สถิติการค้าของไทยกับโอกาสในตลาดอาเซียน: ธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 3, 2014 14:22 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ในช่วง 4 ปีหลังสุด (2553-2556) มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับโลกเฉลี่ยประมาณ 446,515.15 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนเฉลี่ยประมาณ 90,946.22 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 20.37 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ซึ่งมูลค่าการค้ารวมของไทยกับอาเซียนมีสัดส่วนเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้ารวมของไทยกับโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553-2556 มีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 19.85 20.21 20.21 และ 21.09 และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม-พฤษภาคม) มีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 21.71 จากสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับประเทศในอาเซียนเมื่อเปรียบกับโลก แม้จะไม่ใช่การเติบโตที่ก้าวกระโดด แต่ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการค้าภายในอาเซียนของไทยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้านการส่งออก ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังโลกเฉลี่ยประมาณ 218,410.80 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนเฉลี่ยประมาณ 53,544.90 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 24.52 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทยทั้งในตลาดโลกและตลาดอาเซียน ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังอาเซียนเปรียบเทียบกับการส่งออกไปยังโลกอยู่ในระดับที่สูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม ข้าวโพด ปูนซิเมนต์ เครื่องดื่ม น้ำมันสำเร็จรูป สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ แร่ยิบซัม และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง

ด้านการนำเข้า ไทยมีมูลค่าการนำเข้าจากโลกเฉลี่ยประมาณ 228,104.34 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าการนำเข้าจากอาเซียนเฉลี่ยประมาณ 37,401.33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 16.40 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยกลุ่มสินค้านำเข้าสำคัญของไทยในตลาดโลก ได้แก่ กลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และกลุ่มสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น และกลุ่มสินค้านำเข้าสำคัญของไทยในตลาดอาเซียน ได้แก่ กลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบ เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากอาเซียนเปรียบเทียบกับการนำเข้าจากโลกอยู่ในระดับที่สูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธ์ ถ่านหิน สื่อบันทึกข้อมูล ภาพ เสียง กาแฟ ชา เครื่องเทศ รถจักรยานยนต์ ก๊าซธรรมชาติ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังอาเซียนเปรียบเทียบกับที่ส่งออกไปตลาดโลก อยู่ในระดับที่สูง แสดงให้เห็นถึงว่า สินค้าส่งออกของไทยรายการนั้นมีลูกค้าหรือประเทศผู้ซื้อส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน เช่น สินค้ารายการเครื่องดื่ม ที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังโลกเฉลี่ย เท่ากับ 988.41 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนเฉลี่ย เท่ากับ 792.56 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 80.19) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดอาเซียนในสินค้าเครื่องดื่มกับไทย โดยประเทศที่เป็นผู้ซื้อรายสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ เมียนมาร์ (ร้อยละ 32.46) กัมพูชา (ร้อยละ 21.92) และเวียดนาม (ร้อยละ 18.49) ซึ่งเครื่องดื่มที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในกลุ่มนี้ คือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ได้แก่ น้ำแร่ น้ำอัดลม น้ำนมถั่วเหลือง เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น) ที่มีสัดส่วนในกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มสำหรับตลาดอาเซียนถึงร้อยละ 64.83 ทั้งนี้ หากดูเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์แล้ว เวียดนามจะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย โดยมีอัตราการ

ขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 50 และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 สินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยมีมูลค่าส่งออกไปเวียดนามประมาณ 98.41 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.34) ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของเวียดนามจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 14.4 ต่อปี โดยมูลค่าการนำเข้าเครื่องดื่มของเวียดนามจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการบริโภคยังสูง ขณะที่กำลังการผลิตเครื่องดื่มของเวียดนามยังไม่สามารถรองรับความต้องการได้ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่ชาวเวียดนามใส่ใจในการเลือกซื้อเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทไทยหลายบริษัทเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตในเวียดนาม เช่น บริษัทเรดบูล (กระทิงแดง) และบริษัทไทยเบฟ (น้ำนมถั่วเหลือง) เป็นต้น และอีกหลายบริษัทที่ไปเปิดเป็นตัวแทนผู้จัดจำหน่ายสินค้า เช่น บริษัทไทยคอร์ป (ผู้จัดจำหน่ายกระทิงแดงรายใหญ่และปลากระป๋องสามแม่ครัว) เป็นต้น ในส่วนของตลาดส่งออกอื่นๆ ของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อย่างเช่น กัมพูชา และเมียนมาร์ ก็มีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 36.56 และ 32.69 ตามลำดับ และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 สินค้าดังกล่าวมีมูลค่าส่งออกไปกัมพูชาและเมียนมาร์ ประมาณ 88.03 และ 65.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.87 และ 11.04 ตามลำดับ) ทั้งนี้ ช่องทางในการขายเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับกัมพูชาและเมียนมาร์จะเป็นการขนส่งผ่านทางแนวชายแดน โดยสินค้ากลุ่มนี้อยู่ในลำดับที่ 1 และ 5 ของรายการสินค้าส่งออก 10 ลำดับแรกของการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาและไทยกับเมียนมาร์ตามลำดับ นอกจากนี้ ประเทศเวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา เก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มกับประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 0-5 ตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) ส่วนอัตราภาษี MFN อยู่ที่ร้อยละ 10-40 และอัตราภาษีภายใต้กรอบเจรจาอื่นๆ จะอยู่ที่ร้อยละ 10-25 (แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ) ซึ่งไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านอัตราภาษีนี้ เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างมูลค่าการค้าในตลาดเครื่องดื่มของทั้งสามประเทศได้

จะเห็นได้ว่า ตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคอาเซียน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่ไทยมีโอกาสทางธุรกิจและควรส่งเสริมให้บริษัทเอกชนไทยขยายตลาดไปยังประเทศภายในอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ของไทย เช่น กระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ล้วนแต่มีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือและแนะนำวิธีในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศสำหรับบริษัทที่สนใจจะไปลงทุน สอดคล้องกับนโยบายของ CLMV ที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนบริษัทเอกชนของไทยได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง อัตราภาษีภายในอาเซียนก็ลดลงเรื่อยๆ ทำให้โอกาสในตลาด CLMV ของไทยก็ยิ่งจะมีมากขึ้น อีกทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้าบริเวณชายแดนจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกที่ช่วยส่งเสริมให้การค้าตามแนวชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปริมาณการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข็มแข็งของการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั่นเอง

ที่มา : Ministry of Commerce, Thailand

Thai Business (Vietnam) Association.

Board of Investment (BOI).

Export-Import Bank of Thailand (EXIM).

www.customs.gov.vn

สำนักอาเซียน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มิถุนายน 2557

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ