ความคืบหน้าการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของสหภาพยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 3, 2014 13:48 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

จากกรอบนโยบายการดำเนินมาตรการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 อันได้แก่ การปฏิรูปเศรษฐกิจ กระตุ้นการจ้างงาน และเสริมสภาพคล่องโดยธนาคารกลาง ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเริ่มฟื้นตัวขึ้น และพร้อมจะดำเนินการเจรจา FTA ด้วยนโยบาย Trade, Growth & World Affairs เพื่อมุ่งให้ทั่วโลกเกิดการค้าเสรีที่เป็นธรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดโอกาสให้ผู้ส่งออก นักลงทุน และแรงงานยุโรปเข้าสู่ตลาดของคู่ค้าสำคัญได้ เป้าหมายของสหภาพยุโรปในการจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 275,000 ล้านยูโร และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านอัตรา ในช่วงต้นปี 2557 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปมีความคืบหน้าและประเด็นท้าทายต่างๆ ในการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ดังนี้

สหภาพยุโรป - สหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 19 - 23 พฤษภาคม 2557 สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้เจรจาความตกลงการค้าเสรี ซึ่งเรียกว่า Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) รอบที่ 5 ณ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา โดยมีประเด็นหารือสำคัญ ได้แก่ การค้าสินค้าและบริการ การลงทุน มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สิ่งแวดล้อม แรงงาน และพลังงาน TTIP มีประเด็นท้าทายหลายประการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งสองฝ่ายแสดงความกังวล ฝ่ายภาคประชาสังคมยุโรปเห็นว่า ประเด็นการปรับประสานกฎระเบียบร่วมกันเพื่อสร้างบรรทัดฐานสากลนั้น จะนำไปสู่การลดหย่อนมาตรฐานการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพแรงงาน และความปลอดภัยด้านอาหาร โดยประชาชนผู้ยากไร้ทางใต้และตะวันออกของยุโรปจะได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมยุโรปจำนวน 178 องค์กร ได้ออกมายื่นหนังสือต่อผู้แทนการค้าของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้มีการเปิดเผยร่างข้อบทและประเด็นเจรจาที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าคณะเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรปจะย้ำว่า TTIP จะไม่เป็นการลดระดับมาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ตาม

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้ระงับการเจรจาในประเด็นข้อบทกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน (Investor-state Dispute Settlement- ISDS) เป็นระยะเวลา 90 วัน เพื่อจัดทำการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (public consultation) ส่งผลให้ไม่มีการเจรจาข้อบทการคุ้มครองการลงทุนและ ISDS ในการเจรจารอบที่ 5 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ฝ่ายเยอรมนี ได้แสดงท่าทีปฏิเสธการมีข้อบทดังกล่าวอยู่ในความตกลง TTIP เนื่องจากเห็นว่า การที่นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิยื่นฟ้องรัฐบาล เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ขาดสมดุลเชิงอำนาจเพราะมักมีการตีความเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน ซึ่งในความเป็นจริง นักลงทุนทั้งสองฝ่ายจะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายที่เหมาะสมอยู่แล้ว

ฝ่ายภาคประชาสังคมสหรัฐฯ นั้น The Sierra Club ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงข้อคิดเห็นต่อร่างข้อบทพลังงานใน TTIP ว่าการกำหนดให้สหภาพยุโรปสนับสนุนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากสหรัฐฯ ขัดแย้งต่อนโยบายการลดภาวะโลกร้อนของทั้งสองฝ่าย และเสนอให้สนับสนุนการใช้ พลังงานสะอาด นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จำนวน 177 คน ได้ร่วมลงนามไม่เห็นด้วยในการจดทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication- GI) บางประเภทของสหภาพยุโรป เช่น เฟสต้าชีส พาร์เมซานชีส เนื่องจากมองว่ามีหลายประเทศในโลกที่สามารถผลิตสินค้าดังกล่าวได้ดีและมีชื่อเสียงกว่า อีกทั้งยังเป็นชื่อสามัญ (common name) ในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการ จึงไม่สมเหตุสมผลที่สหภาพยุโรปจะจดทะเบียน GI เพื่อกีดกันทางการค้า

TTIP จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ปรับประสานมาตรการด้าน NTBs ให้สอดคล้องร่วมกับการพัฒนากฎระเบียบต่างๆ อาทิ การเข้าถึงแหล่งพลังงาน พิธีการทางศุลกากร และนโยบายการแข่งขัน เป็นต้น ทั้งนี้ การค้าสองฝ่ายในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าลดลงเหลือร้อยละ 17 จากร้อยละ 19 จึงคาดว่า TTIP จะช่วยกระตุ้นให้การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ภายในปี 2570

สหภาพยุโรป - แคนาดา

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 นายกรัฐมนตรีของแคนาดาและประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ได้ประกาศสรุปผลการเจรจา Comprehensive Economic and Trade Agreement (CETA) แล้วในประเด็นสำคัญ แต่ยังมีประเด็นทางเทคนิคที่ต้องเจรจาหาข้อสรุปให้ได้ก่อนลงนามและดำเนินการภายในเพื่อให้การรับรองความตกลง เช่น การกำหนดช่วงเวลาทยอยยกเลิกภาษี กฎระเบียบที่เกี่ยวกับโควตานำเข้าเนื้อวัวและเนื้อหมูจากสหภาพยุโรป และการกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน นอกจากนี้ ผู้นำของทั้งสองฝ่ายคาดหวังว่าจะสรุปประเด็นทางเทคนิคได้ภายในกลางปี 2557 ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้ความตกลง CETA มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการจะใช้เวลาถึง 2 ปี เนื่องจากสหภาพยุโรปจะต้องแปลความตกลงฯ เป็นภาษาทางการ 23 ภาษาและขอความเห็นชอบจากคณะมนตรียุโรปและรัฐสภายุโรป อย่างไรก็ดี สำหรับข้อบท ISDS ที่ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น สหภาพยุโรปอาจกลับมาเจรจาในประเด็นนี้อีกครั้งหลังจบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งอาจทำให้การสรุปผลการเจรจาล่าช้าออกไป สหภาพยุโรปและแคนาดามุ่งหวังให้ CETA เป็นเครื่องมือในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายคาดว่าเมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ จะเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าและบริการระหว่างกันร้อยละ 22.9 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 25,700 ล้านยูโร ตลอดจนเกิดการสร้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจราว 11,600 ล้าน ยูโรต่อปี

สหภาพยุโรป - ญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม - 4 เมษายน 2557 สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นได้เจรจา FTA รอบที่ 5 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีประเด็นหารือสำคัญ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อเสนอด้านการเปิดตลาดระหว่างกัน มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน มาตรการปกป้องสองฝ่าย (bilateral safeguards) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การค้าบริการ การลงทุน การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน สวัสดิภาพสัตว์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายการแข่งขัน และกลไกการระงับข้อพิพาท เป็นต้น ตามที่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป มีมติให้สหภาพยุโรปสามารถระงับการเจรจา FTA กับญี่ปุ่นได้ หากนโยบายลดหย่อน NTMs สินค้าประเภทอาหารและรถยนต์ ไม่มีความคืบหน้าภายใน 1 ปี นั้น ล่าสุด สหภาพยุโรปได้ทบทวนนโยบายของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 และมีมติว่าจะดำเนินการเจรจา FTA ต่อไปโดยไม่กดดันญี่ปุ่นมากเพื่อรักษาความเชื่อมั่นระหว่างกัน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีภาษีนำเข้าสินค้าของสหภาพยุโรปหลายประเภทเป็นศูนย์ อาทิ รถยนต์ และวิสกี้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปยังคงยืนยันให้ญี่ปุ่นยกเลิกการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่รถยนต์ในประเทศที่มีขนาดเครื่องยนต์เล็ก ตลอดจนต้องการให้ญี่ปุ่นยอมรับมาตรฐาน ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล เพื่อมิให้ผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

สหภาพยุโรป - ประเทศสมาชิกอาเซียน

ไทย สหภาพยุโรปและไทยได้เจรจา FTA ไปแล้วทั้งสิ้น 4 รอบ โดยมีการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8-10 เมษายน ที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ประเด็นที่มีการหารือ ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้าและบริการ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้า การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และทรัพย์สินทางปัญญา

เวียดนาม การเจรจารอบที่ 8 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23-27 มิถุนายน ศกนี้ โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะสรุปผลการเจรจาภายในปลายปี 2557 นอกจากนี้ สหภาพยุโรปมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเวียดนามในด้าน การพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อลดความยากจน ในช่วงปี 2557-2563 โดยดำเนินการผ่านความตกลง PCA และการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการอื่นๆ ซึ่งเวียดนามได้ตอบรับความช่วยเหลือดังกล่าวและพร้อมเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปให้แน่นแฟ้นขึ้น ในปี 2556 แม้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำ แต่ทั้งสองฝ่ายมีการค้า ระหว่างกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 25,000 ล้านยูโร โดยสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเวียดนาม

ฟิลิปปินส์ ทั้งสองฝ่ายอยู่ในระหว่างการหารือเพื่อจัดทำเอกสารขอบเขตการเจรจา FTA (scoping exercise) ในเบื้องต้น ฟิลิปปินส์ต้องดำเนินการแก้ไขสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างชาติ ให้เป็นไปตามที่สหภาพยุโรปเรียกร้อง แต่อาจเป็นไปได้ยากเนื่องจากฟิลิปปินส์ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น ฟิลิปปินส์ไม่ต้องการแก้ไขกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทที่เข้าร่วมประมูลต้องมีชาวฟิลิปปินส์ถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ทั้งนี้ กำหนดการหารือเพื่อจัดทำเอกสาร scoping exercise ครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2557 และคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในปี 2557

สหราชอาณาจักรผลักดันให้สหภาพยุโรปเจรจา FTA กับฟิลิปปินส์เป็นอย่างมาก โดยต้องการให้เป็น ความตกลง FTA แบบรอบด้านที่มีข้อยกเว้นน้อยที่สุด เพื่อให้การค้าเสรียังประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคทั้งสองฝ่ายในแง่ของราคาและคุณภาพสินค้า ตลอดจนการขยายความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันทางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) อย่างไรก็ตาม ภาคประมงฟิลิปปินส์เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดแนวนโยบายช่วยเหลือชาวประมงรายเล็กที่จะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้าประมงนำเข้าจาก สหภาพยุโรป ทั้งนี้ สินค้าประมงนับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของฟิลิปปินส์ โดยตั้งแต่ปี 2552-2553 มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 เทียบกับปี 2554-2555 ที่มีมูลค่าการส่งออกเพียงร้อยละ 8.8 คาดว่า FTA จะส่งผลให้ภาคการประมงของฟิลิปปินส์มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

มาเลเซีย สหภาพยุโรปได้เจรจา FTA กับมาเลเซียไปแล้วทั้งสิ้น 7 รอบ โดยล่าสุดได้เจรจารอบที่ 7 เมื่อเดือนเมษายน 2555 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แต่การเจรจาได้หยุดชะงักไปเป็นเวลา 1 ปี มีเพียงการประชุมทางไกล (Video conference) ระหว่างหัวหน้าคณะเจรจาเท่านั้น ทำให้ความคาดหวังของทั้งสองฝ่ายที่จะบรรลุผลการเจรจาภายในต้นปี 2558 นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะนอกจากจะขาดความต่อเนื่องในการเจรจาแล้ว มีหลายประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ อาทิ การเปิดตลาดสินค้า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และนโยบายการแข่งขัน เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดทำ FTA จะทำให้มาเลเซียได้รับการลดหย่อนหรือเว้นภาษีเพื่อเป็นแต้มต่อในการแข่งขันแทนการถูกตัดสิทธิ GSP ภายในปี 2557 ส่วนสหภาพยุโรปมองว่ามาเลเซีย มีแนวโน้มการเปิดเสรีด้านการค้าบริการที่สูงขึ้นจาก New Economic Model ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลักดันให้มาเลเซียเป็นประเทศ high-income economy ในปี 2563 อย่างไรก็ดี การจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรปเป็นความท้าทายของมาเลเซียในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายประเด็นหากมาเลเซียรับข้อเสนอของสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปมุ่งมั่นเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า โดยการลดหย่อนภาษี ตลอดจนมาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่ได้ครอบคลุมในการเจรจาระดับพหุภาคี ดังนั้น การจัดทำ FTA ของสหภาพยุโรปจึงมีลักษณะรอบด้านและมีการใช้มาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน และสิ่งแวดล้อม มาเชื่อมโยงกับการค้า ทั้งนี้ ข้อเสนอและท่าทีของสหภาพยุโรปใน TTIP จะสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการเจรจาที่อาจเป็นแบบแผนในการเจรจา FTA กับประเทศอื่นๆ ประเทศคู่เจรจาจึงควรต้องติดตามการเจรจา TTIP อย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา : สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์

www.bilaterals.org

www.europa.eu

http://www.europarl.europa.eu

สำนักยุโรป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

พฤษภาคม 2557

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ