการส่งออกไม้ซุงไว้ 2 ประการ คือ เพื่อสงวนป่าไม้ที่เหลืออยู่ในประเทศ และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ภายในประเทศเพื่อการส่งออก อย่างไรก็ดี ยังมีหลายฝ่ายแสดงความไม่แน่ใจว่า การห้ามส่งออกดังกล่าวจะมีผลที่แตกต่างจากเดิมมากน้อยเพียงใด เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มผลประโยชน์ที่ควบคุมการค้าไม้อย่างผิดกฎหมายในเมียนมาร์ ได้แก่ กลุ่มทหาร นักธุรกิจ และชนกลุ่มน้อยที่มีอาวุธตามแนวชายแดนที่ติดกับจีน ได้ออกมาต่อต้านการออกมาตรการนี้มาโดยตลอด แต่ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการลักลอบตัดไม้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่งออกไม้ซุงเพิ่มสูงขึ้น

จากสถิติของทางการเมียนมาร์ ในช่วงปี 2543-2556 เมียนมาร์มีการส่งออกไม้ซุงรวม 6.4 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่จากการรายงานของ Environmental Investigation Agency (EIA) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่มิใช่รัฐบาลในสหราชอาณาจักร ประเมินว่า การส่งออกไม้แบบผิดกฎหมายในช่วงเวลาดังกล่าวมีปริมาณมากเป็นสองเท่าของที่ทางการเมียนมาร์ได้รายงานไว้ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีประเทศผู้ซื้อสำคัญ คือ อินเดีย จีน ไทย และ EU

นอกเหนือจากผลกระทบต่อราคาไม้ซุงที่จะเพิ่มขึ้น มาตรการห้ามส่งออกไม้ซุงของเมียนมาร์น่าจะกระตุ้นให้มีการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทย ในอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์จากไม้ในเมียนมาร์เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงการถูกห้ามการส่งออกไม้ซุงได้ทางหนึ่ง เนื่องจากเมียนมาร์ยังอนุญาตให้มีการส่งออกไม้ซุงที่แปรรูปแล้วได้ ทั้งยังช่วยสร้างงานและรายได้ให้แก่ประชากรในประเทศ แต่ก็อาจจะมีผลไม่มากต่อการลดการตัดไม้ตามที่รัฐบาลเมียนมาร์คาดหวังไว้ ทั้งนี้ ตามรายงานของกระทรวงการอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของเมียนมาร์ สัดส่วนของพื้นที่ป่าไม้ในเมียนมาร์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 58 ในปี 2533 เหลือร้อยละ 47 ในปี 2553 อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลเมียนมาร์ตัดสินใจให้มีการใช้มาตรการห้ามส่งออกไม้ซุง น่าจะมีผลให้กลุ่มผลประโยชน์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย แต่จะช่วยให้เมียนมาร์สามารถลดอัตราการตัดไม้ในประเทศได้หรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการห้ามการส่งออกไม้ซุงที่ทางการเมียนมาร์เพิ่งออกประกาศไป ซึ่งถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับสัมปทานการตัดไม้ในเมียนมาร์ เป็นกลุ่มของทหารและรัฐบาลด้วยกันเอง เพื่อหารายได้จากเงินตราต่างประเทศ

ที่มา : The Economist Intelligence Unit, Myanmar economy, Quick View - Timber exports are banned, April 2014

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ