พรรคการเมืองชาตินิยมขวาจัด-ต้าน EU ได้คะแนนท่วมท้นในศึกเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 3, 2014 13:59 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปเมื่อระหว่างวันที่ 22-25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าพรรคการเมืองขวาจัดแนวชาตินิยม และพวกที่มีจุดยืนต่อต้านสหภาพยุโรป (EU) เป็นฝ่ายกวาดคะแนนเพิ่มขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสถึงกับยอมรับว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมานี้เป็นแรงสั่นสะเทือนไปทั้ง EU

รัฐสภายุโรป (European Parliament) จะมีการเลือกตั้งสมาชิกโดยตรงทุก 5 ปีจากแต่ละประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิก 751 คนจาก 28 ประเทศ แม้สมาชิกแต่ละคนจะมาจากประเทศสมาชิก แต่การจัดกลุ่มภายในรัฐสภานั้นไม่ได้แบ่งตามสัญชาติ แต่แบ่งโดยนโยบายของพรรคการเมือง ภารกิจหลักของรัฐสภายุโรปจะเป็นการร่วมตัดสินใจกับคณะมนตรี (Council of the European Union) ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การพิจารณาร่างกฎหมายของสหภาพยุโรปที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เสนอ การอนุมัติงบประมาณของสหภาพยุโรป ให้การรับรองความตกลงระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปกับประเทศนอกกลุ่ม และให้การรับรองผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการยุโรป

การเลือกตั้งสภายุโรปนั้น แต่ละชาติสมาชิกจะจัดการเลือกตั้งภายในประเทศตน แล้วผู้ที่ได้รับเลือกจากประเทศต่างๆ ก็จะมาจับกลุ่มกันในสภาตามความโน้มเอียงด้านนโยบายรวม 7 กลุ่ม เช่น กลุ่มประชาชนยุโรป (European's People Party: EPP) กลุ่มประชาธิปไตยยุโรป (European Democrats) กลุ่มสังคมนิยม กลุ่มเสรีนิยม และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาตินิยม (Green) เป็นต้น โดยในอดีตที่ผ่านมา พรรคการเมืองขวาจัดหรือกลุ่มชาตินิยมซึ่งรวมกลุ่มกันในชื่อกลุ่มพันธมิตรเพื่อการเคลื่อนไหวของชาติในยุโรป (Alliance of European National Movements : AENM) มีจำนวนสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากชาติสมาชิกให้เข้ามาในรัฐสภายุโรปไม่มาก โดยการเลือกตั้งเมื่อปี 2552 มีสมาชิกกลุ่มไม่ถึง 30 คน (คิดเป็นร้อยละ 4) ของจำนวนสมาชิกในรัฐสภายุโรปทั้งหมด ส่วนกลุ่มการเมืองที่ครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภายุโรป ได้แก่ พรรคประชาชนยุโรป (European's People Party: EPP) ซึ่งครองที่นั่งถึง 274 ที่นั่ง (คิดเป็นร้อยละ 35.77) รองลงมาคือ กลุ่มสังคมนิยม มี 196 ที่นั่ง (คิดเป็นร้อยละ 25.59)

สำหรับการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป 2557 ครั้งล่าสุดนี้ แม้ว่าฝ่ายพันธมิตรพรรคอนุรักษ์นิยม พันธมิตรพรรคสังคมนิยม กลุ่มสังคมประชาธิปไตยและพรรคแนวร่วมสนับสนุน EU จะยังคงครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาชุดใหม่ แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงคือพรรคการเมืองขวาจัดชาตินิยมในยุโรปซึ่งชูนโยบายกีดกันผู้อพยพ และต่อต้านการรวมอำนาจของ EU ต่างได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยในฝรั่งเศส พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) และพรรคเอกราช (UKIP) ต่างสามารถเอาชนะพรรคใหญ่ๆซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในสองประเทศนี้ นอกจากนี้ พรรคการเมืองแนวขวาจัดทั้งในเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรีย โปแลนด์ ฮังการี ฟินแลนด์ กรีซ และอิตาลี ต่างได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากประชาชนในประเทศ ส่งผลให้แนวร่วมพรรคฝ่ายขวาจากทุกประเทศคว้าที่นั่งรวมกันได้มากกว่า 143 ที่นั่ง (คิดเป็นร้อยละ 19.04)

การที่พรรคการเมืองขวาจัดกวาดคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญในการเลือกตั้งสมาชิกองค์กรนิติบัญญัติของ EU ครั้งนี้ ทำให้บรรดาผู้นำการเมืองยุโรปและประเทศสมาชิกต้องกลับมาทบทวนแนวทางการพัฒนาในเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส (นายมานูเอล วาลส์) ได้เปรียบเทียบว่า นี่เสมือนเป็นแผ่นดินไหวทางการเมืองสั่นสะเทือนไปทั่ว EU ส่วนนักวิเคราะห์ทางการเมืองให้ข้อสังเกตว่า ผลของการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปนี้สะท้อนให้เห็นความไร้เสถียรภาพมีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่เคยทำลายเขตยูโรโซน ซึ่งส่งผลให้หลังจากที่ทราบผลการเลือกตั้ง ผู้นำ EU ได้จัดการประชุม ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมเพื่อหาทางรับมือกับแนวโน้มการแบ่งแยกยุโรปที่เริ่มมีบทบาทในรัฐสภายุโรป ทั้งนี้ ถือว่า EU กำลังเผชิญกับความท้าทายโดยต้องผลักดันการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงใหม่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส (นายฟรังซัวส์ ออลลองค์) ได้เสนอให้ปฏิรูป EU ให้เรียบง่าย ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ส่วนนายกรัฐมนตรีอังกฤษ (นายเดวิด คาเมรอน) ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งผู้นำยุโรป รวมทั้งรูปแบบการดำเนินงานของ EU ในปัจจุบัน ส่วนประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (นายโฮเซ มานูแอล บารอสโซ) แถลงว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำการเมืองระดับชาติและใน EU ต้องครุ่นคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับความรับผิดชอบของตน

สาเหตุที่ผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปพลิกผันและประชาชนหันมาลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองกลุ่มขวาจัด-ชาตินิยมมากขึ้นนั้น เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ของสหภาพยุโรปในปัจจุบันแล้ว คาดว่ามีผลมาจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจภายใน EU ซึ่งประชาชนใน EU ไม่พอใจกับแนวทางแก้ปัญหาของผู้นำใน EU เนื่องจากไม่เห็นว่าระบบการเมืองต่างๆใน EU และในรัฐบาลของตนจะแก้ไขปัญหาได้เท่าที่ควร รวมทั้งราคาสินค้า/ภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดปัญหาการว่างงาน และสวัสดิการสังคมที่ลดลงจึงก่อให้เกิดความคลางแคลงใจและเบื่อหน่ายต่อแผนปฏิรูปและแผนปฏิบัติการที่ขาดประสิทธิภาพของรัฐบาล การที่พรรคขวาจัดได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากในการเลือกตั้งที่ผ่านมาถือเป็นคำตอบที่ชัดเจนซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการรวมยุโรปเป็นเอกภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกสั่นคลอน

EU กำลังก้าวเข้าสู่บทพิสูจน์ครั้งสำคัญในการแสดงให้ประชาชนเห็นว่าการรวมยุโรปให้เป็นเอกภาพนำมาซึ่งประสิทธิภาพอย่างจริงจังและนำพลังที่เข้มแข็งและการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาให้แก่ทวีปนี้อย่างไรก็ดี การที่มีพรรคการเมืองขวาจัดเข้าเป็นสมาชิกรัฐสภายุโรปจำนวนมากนั้นถือเป็นความท้าทายว่าอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมขององค์กรและนโยบายด้านต่างๆ ของ EU ในอนาคตอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่กลุ่มพรรคอนุรักษ์นิยม กลุ่มสังคมนิยมและพรรคแนวร่วมสนับสนุน EU จะต้องรวมกลุ่มกันให้เหนียวแน่น เพื่อให้เพียงพอที่จะครองเสียงข้างมากและขับเคลื่อน EU ให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

สำนักยุโรป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มิถุนายน 2557

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ