อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยในตลาดอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 19, 2014 14:55 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ในปัจจุบันประชากรทั่วโลกมีมากกว่า 7,000 ล้านคน โดยมีชาวมุสลิมหรือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 22.74 ของประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน 1,600 ล้านคนโดยประมาณ ซึ่งมีจำนวนประชากรเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากศาสนาคริสต์ และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.8 ต่อปี มากกว่าอัตราการขยายตัวของประชากรโลกที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.12 ต่อปี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในช่วง 15 ปีข้างหน้า อัตราการขยายตัวของประชากรมุสลิมจะมากกว่าประชากรที่มิใช่มุสลิมประมาณ 2 เท่าตัว และภายในปี 2030 ประชากรมุสลิมจะมีจำนวนหนึ่งในสี่ของประชากรโลก จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ตลาดมุสลิมเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการทั่วโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่เริ่มให้ความสนใจในการเข้าสู่ตลาดฮาลาลมากขึ้น โดยจีนเตรียมตั้งเขตปกครองตนเอง Ningxia Hui ที่มีจำนวนประชากรหนึ่งในสามนับถือศาสนาอิสลาม เป็นศูนย์กลางด้านฮาลาล (Halal Hub) และมีการดึงดูดบริษัทต่างๆ ที่ผลิตสินค้าฮาลาลเข้าไปตั้งโรงงาน ส่วนญี่ปุ่นได้ส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่รับผิดชอบด้านฮาลาลไปดูงานตามประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย รวมถึงไทย และมีการส่งนักวิทยาศาสตร์มาฝึกงานที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลของไทยด้วย ทั้งนี้ ในปี 2556 ตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นตลาดอาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 47) ตลาดเภสัชภัณฑ์ (ร้อยละ 23) และตลาดเครื่องสำอาง (ร้อยละ 9)

ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไปยังประเทศกลุ่มมุสลิม (Organization of Islamic Cooperation: OIC) เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (2552-2556) มีมูลค่า 5,949.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี1 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.72 ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และ แปรรูป ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เนื้อสัตว์ปีกแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 2,980.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 4.15 โดยมาจากการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยที่ลดลงและมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูปลดลง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงทำให้ราคาต่ำลง ในขณะที่กลุ่มสินค้าผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เนื้อสัตว์ปีกแช่เย็น แช่แข็งและ แปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้น ในส่วนตลาดอาหารฮาลาลของไทยในอาเซียนมี 3 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย การส่งออกเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังมีมูลค่า 48.2 1,234.2 และ 900.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ตามลำดับ และรวม 3 ประเทศ ไทยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 2,184.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12.06 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยไปยัง 3 ประเทศเทียบกับกลุ่มประเทศ OIC มีอัตราส่วนร้อยละ 36.10 โดยมีแนวโน้มของอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดอาเซียนต่ออุตสาหกรรม อาหาร ฮาลาลของไทย และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 1,218.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.94 โดยมีรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันกับตลาด OIC

การส่งออกสินค้าฮาลาลของไทยไปยังประเทศมุสลิม จะต้องได้รับเครื่องหมายฮาลาลที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) สำหรับประเทศที่ยอมรับมาตรฐานฮาลาลของไทยหรือต้องไปขอเครื่องหมายฮาลาล ณ ประเทศปลายทาง ซึ่งการได้รับเครื่องหมายฮาลาลหมายถึงว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้มาตรฐานฮาลาล คือใช้วัตถุดิบและมีกระบวนการผลิตถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และมีมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐาน เช่น SOP, GMP, HACCP เป็นต้น ในส่วนของประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้บูรณาการระบบมาตรฐานความปลอดภัยเข้ากับมาตรฐานฮาลาลให้เป็นระบบ HalalGMP/HACCP และพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นระบบ HAL-Q เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมุสลิมด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย ในเรื่องมาตรฐานและระบบการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการที่ต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นยอมรับ เป็นโอกาสดีในการสร้างการรับรู้และยอมรับในเครื่องหมายฮาลาลของไทย เพราะจะสามารถใช้ต่อยอดในการส่งออกสินค้าที่ได้รับเครื่องหมายฮาลาลเข้าไปยังประเทศนั้นๆ ได้ เนื่องจากในมุมมองของหลายประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายฮาลาลไม่ได้เป็นเพียงสินค้าที่ชาวมุสลิมสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจเท่านั้น แต่เครื่องหมายฮาลาลยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงคุณภาพของสินค้าอีกด้วย ทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นที่มิใช่อิสลาม เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า

ในตลาดอาเซียน เครื่องหมายฮาลาลที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) ได้รับการยอมรับจากทั้ง MUI (คณะกรรมการอิสลามของอินโดนีเซีย) JAKIM (คณะกรรมการอิสลามของมาเลเซีย) และ BKMH (คณะกรรมการอิสลามของบรูไน) ทำให้สามารถส่งออกสินค้าฮาลาลจากไทยไปยังทั้ง 3 ประเทศได้ โดยไม่ต้องขอรับรองมาตรฐานฮาลาลจากประเทศผู้นำเข้าซ้ำอีกครั้ง ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการของไทย และเนื่องจากอัตราภาษีของสินค้าเกือบทั้งหมดภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 0 แล้ว จึงเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาลของประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตาม ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่ลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งมีเรื่องของศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาซื้อสินค้า และพฤติกรรมการบริโภคของมุสลิมในแต่ละประเทศก็มีความต้องการที่แตกต่างกันไป ผู้ประกอบการจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ รสนิยม และลักษณะการบริโภคของชาวมุสลิมและมาตรฐานอาหารฮาลาลในแต่ละประเทศ

อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยในปี 2557 อาจจะมีการขยายตัวไม่มากนัก ตามสภาพเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม แต่คาดว่าในปี 2558 เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างเข้าที่ ตัวเลขการส่งออกน่าจะกลับมาอยู่ในทิศทางที่ดีอีกครั้ง และอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยยังมีโอกาสที่ดีในตลาดโลก เนื่องจากขนาดตลาดของอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่า 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.4 ต่อปี ทั้งนี้ ไทยมีความได้เปรียบคู่แข่งหลายประเทศในเรื่องอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากอาหารไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลก ทั้งด้านคุณภาพและรสชาติ ซึ่งสามารถใช้ต่อยอดกับอาหารฮาลาลได้ อีกทั้ง กระบวนการผลิตอาหารก็มีความทันสมัยและหลายโรงงานรับจ้างผลิตอาหารให้ตราสินค้าของบริษัทต่างประเทศ ทำให้มีความชำนาญในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานของตลาดโลก จึงควรที่จะเริ่มสร้างตราสินค้าของตนเองให้เป็นที่รู้จักในตลาดอาหาร ฮาลาล ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐพร้อมให้การสนับสนุน ทั้ง กระทรวงพาณิชย์ในการให้คำแนะนำในการขยายตลาดไปต่างประเทศและให้ข้อมูลด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลในการพัฒนาระบบการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม รวมทั้ง CICOT ทำหน้าที่รับรองมาตรฐานและออกเครื่องหมายฮาลาลแก่เอกชน ผู้ประกอบการจึงควรมีความเชื่อมั่นในเครื่องหมายฮาลาลของไทยและสร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศถึงมาตรฐานการผลิตและคุณภาพของสินค้า เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่น ทั้งนี้ ในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซียยังให้การยอมรับเครื่องหมายฮาลาลของประเทศตนเองมากกว่า ผู้ประกอบควรปรับกลยุทธ์ด้วยการขอเครื่องหมายฮาลาลของอินโดนีเซียควบคู่กับเครื่องหมายฮาลาลของไทยไปด้วย เพื่อให้เกิดการยอมรับและสร้างการรับรู้ถึงเครื่องหมายฮาลาลไทย โดยจุดแข็งของเครื่องหมายฮาลาลไทยคือหน่วยงานที่รับรองเพียงหน่วยงานเดียว ทำให้มีความชัดเจนและไม่สับสนในมาตรฐาน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้จุดเด่นนี้ในการทำการตลาดให้กับสินค้าของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้เป็นประเทศมุสลิมและประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนอิสลามา ทำให้ชาวมุสลิมบางส่วนที่เคร่งศาสนาในประเทศอย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เกิดความไม่แน่ใจในมาตรฐานฮาลาลของไทย ซึ่งไทยก็มีแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการเตรียมสร้างมาตรฐานฮาลาลร่วมกันระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย (IMT-GT) เพื่อให้เกิดการเชื่อมั่นจากประชาชนของทั้งสามประเทศ

สำนักอาเซียน ส่วนบริหารงานทวิภาคี

สิงหาคม 2557

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ