นาย Nihat Zeybekci รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจตุรกี ได้แจ้งในระหว่างการประชุมกรอบความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและการค้าตุรกี - สหรัฐอเมริกา (Framework for Strategic Economic and Commercial Cooperation) ครั้งที่ 3 ว่าตุรกีต้องการเข้าร่วมการเจรจาจัดทำ The Transatlantic Trade and Investment Partnership หรือ TTIP ซึ่งเป็นการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 2 ฝ่าย คือ สหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากตุรกีเห็นว่า TTIP จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจตุรกีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาเห็นว่า การเจรจา TTIP ได้ดำเนินการมาสักระยะหนึ่งแล้ว และทางออกที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับตุรกี คือ การจัดทำ FTA แบบทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา
สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้เริ่มเจรจา TTIP รอบแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 และได้เจรจาไปแล้วทั้งสิ้น 5 รอบ การเจรจารอบที่ 6 จะมีขึ้นกลางเดือนกรกฎาคม 2557 ทั้งนี้ FTA ดังกล่าวเป็นการเปิดเสรีทางการค้าแบบ comprehensive กล่าวคือ ครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งภาษีและมิใช่ภาษี ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายที่จะยกเลิกภาษีทุกรายการสินค้า เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปโดยเสรี แม้ว่าสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกามีอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยทุกรายการสินค้าที่ต่ำอยู่แล้วก็ตาม (สหภาพยุโรปเฉลี่ยร้อยละ 5.2 และสหรัฐอเมริกา เฉลี่ยร้อยละ 3.5) และคาดว่า TTIP จะช่วยให้เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเติบโตเฉลี่ยประมาณ 119 พันล้านยูโรต่อปี และเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเติบโตเฉลี่ยประมาณ 95 พันล้านยูโรต่อปี
ในขณะเดียวกัน การจัดทำ TTIP ทำให้ตุรกีกังวลอย่างมาก เนื่องจากตุรกีและสหภาพยุโรปเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) เดียวกัน หาก TTIP มีผลใช้บังคับอาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade diversion) ระหว่างตุรกีกับสหรัฐอเมริกาได้ กล่าวคือ สหรัฐอเมริกาจะหันไปนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปแทนการนำเข้าจากตุรกี เนื่องจากมีภาษีเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ตุรกียังจะได้รับผลกระทบในแง่ของสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาที่จะสามารถเข้ามายังตลาดตุรกีผ่านทางสหภาพศุลกากรสหภาพยุโรป-ตุรกีมากขึ้น โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์การขนส่ง (Transport equipment) ยานยนต์ เหล็ก และหินอ่อน สำหรับผลกระทบภาพรวมทางเศรษฐกิจ พบว่า ตุรกีจะสูญเสียสวัสดิการทางเศรษฐกิจ (welfare) ประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ และในระยะยาว GDP ของตุรกีจะลดลงประมาณ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในทางกลับกัน หากตุรกีสามารถจัดทำ FTA กับสหรัฐอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จ ตุรกีก็จะสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.47 และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นสินค้าที่ตุรกีมีศักยภาพ
จากผลกระทบข้างต้นจะเห็นว่า ตุรกีจำเป็นต้องจัดทำ FTA กับประเทศที่สามที่สหภาพยุโรปได้จัดทำ FTA ด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์และรักษาระดับความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าตุรกีไว้ ดังนั้น ตุรกีจึงพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาจัดทำ TTIP
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630