เมื่อพิจารณาแนวโน้มการค้าระหว่างกันในอาเซียน (Intra-ASEAN Trade) พบว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศมีสัดส่วนการค้ากับประเทศอาเซียนอื่นเพิ่มขึ้น ไม่เว้นไทย ที่นอกเหนือจากการทำการค้าปกติกับประเทศอาเซียนอื่นแล้วยังมีชายแดนติดต่อกับประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว ซึ่งเอื้ออำนวยให้การค้าชายแดน รวมถึงการค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่สามในอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ จากสัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่มีชายแดนติดกับไทย 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2546-2556) ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.62 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 11.95 ในปี 2556 ส่วนสัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีชายแดนติดกับไทย (กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว และมาเลเซีย) ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าจากร้อยละ 7.06 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 9.16 ในปี 2556 สะท้อนให้เห็นว่าการค้าชายแดนกำลังมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางการค้าของไทยกับประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค เช่น กรอบ Greater Mekong Sub-region (GMS) ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก เช่น ถนน โทรคมนาคม และพลังงาน ตลอดจนการปรับประสานด้านกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมาระหว่างกัน ยังเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้าในอนุภูมิภาค โดยเฉพาะการค้าผ่านทางชายแดน ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดจากการค้าชายแดนไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับชุมชนและผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดน แต่ยังส่งผลถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับการค้าของไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีชายแดนติดกับไทย 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) มาเลเซียเป็นประเทศที่ไทยทำการค้าชายแดนด้วยมากเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา โดยประมาณร้อยละ 70-80 ของการค้าไทยกับแต่ละประเทศดังกล่าวเป็นรูปแบบของการค้าชายแดน (Border trade) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันซึ่งมีมูลค่าไม่สูงมากนัก เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร และสินค้าจากธรรมชาติ ยกเว้นเพียงมาเลเซียที่สินค้าส่งออกของไทยประมาณร้อยละ 60 เป็นสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้น เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์โดยปัจจุบันการค้าชายแดนของไทยจะทำผ่านจุดการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ทั้งจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว และจุดผ่อนปรนทางการค้า รวมแล้วกว่า 70 จุด กระจายอยู่ในกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ
ในปี 2556 การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา) มีมูลค่ารวม 924,241.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.51 ประกอบด้วย การส่งออก 560,196.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.58 และการนำเข้า 364,045.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.98 ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าชายแดนรวม 196,151.13 ล้านบาท โดยมาเลเซียมีมูลค่าเป็นอันดับหนึ่ง 501,401.99 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.25 ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม รองลงมาได้แก่ เมียนมาร์ 196,866.33 ล้านบาท ลาว 132,137.16 ล้านบาท และกัมพูชา 93,836.31 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.30, 14.30 และ 10.15 ตามลำดับ
สำหรับการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย มากกว่าร้อยละ 98 ผ่านด่านศุลกากรสะเดาและปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะด่านสะเดา หรือที่เรียกทั่วไปว่า "ด่านนอก" ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับด่าน BUKIT KAYU HITAM รัฐเคดาห์ ของมาเลเซียเป็นด่านสำคัญในการเดินทางไปมาระหว่างไทยกับมาเลเซียทั้งยังเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อไปถึงสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ปัจจุบันเป็นด่านที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่หาดใหญ่ โดยสามารถขับรถข้ามแดนได้ เพื่อเข้ามาซื้อสินค้าในตลาดและร้านค้าปลอดภาษีบริเวณด่านสะเดา ทำให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ซึ่งมีทั้งโรงแรมที่พัก ร้านค้า และห้างสรรพสินค้า อย่างไรก็ดี เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น จำนวนรถผ่านด่านจึงเพิ่มสูงขึ้นตามจนเกิดความแออัดที่ด่าน ทำให้ในปัจจุบันไทยมีแผนที่จะพัฒนาด่านสะเดาแห่งใหม่ให้มีความทันสมัย เพื่อให้บริการพิธีการศุลกากรแบบครบวงจร สามารถรองรับทั้งการค้าและการท่องเที่ยว
หากเปรียบเทียบเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLM เมียนมาร์ถือเป็นตลาดการค้าชายแดนที่มีลู่ทางในการขยายตัวสูงสุด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553-2556) การค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ มีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 169,000 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่ม CLM และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 14.3 ต่อปี ทั้งนี้ ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนโอกาสการเติบโตดังกล่าวมาจากการที่ไทยและเมียนมาร์มีพรมแดนติดต่อกันถึงกว่า 2,400 กิโลเมตร ทำให้การค้าชายแดนถือเป็นสัดส่วนหลักของการค้าไทย-เมียนมาร์ คือ ประมาณร้อยละ 85 ของการค้ารวม โดยส่วนใหญ่เป็นการค้าผ่านด่านแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมีปริมาณการค้าเกินกว่าร้อยละ 50 ของการค้าชายแดนไทย- เมียนมาร์ ทั้งยังมีอัตราการเติบโตสูง ในปีที่ผ่านมา การค้าผ่านด่านแม่สอดเพียงด่านเดียวมีมูลค่าสูงมากกว่า 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 15 ทั้งนี้ ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ มีการเติบโตสูงขึ้นมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมียนมาร์นับตั้งแต่มีการปฏิรูปเพื่อเปิดประเทศ ส่งผลให้เมียนมาร์มีนโยบายเศรษฐกิจการค้าที่เสรีมากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทยในการขยายตลาดที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับขนาดตลาดในประเทศของไทยด้วยประชากรถึง 60 ล้านคน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นที่ต้องการและได้รับความนิยมอย่างมากในเมียนมาร์ กอปรกับปัจจุบันเมียนมาร์ยังไม่มีความสามารถด้านการผลิตสินค้าดังกล่าวได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ รวมถึงสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างซึ่งมีการขยายตัวสูงมาก เนื่องจากผลของการเปิดประเทศที่ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อาหารสำเร็จรูป รวมถึงเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและดูแลสุขภาพ ก็มีแนวโน้มขยายตัวดีตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และกำลังซื้อของคนเมียนมาร์ที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ จุดผ่อนปรนบ้านห้วยต้นนุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดลอยก่อ รัฐคะยาของเมียนมาร์ ก็เป็นอีกเส้นทางการค้าที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ผ่านเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสำคัญต่างๆ ของเมียนมาร์ เช่น กรุงเนปิดอว์ ตองยี และมัณฑะเลย์ ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังทะเลที่อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดียได้ ซึ่งประโยชน์ที่ตามมา คือ การเพิ่มขึ้นของการค้าชายแดน ซึ่งปัจจุบันสินค้าที่มีการซื้อขายส่วนใหญ่เป็นประเภทพืชไร่ และสินค้าอุปโภคบริโภค หากมีการยกระดับเป็นด่านถาวรและมีการเชื่อมโยงเส้นทางออกสู่ทะเลได้ รวมทั้งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ จะช่วยย่นระยะทางและเวลาในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังตอนกลางและตอนเหนือของเมียนมาร์ได้ โดยไม่ต้องผ่านกรุงย่างกุ้ง อย่างไรก็ดี การยกระดับด่านเพื่อขยายเส้นทางการค้าใหม่ จำเป็นต้องมีการเจรจาความตกลงระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เพื่อให้มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างกัน รวมทั้งเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ด่านถาวร เช่น การพัฒนาระบบการชำระเงิน การจัดตั้งด่านศุลกากร และการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้การเปิดจุดผ่านแดนถาวรเกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง
การค้าชายแดนไทย-ลาว ยังเป็นอีกตลาดที่มีโอกาสขยายตัวอีกมาก แม้ว่าปัจจุบันยังมีมูลค่าไม่มากนัก คือ ประมาณปีละ 130,000 ล้านบาท โดยปริมาณการค้าชายแดนไทย-ลาวเกือบครึ่งหนึ่งผ่านด่านศุลกากรจังหวัดหนองคาย ซึ่งถือเป็นด่านที่เชื่อมโยงกับเมืองหลวงของลาว คือ นครหลวงเวียงจันทน์ โดยตรง จึงได้รับประโยชน์จากกำลังซื้อของชาวนครหลวงเวียงจันทน์ตั้งแต่ระดับกลางถึงล่างในการใช้สินค้าอุปโภคบริโภคของไทย รวมถึงการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อนและจับจ่ายใช้สอยในไทยในช่วงวันหยุด และที่สำคัญ คือ ปัจจุบันไทยยังเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของลาว เนื่องจากคนลาวส่วนใหญ่นิยมใช้สินค้าไทยด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นสินค้าคุณภาพดี ทั้งยังได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อของไทย ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ ทำให้มีค่านิยมการบริโภคไม่เพียงสินค้า แต่รวมถึงบริการที่คล้ายคลึงกับคนไทย เช่น บริการการแพทย์ สถานเสริมความงาม และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยทำการตลาดในลาวได้ง่ายขึ้น
สำหรับการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ถือเป็นตลาดขนาดเล็กที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เฉลี่ยร้อยละ 23 ต่อปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553-2556) โดยปริมาณการค้าประมาณ 2 ใน 3 เป็นการค้าผ่านด่านจังหวัดสระแก้ว โดยเฉพาะตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ ที่เชื่อมต่อกับด่านปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจยของกัมพูชา จึงเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสระแก้ว ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยส่งออกไปกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และเครื่องสำอาง ส่วนสินค้าที่กัมพูชาส่งออกมายังไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง รวมถึงสินค้าจากภาคอุตสาหกรรม เช่น เศษกระดาษ และเศษเหล็ก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องคำนึงควบคู่กันไป คือ ข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความไม่สงบตามแนวชายแดน ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดจุดผ่านแดนบ่อยครั้ง อุปสรรคที่เกิดจากกฎระเบียบและขั้นตอนการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการผ่านพิธีการที่จุดผ่านแดน ตลอดจนข้อจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศและระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญและเตรียมพร้อมรับมือ อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาครัฐ นอกเหนือจากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น อาเซียน และ GMS ซึ่งถือเป็นกลไกการดำเนินงานในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันแล้ว ยังมีเวทีการประชุมระดับทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีการค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศ หรือที่เรียกว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้หยิบยกประเด็นปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมถึงปัญหาการค้าชายแดน และหารือแนวทางการแก้ไขให้ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยสนับสนุนให้การทำการค้าของภาคธุรกิจไทยในประเทศเพื่อนบ้านมีความสะดวกและคล่องตัวขึ้น ยังเป็นการการกระชับความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีความยั่งยืน
ส่วนบริหารงานทวิภาคี
สำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630