ตุรกีลงนาม FTA ฉบับแรกกับประเทศในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 24, 2014 15:25 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเดินทางเยือนตุรกีอย่างเป็นทางการ โดยมี Highlight สำคัญ คือ การเข้าร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ตุรกี-มาเลเซีย โดยทั้งสองฝ่ายหวังว่า FTA ฉบับนี้ จะทำให้การค้าของทั้งสองประเทศขยายตัวยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าร่วมกันเป็น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอีก 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย

นาย Najib Razak นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและคณะได้เดินทางเยือนตุรกีอย่างเป็นทางการเพื่อ เข้าร่วมการประชุมในหัวข้อTurkey-Malaysia Strategic Partnership in a Globalizing Asia ที่สถาบันการวิจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม (Foundation for Political, Economic and Social Research) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยประเด็นหลักที่มีการประชุมประกอบด้วย การเงินอิสลาม (Islamic finance) การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และ ความร่วมมือในประเทศกำลังพัฒนาในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจตุรกี (นายNihat Zeybekci) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรมมาเลเซีย (นาย Y.B. Dato Sri Mustapa Mohamed) ได้ร่วมลงนาม FTA ระหว่างตุรกีกับมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีของการครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตตุรกี-มาเลเซีย

การเจรจา FTA ตุรกี-มาเลเซียได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2553 เจรจาทั้งสิ้น 9 รอบ รวมระยะเวลา 4 ปี โดยการเจรจารอบสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่ 13-15 มกราคม 2557 ณ กรุงอังการา และจะมีผลใช้บังคับหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในเสร็จสิ้นแล้ว FTA ตุรกี-มาเลเซีย ครอบคลุมเพียงการเปิดตลาดการค้าสินค้า และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า อาทิ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การเยียวยาทางการค้า เป็นต้น โดยตุรกีได้ลดภาษีเป็นศูนย์ให้กับมาเลเซีย ร้อยละ 87 ของรายการสินค้าทั้งหมด และมาเลเซียได้ลดภาษีเป็นศูนย์ให้กับตุรกีร้อยละ 98.86 ของรายการสินค้าทั้งหมด และมีระยะเวลาลดภาษีนานที่สุด 8 ปี สำหรับการเจรจาเปิดตลาดการค้าบริการนั้น จะเริ่มขึ้นหลังจาก FTA มีผลใช้บังคับแล้ว 1 ปี การลงนาม FTA ครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายหวังว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายการค้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า บทวิเคราะห์ 1) ประโยชน์ที่ตุรกีและมาเลเซียจะได้รับจากการจัดทำ FTA

FTA ตุรกี-มาเลเซีย เป็น FTA ฉบับแรกที่ตุรกีจัดทำกับประเทศในภูมิภาค ASEAN และเป็น FTA ฉบับที่ 2 ที่ตุรกีทำกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยฉบับแรกที่ตุรกีทำกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย คือ FTA ตุรกีเกาหลีใต้ ซึ่งมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความ สนใจของตุรกีที่จะขยายการค้ามายังภูมิภาคเอเชีย รวมทั้ง ASEAN นอกจากนี้ ตุรกียังสนใจที่จะจัดทำ FTA กับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่เจรจา FTA กับสหภาพยุโรป เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ประโยชน์ที่ตุรกีจะได้รับจาก FTA ฉบับนี้ คือ การนำเข้าสินค้าทุนจากมาเลเซียที่มีราคาถูกลง อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้า ยางพารา เครื่องจักรกล ส่วนมาเลเซียย่อมจะยินดีกับ FTA ฉบับนี้ เพราะสิทธิ GSP ที่ตุรกีให้กับสินค้าส่งออกของมาเลเซียได้หมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2556 และมาเลเซียส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิ GSP ถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดไปยังตุรกี ดังนั้นการลงนาม FTA กับตุรกี ทำให้สินค้าส่งออกของมาเลเซียไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิทธิ GSP ของตุรกีอีกต่อไป 2) ผลกระทบของ FTA ตุรกี - มาเลเซียที่มีต่อไทย

เนื่องจากโครงสร้างสินค้าส่งออกหลักของไทยและมาเลเซียไปยังตุรกี เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเหมือนกัน และมีรายการสินค้าส่งออกหลักที่ใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก ได้แก่ เครื่องจักรกล ยางพารา พลาสติก เส้นใยสั้นประดิษฐ์ และเครื่องจักรไฟฟ้า จึงเป็นไปได้ว่า หลังจาก FTA ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ สินค้าของมาเลเซียอาจ เข้ามาเป็นคู่แข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดตุรกี ดังนั้น หากไทยไม่เร่งให้มีการเจรจาจัดทำ FTA กับตุรกี อาจเกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าจากไทยไปยังมาเลเซีย และทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับมาเลเซียได้

ไทยยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิ GSP ของตุรกีเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าส่งออกสินค้าไปยังตุรกีที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP ทั้งหมด ถึงแม้ว่าตุรกียังไม่ได้ประกาศว่าระงับการให้สิทธิ GSP แก่สินค้าไทยในขณะนี้ แต่มีความเป็นไปได้ที่ไทยอาจจะถูกระงับการให้สิทธิ GSP ในอนาคต เนื่องจากตุรกีใช้หลักเกณฑ์การให้สิทธิ GSP เช่นเดียวกับ EU และ EU จะระงับการให้สิทธิ GSP แก่ไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ประเด็นสิทธิ GSP จึงเป็นประเด็นที่สำคัญต่อการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งประเด็นนี้ มาเลเซียกลับไม่ต้องกังวลเรื่องสิทธิ GSP เพราะได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากการจัดทำ FTA กับตุรกี 3) ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

ตุรกีให้ความสนใจจัดทำ FTA กับไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งไทยเล็งเห็นว่า การขยายโอกาสทางการค้ากับตุรกีจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนไทย เพราะตุรกีมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ อาทิ สหภาพยุโรป ภูมิภาค CIS ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตอนเหนือ และในขณะเดียวกัน ตุรกีก็มองว่าไทยสามารถเป็น gateway ของอาเซียนได้เช่นกัน

ปัจจุบันกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดจ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิสวค.) ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ไทย-ตุรกี และจัดการประชุมระดมความเห็น ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ซึ่งกรมฯ ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจไทย-ตุรกี สมาคมยางพาราไทย รวมถึงผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมอาหาร ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยภาคเอกชนทั้ง 3 อุตสาหกรรมต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า การทำ FTA ไทย-ตุรกี เป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย เพราะตุรกีมีศักยภาพในการเป็น Hub กระจายสินค้าไปยังหลายๆ ภูมิภาค อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิต เพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศข้างเคียงอีกด้วย ได้แก่ ภูมิภาค CIS ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตอนเหนือ ด้วยเหตุนี้เอง ตุรกีจึงเป็นประเทศที่มีความน่าดึงดูดที่จะให้ผู้ประกอบการไทยไม่น้อยเข้าไปลงทุน นอกจากนี้ ผู้แทนจากภาคเอกชนยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้าสินค้าในตลาดตุรกีของแต่ละอุตสาหกรรม

3.1) อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตุรกีมีประชากรกว่า 70 ล้านคน จึงมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ และปริมาณการบริโภคอาหารสูงตามไปด้วย อาหารหลักของชาวตุรกีและเป็นสินค้าส่วนใหญ่ในตลาดตุรกี คือ ขนมปัง ธัญพืช นม และโยเกิร์ต นอกจากนี้ ประชากรกว่าร้อยละ 90 เป็นมุสลิม สินค้าอาหารฮาลาลจึงเป็นสินค้าหลักและเติบโตได้ในตลาดตุรกีเช่นกัน ในปัจจุบันสินค้าอาหารของไทยที่ส่งออกไปยังตุรกี ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง และหอยนางรม ทั้งนี้ ยังมีสินค้าของไทยอีกหลายประเภทที่มีโอกาสส่งออกไปยังตลาดตุรกี ได้แก่ อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารฮาลาล สำหรับแนวโน้มของพฤติกรรมการบริโภคของชาวตุรกี เนื่องจากตุรกีเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงประกอบกับมีความพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้า สินค้าอาหารที่ส่งออกจึงควรเป็นอาหารที่มีคุณภาพและอุดมไปด้วยโภชนาการที่ดี (Healthy Food)

3.2) อุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ การส่งออกสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ไปยังตุรกี ยังมีโอกาสเติบโตได้เรื่อยๆ เนื่องจากตุรกีมีปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่ค่อนข้างสูง ซึ่งในปี 2556 ตุรกีเป็นประเทศที่มีการใช้ยางมากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก เนื่องจากตุรกีเป็นฐานการผลิตของบริษัทยางรถยนต์หลายบริษัท ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าต้นน้ำ ได้แก่ น้ำยาง ยางดิบ และสินค้ากลางน้ำ ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง โดยรวมแล้วไทยส่งออกยางพาราไปยังตุรกีประมาณปีละ 15,000 ตัน ซึ่งไทยมีคู่แข่งขันสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ คือ มาเลเซีย เนื่องจากตุรกีมักจะนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากมาเลเซียมากกว่า โดยเชื่อว่าคุณภาพของสินค้าดีกว่าสินค้าของไทย สำหรับข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้ เอกชนต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมการผลิตสินค้าปลายน้ำให้มากขึ้น ได้แก่ ถุงมือ ยางล้อรถยนต์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าส่งออก และประชาสัมพันธ์คุณภาพของสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดตุรกี

3.3) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ตุรกีเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อันดับที่ 17 ของโลก และ มีนโยบายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างมาก โดยตุรกีตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อันดับ 10 ของโลกให้ได้ในปี 2558 ตุรกีมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของรถตู้และรถบรรทุกขนาดใหญ่ให้กับตลาด EU ดังนั้น มาตรฐานการผลิตจึงเป็นมาตรฐานแบบยุโรปที่เรียกว่า E-mark ในขณะที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถกระบะที่ผลิตให้กับตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก มาตรฐานการผลิตของไทยจึงเป็นมาตรฐานแบบญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการผลิตของยุโรปและตุรกีกับญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน ชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่ผลิตตรงตามมาตรฐานยุโรปยังมีน้อย การส่งออกสินค้าไปยังตลาดตุรกีอาจเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ตุรกียังมีการส่งเสริมการวิจัยเพื่อการพัฒนา (R&D) รวมทั้งให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสีเขียว จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานที่เข้มข้นขึ้น ดังนั้น ในการเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยในสาขานี้ ไทยอาจพิจารณาเข้าไปร่วมลงทุน (Joint Venture) กับตุรกี เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งอาจใช้ตุรกีเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาด EU ได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 เวลา 09.00 - 17.00 น. ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยช่วงเช้ามีการระดมความคิดเห็นในสาขาอาหาร ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และช่วงบ่ายในสาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องจักรกล ซึ่งภาคเอกชนได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการค้าระหว่างไทยกับตุรกี อีกทั้งร่วมกันแสดงความคิดเห็นในสาขาต่างๆ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการศึกษา FTA ไทย-ตุรกี ต่อไป.

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ