เสียงสะท้อนจากนานาประเทศต่อระบบการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของสหภาพยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 16, 2014 15:04 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา มีปฏิกิริยาจากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาต่อการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) 1 ของสหภาพยุโรป โดยบรรดาสมาชิกสภา Congress และสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ร่วมลงชื่อในหนังสือ 3 ฉบับถึงผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ เพื่อแสดงข้อกังวลเรื่องผลกระทบจากระบบ GI ของสหภาพยุโรป ที่อาจจะทำให้ผู้ประกอบการสินค้าประเภท Dairy product ชีส และเนื้อสัตว์ ของสหรัฐฯ ไม่สามารถใช้ชื่อสินค้าที่เหมือน/คล้ายกับชื่อสินค้า GI ของสหภาพยุโรป จากการเจรจาหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนข้ามข้ามแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership : TTIP) ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ภายใต้ประเด็น GI

หนังสือทั้ง 3 ฉบับ มีเนื้อหาสาระเพื่อเตือนผู้เจรจาจัดทำ TTIP ของสหรัฐฯ ให้ระมัดระวังในการเจรจาประเด็นสินค้าที่มีความอ่อนไหว ได้แก่ สินค้าประเภท Dairy product ชีส และเนื้อสัตว์ และแสดงความความกังวลว่า ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่จะต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปที่ปราศจากภาษี โดยเฉพาะกฎระเบียบทั้งด้านมาตรฐานสินค้าและสุขอนามัยในการส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรป แต่ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้ชื่อสามัญ (Common names) ของสินค้าบางชนิดจากระบบ GI ของสหภาพยุโรปอีกด้วย ซึ่งผู้ประกอบการสหรัฐฯ มองว่า ชื่อสินค้าหลายชนิดที่สหภาพยุโรป จดทะเบียน GI นั้นเป็นชื่อสามัญ ซึ่งผู้ผลิตที่ไม่ใช่สหภาพยุโรปได้ผลิตและจำหน่ายอย่างแพร่หลายมาก่อนแล้ว และอาจมีคุณภาพดีกว่าที่สหภาพยุโรปผลิต จึงถือว่าระบบ GI ของสหภาพยุโรปเป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง และสหภาพยุโรปไม่ควรใช้ระบบ GI เป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพในการผลิตและการขายสินค้าของประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ได้รวมตัวเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวภาคประชาชน และจัดทำเว็ปไซต์ชื่อ The Consortium for Common Food Names (CCFN) เพื่อแสดงพลังต่อต้านกรณีดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อผู้ประกอบการสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และสร้างแรงกดดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนังถึงปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ เท่านั้นที่ออกมาคัดค้าน ยังมีผู้ผลิตสินค้า Dairy product ชีส และเนื้อสัตว์ รายใหญ่ของโลก ได้แก่ ผู้ผลิต Feta cheese, Parma ham, Parmesan cheese ในแคนาดา และผู้ผลิต Dairy product ในออสเตรเลีย ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อการคุ้มครองสินค้า GI ของสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน

สินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสหภาพยุโรป มีมูลค่าประมาณ 114 พันล้านยูโร2 สหภาพยุโรปจึงเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรผ่านการใช้ระบบ GI โดยริเริ่มให้ความคุ้มครอง GI ตั้งแต่ปี 2535 ทำให้ปัจจุบันราคาสินค้า GI มีมูลค่าสูงกว่าสินค้าที่ไม่ใช่ GI 2 ถึง 3 เท่าตัว ในปี 2555 สหภาพยุโรปส่งออกสินค้า GI มูลค่ากว่า 11.5 พันล้านยูโร ซึ่งคิดเป็น 15% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมด สินค้าส่วนใหญ่คือ ไวน์ spirit drinks และอาหาร โดยส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ แคนาดา และจีน3 ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจึงได้พัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง GI มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเรียกร้องเรื่องการจดทะเบียนสินค้า GI ในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade agreement: FTA) ที่สหภาพยุโรปจัดทำด้วย

ที่มา : หนังสือจากสมาชิกสภา Congress และสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ถึงผู้แทนการค้าสหรัฐฯ 3 ฉบับ 1) http://www.commonfoodnames.com/wp-content/uploads/House-Dairy-TTIP-Letter1.pdf 2) http://www.commonfoodnames.com/wp-content/uploads/Meat-GIs-EU-TTIP-Vilsack-and-Froman-April-2014.pdf 3) http://www.commonfoodnames.com/wp-content/uploads/03112014_USDAUSTR_CheeseLetter1.pdf และข้อมูลเพิ่มเติมจาก เว็ปไซต์ www.commonfoodnames.com และ europa.eu

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ