ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง: ความก้าวหน้าในกว่า 20 ปีที่ผ่านมาและอนาคตข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 3, 2014 14:17 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า GMS ซึ่งย่อมาจาก Greater Mekong Sub-region Economic Cooperation ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน และกวางสี) ถูกริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) จากการที่ผู้นำของประเทศดังกล่าวได้มาพบหารือกันและเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มต้นจากการเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและการปรับประสานกฎระเบียบต่างๆ อันจะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค รวมถึงการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการขจัดความยากจนซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goal: MDG) ของประเทศสมาชิก

นับตั้งแต่ GMS ถูกก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี เราได้เห็นถึง การก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกหลายประเทศ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยเกือบร้อยละ 8 ต่อปีตลอดในช่วง 10 ปีแรกของการรวมกลุ่ม GMS และยังขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นในช่วง 10 ปีถัดมา โดยเฉพาะมณฑลกวางสี และยูนนาน ส่งผลให้รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของทั้งอนุภูมิภาคเพิ่มขึ้นด้วย คือ จากรายได้ต่อหัวที่อยู่ในช่วง 63 เหรียญสหรัฐฯ ในเมียนมาร์ ถึง 1,894 เหรียญสหรัฐฯ ในไทย ในปี 2535 เพิ่มขึ้นเป็น 832 เหรียญสหรัฐฯ ในเมียนมาร์ ถึง 5,394 เหรียญสหรัฐฯ ในไทย ในปี 2554 ทั้งยังทำให้ระดับความยากจนของประเทศสมาชิกในภาพรวมลดลง เช่น ในกัมพูชา ลดลงจากร้อยละ 45 ของประชากรทั้งหมด ในปี 2535 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2554 จีนตอนใต้ ลดลงจากร้อยละ 64 เป็นร้อยละ 13 ลาว ลดลงจากร้อยละ 56 เป็นร้อยละ 34 ไทย ลดลงจากร้อยละ 9 เป็นต่ำกว่าร้อยละ 1 และเวียดนาม ลดลงจากร้อยละ 64 เป็นร้อยละ 17 แนวโน้มการลดลงของระดับความยากจนนี้ ทำให้ประเทศสมาชิกมีความก้าวหน้าตามเป้าหมายของ MDG ไม่เพียงในด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงด้านสังคม ซึ่งวัดได้จากตัวเลขสถิติทางสังคม เช่น การลดลงของอัตราการตายของทารก (infant mortality rate) การเพิ่มขึ้นของอายุเฉลี่ยของประชากร (life expectancy) รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าเรียนในระดับประถมและมัธยม (primary and secondary school enrollment rate) และอัตราการรู้หนังสือ (literacy rate) ของประชากรในภาพรวม ตัวเลขสถิติดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นในดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Index: HDI) โดยเปรียบเทียบในช่วงปี 2533-2543 กับปี 2543-2554 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นทุกประเทศจากระดับต่ำมาอยู่ในระดับปานกลาง (ยกเว้นเมียนมาร์ ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ)

ผลสำเร็จของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมข้างต้นเป็นเครื่องยืนยันคุณภาพของนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศสมาชิก GMS รวมถึงความพยายามในการเปิดประเทศและการรวมตัวเข้ากับประเทศสมาชิกอื่นในอนุภูมิภาค รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียและในโลก โดยที่ผ่านมา สัดส่วนการเปิดประเทศ (openness ratio) ซึ่งวัดจากสัดส่วนการค้ารวมต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของแต่ละประเทศสมาชิก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก (ยกเว้นประเทศเมียนมาร์) โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนที่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ในปี 2535 เป็นมากกว่าร้อยละ 160 ในปี 2554 ขณะที่กัมพูชาและไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 100 ส่วนจีนและลาวก็มีตัวเลขสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน ด้านการลงทุน ในช่วงปี 2536-2553 ประเทศสมาชิก GMS ส่วนใหญ่มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการบริหารประเทศจากส่วนกลางมาเป็นระบบตลาด เช่น กัมพูชา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 0.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 5.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 49.66 เท่า ลาว เพิ่มขึ้นจาก 0.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 2.09 หรือเพิ่มขึ้น 34.83 เท่า และเวียดนาม เพิ่มขึ้นจาก 3.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 65.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 19.13 เท่า ขณะเดียวกัน แนวโน้มการเปิดประเทศของประเทศสมาชิก GMS ยังสะท้อนให้เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของการค้าระหว่างกันใน GMS ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี ในช่วงปี 2543-2552 ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศสมาชิก GMS มีการขยายตัวของการส่งออกและการนำเข้ากับประเทศอื่นๆ ในโลกเช่นกันแต่ในอัตราที่ต่ำกว่า คือ ในอัตราเฉลี่ย ร้อยละ 17.17 ต่อปี สำหรับการส่งออก และร้อยละ 16.29 ต่อปี สำหรับการนำเข้า อย่างไรก็ดี สัดส่วนการค้าระหว่างกันใน GMS ต่อการค้ารวมของประเทศ GMS ยังอยู่ในระดับต่ำ คือ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.31 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 6.14 ในปี 2552 แสดงให้เห็นว่า ประเทศสมาชิก GMS ยังมีพื้นที่อีกมากที่จะเพิ่มพูนการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความสะดวกในการเดินทางไปมา จากการที่มีชายแดนติดต่อกัน ผ่านการเชื่อมโยงทางถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศสมาชิก GMS มีสัดส่วนการเปิดประเทศเพิ่มขึ้นและการรวมตัวเข้ากับประเทศสมาชิกอื่น รวมถึงประเทศอื่นๆ ในโลก คือ การเปลี่ยนผ่านของระบบการบริหารประเทศจากระบบเศรษฐกิจแบบบริหารจากส่วนกลางมาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด รวมถึงการนำนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสมมาใช้ ตลอดจนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบชลประทาน โครงข่ายโทรคมนาคม ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นโครงการหลักภายใต้แผนงานของ GMS ซึ่งมีความก้าวหน้ามากที่สุด ทำให้เราได้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีเส้นทางถนนสายหลัก หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า แนวระเบียบเศรษฐกิจ (Economic Corridors) 3 เส้นทาง คือ แนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) เหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) และด้านใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ซึ่งในขณะนี้ ได้มีการก่อสร้างเกือบสมบูรณ์แล้ว โดยในระยะต่อไป ประเทศสมาชิก GMS จะต้องขยายการเชื่อมโยงผ่านการสร้างถนนระยะที่สอง ขณะเดียวกันยังได้มีการจัดทำแผนงานการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้า ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นเรื่องการปรับประสานกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกบนเส้นทางที่มีอยู่ เช่น การขยายการแลกเปลี่ยนสิทธิการจราจร และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการชายแดน นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชน ได้มีการจัดตั้งสมาคมการขนส่งสินค้า GMS (GMS Freight Transport Association) ภายใต้สภาธุรกิจ GMS (GMS Business Forum) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการด้านการขนส่งของประเทศ GMS มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเชี่ยวชาญและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมการขนส่ง ทั้งยังมีบทบาทในการเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อภาครัฐในการกำหนดและดำเนินการมาตรการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งในอนุภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจใน GMS ยังขาดระบบการติดตามความก้าวหน้าที่มีประสิทธิภาพ ประเทศสมาชิก GMS จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาออกแบบระบบดังกล่าว และเมื่อไม่นานมานี้ แผนงานและยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของ GMS ยังขยายขอบเขตให้ครอบคลุมการพัฒนาและเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟในอนุภูมิภาค เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการส่งเสริมการขนส่งหลายรูปแบบและความมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่เริ่มมีความสำคัญในปัจจุบัน

ด้านพลังงาน เป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือของ GMS ที่มีความก้าวหน้า โดยมีโครงการหลักในการผลิตและการเชื่อมต่อพลังงานข้ามพรมแดน และการปรับปรุงระบบการส่งพลังงาน (transmission systems) ของประเทศสมาชิก เพื่อไปสู่การจัดทำข้อตกลงการค้าพลังงานในภูมิภาค (regional power trade arrangements) โดยที่ผ่านมา GMS ได้ริเริ่มโครงการเชื่อมต่อพลังงานของ GMS หลายโครงการซึ่งถือเป็นการวางรากฐานสำหรับการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า (Grid Interconnection) ในอนุภูมิภาค ทั้งยังมีการริเริ่มโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ (hydropower projects) หลายโครงการโดยมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าที่สำคัญในการจัดตั้งศูนย์การประสานงานสำหรับการค้าพลังงานในภูมิภาค (Regional coordination center for power trade) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแผนงานด้านพลังงานของประเทศสมาชิก GMS สำหรับความร่วมมือด้านพลังงานในกรอบที่กว้างขึ้น ตามแผนงานด้านพลังงานของ GMS ได้ตั้งเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน การเข้าถึงพลังงาน ความมีประสิทธิภาพ และความมั่นคงของอุปทานพลังงาน รวมถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในสาขาพลังงาน

สำหรับสาขาโทรคมนาคม ในปัจจุบัน ประเทศสมาชิก GMS มีความก้าวหน้าในการพัฒนาการเชื่อมต่อผ่านระบบสื่อสารสายใยแก้วนำแสง (Optic fiber interconnection) และได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการเร่งรัดการสร้างทางด่วนข้อมูลสารสนเทศ (Information Superhighway) และการประยุกต์ใช้ใน GMS ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาด้าน IT และตัวชี้วัดในการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลและการบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างทั่วถึง (universal access) ในอนุภูมิภาค ขณะเดียวกัน ยังมีแผนงานในการปรับปรุงด้านนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการขั้นพื้นฐานของภาคธุรกิจ

ด้านการท่องเที่ยว ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิก GMS ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของ GMS ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของโลก นับจากนี้ไป แผนงานด้านการท่องเที่ยวของ GMS จะเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นเครื่องมือในการลดความยากจน (pro-poor tourism) ผ่านการพัฒนาแพ็คเกจการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงหลายประเทศ ทั้งยังมุ่งเน้นการพัฒนาด้านการตลาดและสินค้าการท่องเที่ยว การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การอนุรักษ์มรดกทางนิเวศน์และวัฒนธรรม และการขยายการกระจายผลประโชน์จากการท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่น

สำหรับความร่วมมือด้านการเกษตร ซึ่งเพิ่งรวมอยู่ในแผนงานของ GMS เมื่อไม่นานมานี้ มุ่งเน้นการส่งเสริมการขยายตัวของการค้าสินค้าเกษตรในอนุภูมิภาค การส่งเสริมการทำการเกษตรที่มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีพลังงานชีวภาพที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน และการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรของ GMS เพื่อพัฒนาระบบซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์ในสินค้าอาหารที่มีความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ

ในสาขาสิ่งแวดล้อม ประเทศสมาชิก GMS ได้ร่วมกันกำหนดพื้นฐานการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้จัดทำแผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อม (Core Environment Program) และความคิดริเริ่มการพัฒนาแนวพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Corridors Initiative) ซึ่งมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นอนุภูมิภาคที่ปลอดจากความยากจนและมีความอุดมสมบูรณ์เชิงนิเวศน์ ("a poverty-free and ecologically rich GMS") ทั้งนี้ ในระยะแรกของความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศสมาชิก GMS ได้ปรับปรุงการบริหารจัดการการใช้ที่ดินและกลไกการจัดหาเงินทุนในการปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนในชนบทอย่างยั่งยืน ทั้งยังได้นำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมารวมอยู่ในกระบวนการวางแผนการพัฒนาประเทศของแต่ละประเทศสมาชิก สำหรับความร่วมมือระยะที่สองซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ จะเน้นการเพิ่มพูนผลประโยชน์ที่ได้รับจากความร่วมมือในระยะแรกเพื่อมุ่งสู่การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่จำเป็นในอนุภูมิภาค ผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบและ วิธีการในการวางแผนการพัฒนา การปรับปรุงการบริหารจัดการภูมิทัศน์เพื่อการอนุรักษ์ (conservation landscapes) สิ่งมีชีวิตอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการพัฒนาที่ใช้คาร์บอนในระดับต่ำ (low-carbon development) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน และการส่งเสริมการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนเพื่อใช้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

สำหรับสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีความก้าวหน้าที่สำคัญจากการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดต่อ รวมถึงโรคเอดส์ ทั้งนี้ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของ GMS และแผนปฏิบัติการ ประเทศสมาชิก GMS ได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อจัดทำกรอบงานสำหรับการยอมรับร่วมในด้านความเชี่ยวชาญและคุณสมบัติของบุคลากร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาค และมีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการอพยพแรงงานอย่างปลอดภัย รวมถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาค ให้มีความเชี่ยวชาญและศักยภาพที่ยังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งครอบคลุมถึงข้าราชการและบุคลากรในสถาบันวิชาการและการค้นคว้าวิจัย

ความสำเร็จของโครงการความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดการสนับสนุนด้านเงินทุนที่ยั่งยืน รวมถึงความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินโครงการในสาขาต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษนับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการตามแผนงานของ GMS ได้มีการใช้เงินทุนไปแล้วมากกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนที่ได้จากการกู้ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของเงินทุนมาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และส่วนที่เหลือมาจากรัฐบาลของประเทศสมาชิก GMS และเงินทุนที่ใช้ไปส่วนใหญ่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการด้านการขนส่งและพลังงาน ขณะที่โครงการความร่วมมือในสาขาอื่นๆ เริ่มมีความต้องการใช้เงินทุนเพิ่มขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ โครงสร้างของสถาบันใน GMS ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ความร่วมมือในสาขาต่างๆ ประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย การประชุมระดับผู้นำ ระดับรัฐมนตรี ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และการประชุมคณะทำงานรายสาขา โดยแต่ละประเทศมีหน่วยงานหลักทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกระทรวงต่างๆ กับสำนักงานเลขาธิการของ GMS ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย

อนาคตสำหรับ GMS

ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ทำให้ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ แม้ว่าปัจจุบัน เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ และปัจจัยหลักที่จะกำหนดอนาคตทั้งในระดับโลก ภูมิภาค อนุภูมิภาค และประเทศ เริ่มปรากฎให้เราเห็นชัดเจนขึ้น

ประการแรก มีความเชื่อเพิ่มขึ้นว่า ผลผลิตของประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และผลผลิตของประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะจีน และอินเดีย รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะขยายตัวสูงกว่าประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ หากยังสามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศไว้ได้ อย่างไรก็ดี ความไม่เท่าเทียมกันในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ กอปรกับความแตกต่างของการนำนโยบายการเงินและการคลังมาใช้ในแต่ละประเทศ ย่อมนำไปสู่ความผันผวนของตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวโน้มดังกล่าว เป็นแรงผลักดันให้ประเทศสมาชิก GMS ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการนำการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ ควบคู่ไปกับการกระจายตลาดและสินค้า ซึ่งถือเป็นหนทางหลักในการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าในตลาดโลก ดังนั้น ความร่วมมือใน GMS จะมีความสำคัญมากขึ้น ในฐานะเป็นเครื่องมือชี้นำให้ประเทศสมาชิก ซึ่งล้วนยังมีข้อบกพร่องในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ได้นำวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสมมาใช้และสามารถตอบสนองต่อความไม่แน่นอนของโลกได้อย่างทันท่วงที

ประการที่สอง กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศสมาชิก GMS และภาคเอกชนต้องตระหนักรู้และเตรียมพร้อมรับเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงของจีนและอินเดียในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมาจากการขยายตัวของความต้องการในประเทศ ทั้งการลงทุนของภาครัฐและการบริโภคของประชาชน และจะยังคงเป็นแนวโน้มต่อไปในอนาคต เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนคนรายได้ระดับปานกลางในประเทศดังกล่าว และอีกหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้การบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้แนวโน้มการส่งออกไปยังตลาดในเอเชียจะยังคงมีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าตลาดในยุโรปและสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของค่าแรงในจีน รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตของแหล่งผลิตในที่ต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ภาคเอกชนจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำธุรกิจ เมื่อพิจารณาด้านลงทุน ปัจจุบัน ประเทศในเอเชียบางประเทศเริ่มบทบาทเพิ่มขึ้นในฐานะนักลงทุนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งยังเป็นประเทศที่มีบทบาทให้เกิดกิจกรรมการควบรวมกิจการในสาขาบริการ เช่น ธนาคาร โรงแรม และโทรคมนาคม จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างดังกล่าว ประเทศสมาชิก GMS จึงมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยมีเงื่อนไขว่า ยังต้องสามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันไว้ได้ ด้วยการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำธุรกิจ พร้อมทั้งดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ตามแผนงานความร่วมมือใน GMS

ประการที่สาม เราจะได้เห็นถึงแนวโน้มการพัฒนาเมือง (Urban development) ไปพร้อมกับการพัฒนาการกระจุกตัวของพื้นที่ โดยเฉพาะตามแนวระเบียงเศรษฐกิจใน GMS ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก GMS ซึ่งในบริบทนี้ แผนงานความร่วมมือของ GMS ในสาขาเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะมีส่วนช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนาดังกล่าว ขณะเดียวกัน การวางแผนการลงทุนที่เหมาะสมและมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีความสำคัญในการสนับสนุนให้การพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจของ GMS มีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง

ประการที่สี่ ประเทศสมาชิก GMS มีแนวโน้มที่จะเกิดความแตกต่างด้านโครงสร้างของประชากร กล่าวคือ จีน จะมีสัดส่วนของจำนวนประชากรนอกวัยทำงาน (age dependency rate) (คิดจากสัดส่วนของจำนวนประชากรที่มีอายุ 0-14 กับ 65 ขึ้นไป ต่อจำนวนประชากรในวัยทำงานที่มีอายุ 15-64 ปี) เพิ่มขึ้นในช่วง 40 ปีข้างหน้า ขณะที่ ไทยและเวียดนาม จะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขดังกล่าวของกัมพูชา ลาว และ เมียนมาร์ จะมีแนวโน้มลดลงในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สมาชิก GMS บางประเทศจะต้องประสบกับภาวะสังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่การขาดแคลนแรงงาน และมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะที่บางประเทศกำลังจะต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของคนในวัยทำงาน ซึ่งจำเป็นต้องสร้างโอกาสการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของอุปทานแรงงาน ทั้งนี้ ความไม่สมดุลของการมีแรงงานดังกล่าว ประกอบกับความแตกต่างของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก GMS ซึ่งมาจากการพัฒนาการกระจุกตัวของพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ จะส่งผลให้เกิดการอพยพแรงงานระหว่างกันในอนุภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกันมากขึ้นในอนุภูมิภาค ดังนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการสร้างกลไกในการสนับสนุนการอพยพแรงงานอย่างปลอดภัย ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงผู้อพยพกับถิ่นกำเนิดด้วยเส้นทางการขนส่งที่สะดวกและมีระบบการธนาคารที่ปลอดภัยในการส่งเงินรายได้กลับ จึงเป็นประเด็นที่จะมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับแผนงานความร่วมมือของ GMS ในระยะต่อไป

ประการที่ห้า กลุ่มประเทศ GMS จะต้องนำประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาพิจารณาอย่างจริงจัง รวมถึงนัยสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้ แง่มุมที่ควรพิจารณามี 2 ลักษณะ ในแง่มุมแรก การดำเนินการอย่างจริงจังของประเทศสมาชิก GMS เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะช่วยทำให้ทรัพยากรป่าไม้ของ GMS ที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ในแง่มุมที่สอง ความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น น้ำ ในการผลิต ดังนั้น ประเทศสมาชิก GMS จึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่ผลิตจากทรัพยากรดังกล่าว ผ่านการพัฒนาด้านการเกษตร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งยังจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาเมืองและการผลิตพลังงานที่ใช้คาร์บอนต่ำ

ประการสุดท้าย กลุ่มประเทศ GMS จำเป็นต้องตระหนักถึงความไม่แน่นอนของการได้รับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศดังกล่าวต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่า ในปัจจุบัน สมาชิก GMS บางประเทศ คือ จีน และไทย ได้เริ่มมีบทบาทในฐานะประเทศผู้ให้การสนับสนุนการพัฒนาแก่ประเทศสมาชิก GMS ที่เหลือแล้ว ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิก GMS ควรต้องพิจารณาการสนับสนุนด้านเงินทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น แม้ว่าแต่เดิมเคยมีข้อจำกัดจากความน่าเชื่อถือของประเทศสมาชิก GMS ในการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่โปร่งใส เนื่องจากในปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปและการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาของประเทศสมาชิก GMS ทั้งนี้ การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนจะเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนใน GMS

เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมดข้างต้นที่จะมีอิทธิพลต่ออนาคตของ GMS เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า อาเซียน ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกส่วนหนึ่งใน GMS และกำลังมุ่งหน้ารวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 ย่อมมีผลกระทบต่ออนาคตของ GMS เช่นกัน โดยเฉพาะการดำเนินงานของอาเซียนในสาขาต่างๆ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุน ให้มีความคล่องตัว ล้วนสนับสนุนให้การรวมตัวของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงกันทางด้านการขนส่ง พลังงานและการสื่อสารโทรคมนาคม การพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆ การยอมรับร่วมในคุณสมบัติวิชาชีพ การส่งเสริมการแสวงหาปัจจัยการผลิตในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ซึ่งความร่วมมือทั้งสองกรอบต่างมีเป้าประสงค์เดียวกัน คือ การสนับสนุนการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิก อันจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดช่องว่างของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคและอนุภูมิภาค

เมื่อพิจารณาถึงโอกาสและความท้าทายที่กลุ่มประเทศ GMS กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงผลสำเร็จจากการดำเนินงานตามแผนงาน GMS ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผู้นำของประเทศ GMS ได้ให้การรับรองกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของ GMS ในการประชุมผู้นำ GMS ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2554 เพื่อใช้เป็นกรอบชี้นำแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือสำหรับในช่วงปี 10 ปีข้างหน้า (ปี 2555-2565) ซึ่งจะยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างการรวมกลุ่มของอาเซียน รวมถึงในกรอบที่กว้างขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีวิสัยทัศน์สำคัญ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมด้านนโยบายที่เหมาะสมและความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน รวมถึงการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และจะให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมในการกำหนดและดำเนินการโครงการต่างๆ

ทั้งนี้ กรอบยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการของ GMS ในช่วงทศวรรษหน้า จะมุ่งเน้นเรื่องดังต่อไปนี้

  • การพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจหลัก ให้มีขอบเขตที่กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์การลงทุนและการพัฒนาเมืองที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาขั้วความเจริญ (growth poles) บนแนวระเบียบเศรษฐกิจ และเพิ่มความเชื่อมโยงภายในประเทศระหว่างพื้นที่ในชนบทกับศูนย์กลางทางการค้า รวมถึง ท่าเรือ
  • การเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านการขนส่ง โดยเฉพาะถนน และทางรถไฟ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศสมาชิก GMS มีความได้เปรียบในการแข่งขันและได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย
  • การพัฒนาวิธีการร่วมกันในการจัดหาพลังงานที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ *การปรับปรุงความเชื่อมโยงด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในประเทศสมาชิก GMS
  • การพัฒนาและการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวเดียว (single destination)
  • การส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ สามารถแข่งขันได้ และมีความยั่งยืน *การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นประเด็นการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อส่งเสริมการรวมตัวของประเทศสมาชิก GMS โดยพิจารณาไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากผลกระทบด้านลบจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างความสามารถในการบริหารจัดการและศักยภาพด้านการค้นคว้าวิจัย

กรอบยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการกับโอกาสและความท้าทายที่กลุ่มประเทศ GMS กำลังเผชิญอยู่ ขณะที่ยังคงสามารถรักษาเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลดความยากจน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในช่วงทศวรรษที่กำลังมาถึง นอกจากนี้ การขยายของเขตของแนวระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงกว้างและลึก จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการประสานงานระหว่างสาขาต่างๆ (multi-sector coordination) และความเชื่อมโยงข้ามสาขา (cross-sector linkages) ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างความสมดุลในการพัฒนา โดยคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กลุ่มประเทศ GMS ยังจำเป็นต้องตระหนักมากยิ่งขึ้นถึงการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในระดับประเทศ ขณะเดียวกัน การลงทุนเพื่อการพัฒนาแนวระเบียบเศรษฐกิจ ย่อมหมายถึงการใช้ความพยายามมากขึ้นในการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยรวมถึงเงินทุนจากภาคเอกชน และการมีกลไกในการติดตามผลจากการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อพิจารณาแผนงานของ GMS ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ใหม่ GMS จะยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ("hardware) ไปพร้อมกับการพัฒนาด้านนโยบายและสถาบัน ("software") ให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศสมาชิก GMS สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน การขยายขอบเขตของแผนงานที่กว้างและมีความซับซ้อนมากขึ้น ย่อมทำให้ประเทศ GMS ต้องมีการคัดเลือกและจัดลำดับความสำคัญโครงการต่างๆ อย่างละเอียดและรอบคอบมากขึ้นด้วย ทั้งการพิจารณาในสาขาเดียวกันและข้ามสาขา ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันเพื่อเพิ่มพูนความมีประสิทธิภาพของแผนงานในภาพรวม

ทั้งนี้ คุณลักษณะของแผนงาน GMS ซึ่งประกอบด้วย 3C คือ Connectivity, Competitiveness และ Community จะยังคงมีอยู่ต่อไป และต้องมีความสมดุลระหว่างกันมากขึ้น โดย Competitiveness ถือเป็นคุณสมบัติหลักต่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เพียงด้านกายภาพ แต่รวมถึงด้านนโยบายและสถาบัน เพื่อเสริมสร้างและยกระดับความเชื่อมโยงระหว่างกัน สุดท้าย ความร่วมมือระดับภูมิภาคที่กำลังมีวิวัฒนาการ มีความหมายว่า แผนงานของ GMS จะต้องมีความเชื่อมโยงและเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันกับแผนงานความร่วมมือในกรอบที่กว้างกว่าและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน

ที่มา: Asian Development Bank, The Greater Mekong Sub-region at 20, Progress and Prospects

สำนักอาเซียน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมษายน 2557

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ