สิงคโปร์เพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 16, 2014 15:06 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สิงคโปร์ได้วางยุทธศาสตร์ประเทศให้เป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพยังสนับสนุนให้สิงคโปร์เป็นฐานการทำธุรกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สิงคโปร์เริ่มมีความกังวลถึงข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่อาจไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของประชากรที่มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ช่องว่างความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ด้านการขนส่ง และสุขภาพ แม้ว่าความเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางอากาศ ถนน และท่าเรือของสิงคโปร์ยังเป็นสิ่งดึงดูดสำคัญของประเทศ แต่สิงคโปร์ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น สิงคโปร์จึงมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานรอที่จะพัฒนาอีกเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์การหยุดวิ่งอย่างกะทันหันของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า MRT (Mass Rapid Transit) เนื่องจากความแออัดของผู้โดยสาร และความไม่เพียงพอของเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐบาลเป็นการส่งสัญญาณว่าสิงคโปร์กำลังเริ่มที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานในเมืองหลวงไม่เพียงพอ ประชากรสิงคโปร์ส่วนใหญ่เห็นว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยและทำงานในเมืองหลวง ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้เพิ่มแรงกดดันอย่างมากต่อความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน จนทำให้ค่าครองชีพในสิงคโปร์ถีบตัวสูงขึ้นจนเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคในปัจจุบัน โดยในช่วงปี 2543-2556 จำนวนประชากรสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคนเป็น 5.3 ล้านคน

รัฐบาลสิงคโปร์กำลังพยายามลดแรงกดดันด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยการขยายศักยภาพที่มีอยู่ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิงคโปร์ได้วางแผนระยะยาวโดยการตั้งเป้าหมายที่จะมีจำนวนประชากร1 เพิ่มขึ้นเป็น 6.5-6.9 ล้านคน ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ทั้งนี้ ค่าครองชีพด้านที่พักอาศัยในสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นประเด็นสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่ต่อต้านนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้คนต่างชาติเข้ามาทำงาน ซึ่งทำให้เกิดการหลั่งไหลของคนต่างชาติในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาที่พักอาศัยในสิงคโปร์ ดังนั้น เพื่อลดความร้อนแรงของราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ออกมาตรการ Property Market Cooling Measures ถึง 9 รอบ นับตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ช่วยให้ราคาเริ่มปรับตัวอ่อนลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ได้วางแผนที่จะทยอยสร้างที่อยู่อาศัยแบบ build-to-order 2 เฉลี่ยมากกว่า 32,000 ยูนิตต่อปี จนถึงปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดราคาที่อยู่อาศัยได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ซื้อสามารถซื้อที่พักอาศัยแห่งแรก โดยผ่านโครงการของรัฐบาล

ด้านการขนส่ง สิงคโปร์อยู่ระหว่างการขยายระบบ MRT และเพิ่มสายเดินรถในเมืองสายที่ 2 หรือที่เรียกว่า Downtown Line 2 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2559 นอกจากนี้ กำลังก่อสร้างสถานีบนเส้นทางนี้จำนวน 3 แห่ง ด้วยงบประมาณ 390 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกเหนือจากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้ริเริ่มโครงการเพื่อเสริมสร้างให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านกีฬาและการบิน สำหรับด้านกีฬา ได้มีโครงการเพื่อพัฒนา Sport Hub ด้วยงบประมาณ 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2557 ประกอบด้วย National Stadium ที่สามารถจุคนดูได้ถึง 5.5 หมื่นคน และมี free-spanning doom roof ที่ใหญ่ที่สุดของโลก (มีความกว้าง 310 เมตร) รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ได้แก่ indoor stadium สนามแข่งขัน และศูนย์กีฬาทางน้ำ

ด้านการบิน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลสิงคโปร์ได้วางแผนที่จะขยายและยกระดับท่าอากาศยานชางฮี เพื่อให้เป็นท่าอากาศยานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าจะมีขยายตัวอย่างรวดเร็วของการเดินทางขนส่งทางอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการขยายตัวของคนรายได้ระดับปานกลาง ซึ่งจะสามารถใช้จ่ายในการเดินทางโดยเครื่องบินได้มากขึ้น แผนงานการขยายท่าอากาศชางฮีจะมีระยะเวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยจะมีการเพิ่ม runway จากเดิม 2 runway เป็น 3 runway และเพิ่ม terminal จากเดิม 3 terminal เป็น 5 terminal เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 66 ล้านคน เป็น 135 ล้านคน ต่อปี

เพื่อลดความไม่พอใจของผู้ที่ต่อต้านนโยบายการเข้าเมืองของต่างชาติ ซึ่งทำให้มีจำนวนคนต่างชาติเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้เพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้นโยบายดังกล่าว ซึ่งอาจมีผลกระทบด้านลบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากเป็นการจำกัดของอุปทานแรงงาน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของค่าเช่าสำนักงาน อย่างไรก็ดี ด้วยความได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ความมีชื่อเสียงด้านธรรมาภิบาล ตลอดจนความเชื่อมโยงทางอากาศและท่าเรือที่ดี หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า สิงคโปร์จะยังสามารถรักษาสถานะการเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ

บทวิเคราะห์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและมีอย่างเพียงพอ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยรักษาและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของสิงคโปร์มาโดยตลอด ทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการทำธุรกิจในประเทศ ขณะเดียวกัน การขยายตัวของประชากรที่อยู่อาศัยและเข้ามาทำงานในเมืองหลวง ก็เป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม เพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้น และสอดรับกับนโยบายด้านประชากรที่มีการตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ