จีน...ญี่ปุ่น...เกาหลีใต้...เดินหน้าทำ FTA ที่จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 23, 2014 15:16 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

แม้จะอยู่ในภาวะตึงเครียดทางการเมืองและความสัมพันธ์ที่ตกต่ำถึงขีดสุด การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ (China-Japan-Korea FTA : CJK) รอบที่ 4 จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ณ กรุงโซล ยังคงเดินหน้าต่อ โดยเน้นการจัดทำรูปแบบการลดภาษี และแนวทางการเปิดตลาดภาคบริการ การลงทุน และประเด็นอื่นๆ

การเจรจา CJK มิใช่เรื่องใหม่ หากแต่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1999 ในช่วงการประชุมผู้นำจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ที่จัดขึ้นในช่วงเดียวกันกับการประชุมผู้นำ ASEAN+3 อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2002-2009 แต่ละประเทศใช้เวลาในการทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการทำ CJK อย่างไม่เป็นทางการ โดยได้มีการเริ่มการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2010 และการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2012 ต่อมาได้มีการประกาศทำ CJK อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2012 และการเริ่มต้นการเจรจารอบแรกในเดือนมีนาคม 2013

ในช่วงที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสามประเทศอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างเห็นได้ชัด การเยือนศาลเจ้าYasukuni เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (นายชินโซ อาเบะ) สร้างกระแสการต่อต้านจากจีนและเกาหลีใต้อย่างหนัก อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าตอกย้ำจุดยืนในนโยบายการเสริมกำลังทหารและความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนกรณีพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่น กรณีการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะเตี้ยวหยูหรือเกาะเซ็นกากุ จีนแสดงจุดยืนชัดเจนด้วยการปฏิเสธการประชุมต่างๆ กับญี่ปุ่น โดยเฉพาะการประชุมกับนายอาเบะ ดังนั้น การประชุมเจรจา CJK รอบที่ 4 จึงเปรียบเสมือนชัยชนะทางการทูตที่ทั้งสามประเทศกลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง โดยไม่นำประเด็นทางการเมืองมาปนกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่พึงได้ร่วมกัน

เมื่อพิจารณา GDP ของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมกันพบว่า คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของ GDP โลก โดยการค้ารวมของสามประเทศคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 17.5 ของการค้ารวมของโลก นอกจากนั้น ทั้งสามประเทศยังมีความสำคัญต่อกันและกัน กล่าวคือ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่น การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ากว่า 332 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2012 ในขณะที่ เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 (รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป) ของญี่ปุ่น การค้าสองฝ่ายระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีมีมูลค่ากว่า 103 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 และ 4 ของจีน โดยมีมูลค่าการค้ารวม 332 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 257 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ จีนและญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าลำดับที่ 1 และ 2 สำหรับเกาหลีใต้

การเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ (China-Japan-Korea FTA : CJK)

การเจรจา CJK นั้น เริ่มเจรจามาตั้งแต่ปี 2012 ที่มีกระแสการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คู่ขนานไปกับการเจรจาทำความตกลง FTA ขนาดใหญ่ 2 ฉบับ คือ Trans-Pacific Partnership (TPP) และในขณะเดียวกัน แต่ละประเทศได้เดินหน้าทำ FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ คู่ขนานกันไปด้วย ได้แก่

  • จีน อยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับ ออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้
  • ญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับออสเตรเลีย มองโกเลีย และเกาหลีใต้
  • เกาหลีใต้ อยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ล่าสุด ความตกลงสามฝ่ายว่าด้วยการลงทุนระหว่างจีน เกาหลี และญี่ปุ่น มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยความตกลงฯ นี้ครอบคลุมการคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และถือเป็นความตกลงทางเศรษฐกิจฉบับแรกระหว่าง 3 ประเทศ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และเป็นความตกลงนำร่องก่อน CJK

ความตกลงสามฝ่ายว่าด้วยการลงทุนฉบับนี้จะช่วยสร้างบรรยากาศในการลงทุนที่โปร่งใสและมีเสถียรภาพ และจะช่วยขยายการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสามประเทศภาคี สำหรับจีน มณฑลทางตอนเหนือน่าจะได้รับประโยชน์จากความตกลงฯ นี้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักและมีที่ตั้งเหมาะในการเชื่อมโยงกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และปัจจุบันพบว่า ในมณฑลจี๋หลินเพียงมณฑลเดียว มีผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นมากกว่า 200 บริษัท และผู้ประกอบการเกาหลีใต้มากกว่า 900 บริษัท เข้าไปลงทุนในมณฑลดังกล่าว

การเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-เกาหลีใต้

หลังการเจรจาจัดทำ FTA กว่า 7 รอบ ถือได้ว่า จีนและเกาหลีใต้ได้เจรจาระยะที่ 1 (First-Stage FTA Talk) เสร็จสิ้นเมื่อเดือนกันยายน 2556 โดยได้ข้อสรุปประเด็นกรอบการเจรจาและหลักการสำหรับการเจรจา และเข้าสู่การเจรจาระยะที่ 2 (Second-Stage FTA Talk) โดยจีนและเกาหลีใต้เร่งเดินหน้าเจรจาจัดทำความตกลง FTA อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การเจรจารอบที่ 10 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังคงไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากต่างต้องการเปิดตลาดในกลุ่มสินค้าที่อีกฝ่ายมีความอ่อนไหว

สำหรับการเจรจาการเปิดตลาดสินค้า สองฝ่ายตกลงในหลักการให้มีการยกเลิกภาษีนำเข้าร้อยละ 90 โดยอาจมีการทบทวนปรับเป้าดังกล่าวให้สูงขึ้นในการเจรจาระยะต่อไป โดยรวมเกาหลีใต้ผลักดันให้จีนเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม ในขณะที่จีนต้องการให้เกาหลีใต้เปิดตลาดสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้พยายามให้หลักประกันแก่เกษตรกรว่า จะมีมาตรการปกป้องและมาตรการรองรับที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรรมเกษตรและประมง เพื่อมิให้เกษตรกรเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีกับจีน

ประเด็นอื่นๆ ที่รวมอยู่ในการเจรจาประกอบด้วย การค้าบริการ การลงทุน มาตรการเยียวยาทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร SPS TBT ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน สิ่งแวดล้อม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

จีนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจารอบที่ 11 โดยยังไม่ได้กำหนดวันและสถานที่ อย่างไรก็ดี คาดว่านักเจรจาของสองฝ่ายจะต้องเร่งเจรจาหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ เนื่องจากผู้นำเกาหลีใต้และจีนได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะลงนามในความตกลง FTA ฉบับนี้ภายในปีนี้

นับตั้งแต่จีนและเกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 1992 การค้าสองฝ่ายเติบโตแบบก้าวกระโดด และขยายตัวกว่า 50 เท่า โดยปัจจุบัน การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ากว่า 256 พันล้านเหรียญ ในปี 2012 ทำให้จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ โดยสัดส่วนการส่งออกของเกาหลีไปตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของการส่งออกรวม

บทวิเคราะห์
  • ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จะยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในทิศทางบวกและจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทุกประเทศจึงต้องการสร้างความมั่นใจว่า จะไม่ตกขบวนกระแสการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การทำ CJK ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การเจรจา Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่ตั้งเป้าให้มีข้อสรุปในปี 2015
  • ประเทศสมาชิกอาเซียนที่กำลังมาแรง ที่ดึงดูดการลงทุนและความสนใจของนานาชาติสำหรับการทำ FTA ได้แก่ เวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เนื่องจากมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสินค้าส่งออกที่คล้ายคลึงกับไทย ปัจจุบันจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ได้ขยายการลงทุนในเวียดนาม ด้วยเหตุผลด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า สำหรับอินโดนีเซีย มีจุดดึงดูดสำคัญ คือ ตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ด้วยประชากรกว่า 240 ล้านคน
  • ปัจจุบันไทยมีความตกลง FTA กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลี แต่ผลประโยชน์ภายใต้กรอบอาเซียน-คู่เจรจา จะไม่ลึกเท่ากับความตกลง FTA ทวิภาคี ซึ่งปัจจุบัน ในบรรดา 3 ประเทศข้างต้น ไทยมี FTA กับญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว แม้ไทยกับเกาหลีจะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ามาอย่างยาวนาน แต่กลับมีการเติบโตทางการค้าและการลงทุนที่ขยายตัวในอัตราที่ลดลง หากเกาหลีใต้ได้ข้อสรุปการเจรจา FTA กับเวียดนามและอินโดนีเซีย ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดเกาหลีใต้อย่างมีนัยสำคัญ
  • ในขณะที่ จีนและเกาหลีใกล้จะมีข้อสรุป FTA ภายในปีนี้ การเจรจา CJK ยังไม่มีแนวโน้มจะมีข้อสรุปในปีนี้ สืบเนื่องจากปัญหาทางการเมืองและความสัมพันธ์กันเปราะบางระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่นที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ที่ส่งผลให้การเจรจา FTA ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีที่เริ่มในปี 2003 (หลังการศึกษาความเป็นไปได้กว่า 5 ปี) และเจรจาไปแล้วถึง 6 ครั้ง ต้องหยุดพักไปตามเจตนารมณ์ของเกาหลีในเดือนพฤศจิกายน 2014 แม้มีความพยายามจากญี่ปุ่นที่จะให้กลับมาเจรจากันอีก แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ นอกจากนั้น ความเป็นไปได้ที่จะมีการทำ FTA ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ มีสัดส่วนการค้ากว่าร้อยละ 13 ของการค้าโลก และสัดส่วนประชากรกว่าร้อยละ 21 ของประชากรโลก นั้นแทบจะไม่มี โดยมีเหตุผลหลักจากปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นที่ญี่ปุ่นยังไม่ได้ให้สถานะ Market Economy แก่จีน จึงไม่เคยมีแนวคิดในการทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ FTA ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ในช่วงที่ผ่านมา
  • หากจะมองผลกระทบของ CJK ต่อการเจรจา RCEP อาจจะกล่าวได้ว่า หากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีข้อสรุปใน CJK FTA อาจเป็น building block ที่จะส่งผลให้การเจรจา RCEP หรือ TPP ซึ่งจีนและเกาหลีใต้ได้ประกาศเจตนารมณ์สนใจเข้าร่วมการเจรจา มีความคืบหน้าได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อสรุปที่ได้จาก CJK ย่อมมีความลึกและกว้างกว่าข้อตกลงภายใต้ RCEP เนื่องจากผลประโยชน์ภายใต้ CJK จะเป็นข้อสรุปการเจรจาและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่าง 3 ประเทศ ในขณะที่พันธกรณีข้อผูกพันที่จะเกิดจากการเจรจา RCEP จะต้องขยายผลให้กับ ประเทศสมาชิก RCEP 16 ประเทศ ที่เข้าร่วมการเจรจา ซึ่งหมายรวมถึง อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ด้วย

ที่มา: www.bilaterals.org , www.chinabriefing.com Library Briefing (the European Parliament), 12 September 2013 Xinhau News, Yonhap News

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ