PPP มีหลายรูปแบบและแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น การทำสัญญาบริการ (Service Contract),การทำสัญญาบริหารจัดการ (Management Contract), การทำสัญญาเช่า (Leasing), การให้สัมปทาน(Concession), กิจการร่วมค้า (Joint Venture), Build Operate and Transfer (BOT), Build Lease and Transfer (BLT), Build Transfer and Operate (BTO), Build Own and Operate (BOO) เป็นต้น โดยรูปแบบที่นิยมใช้มากที่สุดคือ BOT เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ดึงดูดเอกชนให้มาเข้าร่วมโครงการได้มากและภาครัฐจะรับประกันความเสี่ยงด้านการเงินของโครงการให้กับภาคเอกชน โดยเอกชนจะทำหน้าที่ออกแบบ ก่อสร้าง และจะทำสัญญากับภาครัฐเพื่อได้สิทธิ์ในการบริหารจัดการโครงการและเก็บผลประโยชน์ และเมื่อดำเนินงานไปจนถึงระยะเวลาที่กำหนดแล้ว จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ภาครัฐ
สำหรับอาเซียน มีการนำ PPP มาใช้ตามวัตถุประสงค์และรูปแบบการดำเนินการที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละประเทศ โดยบางประเทศจะมีกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ PPP โดยตรง ขณะที่ บางประเทศจะมีเพียงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหรืออ้างอิงถึงเท่านั้น ดังนี้
บรูไน ยังไม่มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ และกรอบการดำเนินงานโครงการ PPP อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจ (DEPD) โดยโครงการ PPP จะต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาแห่งชาติ (National Development Plan) ที่มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมประเทศและลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมัน และมีวัตถุประสงค์ 3 ด้าน คือ 1) พัฒนาระบบการศึกษาและสร้างแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง 2) ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ 3) สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีพลวัตร ทั้งนี้ โครงการ PPP ที่ได้เซ็นสัญญาแล้ว คือ โครงการ Ong Sum Ping (OSP) การปรับปรุงที่พักอาศัยในย่าน Ong Sum Ping ซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐบาล เอกชนได้รับสัญญา 20 ปี ในการบริหารจัดการและเก็บค่าเช่า โดยต้องส่งเงินเข้ารัฐ 750,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ โครงการสิ่งก่อสร้างด้านชุมชนและด้านการค้า สำหรับโครงการบ้าน 2000 หลังของรัฐบาล โดยรัฐบาลบรูไนจะให้เอกชนเป็นผู้จัดการผลประโยชน์ในส่วนการค้า และจะเก็บค่าเช่าที่ดินจากเอกชน ซึ่งบริษัท Bina Puri Holdings Bhd เป็นบริษัทเอกชนจากมาเลเซียที่เข้ามาร่วมลงทุนทั้ง 2 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติ Presidente Nicolau Lobato ที่มีบริษัท Changi Airport Planners and Engineers (CAPE) ของสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการและบริหารจัดการในช่วงการก่อสร้าง
กัมพูชา ยังไม่มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ Law on Concessions (2007)เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านทางการให้สัมปทานของรัฐบาล โดยสัญญาสัมปทานจะมีหลายรูปแบบ เช่น BOT, BLT, BTO เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบการทำ PPP และครอบคลุมสาขาต่างๆ เช่น การคมนาคมขนส่ง ทั้งถนน สะพาน ท่าเรือ สนามบิน รถไฟ การสื่อสารและสารสนเทศ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ เป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่กำกับดูแลโครงการ PPP คือ สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา (CIB) และ กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) ตัวอย่างโครงการ PPP ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ ท่าอากาศยานนานาชาติสีหนุวิลล์ และท่าอากาศยานนานาชาติเสียมเรียบ โดยมีบริษัท Cambodia Airports1 ได้รับสัญญาจากรัฐบาลในรูปแบบ BOT คือทั้งก่อสร้างและบริหารจัดการทั้ง 3 ท่าอากาศยาน จนถึงปี 2040 ทั้งนี้ ในการสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเสียมเรียบ ที่คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2015 จะมีบริษัท NSIA จากเกาหลีใต้เข้ามาร่วมโครงการด้วย
อินโดนีเซีย มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ คือ Presidential Regulations No.13 (2010), No. 56 (2011) และ No.66 (2013) เป็นระเบียบที่ออกมาปรับปรุง Presidential Regulations No.67 (2005) มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กระทรวงการวางแผนพัฒนาแห่งชาติ (Ministry of National Development Planning/National Development Planning Agency : BAPPENAS) และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานเจ้าของโครงการ (GCA) ซึ่งอาจจะเป็นกระทรวง หน่วยงานระดับภูมิภาค หรือหน่วยงานท้องถิ่นก็ได้, คณะกรรมการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติ (KKPPI) มีหน้าที่ประสานงานระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบโครงการ,คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BKPM) จะประสานกับเอกชนที่ต้องการเข้ามาลงทุนร่วมกับรัฐ, กระทรวงการคลัง(MOF) และกองทุนประกันโครงสร้างพื้นฐาน (IIGF) ให้หลักประกันด้านการเงินและสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำโครงการ PPP จะแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนหลัก คือ 1) การวางแผน (Planning) 2) การเตรียมโครงการ (Project Preparation) 3) การดำเนินการ (Transaction) และ 4) การจัดการสัญญา (Contract Management) ซึ่งตั้งแต่ขั้นตอนที่ 2 ถึง 4 ต้องได้รับการสนับสนุนและ/หรือเห็นชอบจากรัฐบาลด้วย โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2010-2013) มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาและเริ่มกระบวนการจัดจ้างแล้ว 42 โครงการ นอกจากนี้ ในปี 2013 อินโดนีเซียมีโครงการ PPP ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 27 โครงการ มูลค่าประมาณ 47,337.98 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอยู่ระหว่างการจัดจ้าง 21 โครงการ ตัวอย่างโครงการ PPP ได้แก่ Bali Nusa Dua Benoa Toll Road2 ระยะทาง 9.7 กม. มีบริษัท PT Jasamarga Bali Tol เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารจัดการ ซึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2013
ลาว ยังไม่มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ Investment Promotion Law(2009) ที่มีหลักการและกฎระเบียบเกี่ยวกับการส่งเสริมและควบคุมการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนที่กล่าวถึงการให้สัมปทานของรัฐ ในสาขาอสังหาริมทรัพย์ ทรัพยากร พลังงาน การบิน การสื่อสาร การประกันภัยและการให้บริการทางการเงิน โดยลาวไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักในโครงการ PPP แต่จะมีกระทรวงแผนการและการลงทุน (MPI) ดูแลบริหารจัดการโครงการลงทุนต่างๆ และกรมส่งเสริมการลงทุน (IPD) ซึ่งอยู่ภายใต้ MPI ทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในลาว ให้สิทธิประโยชน์การลงทุน คัดกรองข้อเสนอการลงทุน เป็นต้น และมีการะทรวงการคลังที่ดูแลด้านการเงินของโครงการ ตัวอย่างโครงการ PPP ได้แก่ โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ที่เป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมูลค่าโครงการประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี Nam Theun 2 Power Company (NTPC)3 เป็นผู้บริหารโครงการ ในรูปแบบ BOT มีสัญญา 31 ปี (บริหารจัดการผลประโยชน์ได้ 25 ปี) และมีแหล่งที่มาของเงินทุนหลายแหล่ง เช่น ADB, EXIM Bank รวมทั้ง มีธนาคารระหว่างประเทศ 9 แห่งและธนาคารพาณิชย์ของไทย 7 แห่งให้สินเชื่อระยะยาวแก่โครงการ
มาเลเซีย ยังไม่มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ แต่มีแนวทางการดำเนินโครงการ คือ PPP Guideline (2009)โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการสาธารณะ และมีหลักการในการพิจารณาข้อเสนอโครงการ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 2) ความคุ้มค่าของเงิน 3) การดำเนินโครงการและการให้บริการ 4) ความรับผิดชอบและตรวจสอบได้ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ Public-Private Partnership Unit4 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งขั้นตอนการเสนอโครงการสามารถเริ่มจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนก็ได้ จากนั้น PPP Unit จะคัดกรองและประเมินโครงการที่เสนอเข้ามา ส่วนขั้นตอนในการรับรองโครงการจะเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะพิจารณาให้ความเห็นชอบใน 3 ขั้นตอนหลัก คือการจัดทำความตกลงในเรื่องหลักการของโครงการ การรับรองบริษัทที่ชนะประมูล และให้ความเห็นชอบในเรื่องเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของการให้สัมปทาน ตัวอย่างโครงการ PPP เช่น โครงการ West Coast Expressway (WCE) เป็นทางด่วนที่เชื่อมต่อเมือง Banting รัฐ Selangor กับเมือง Taiping รัฐ Perak ระยะทางรวม 273 กม. มูลค่าประมาณ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยมี Kumpulan Europlus Bhd เป็นผู้ได้รับสัญญาระยะเวลารวม 60 ปี (สัญญา 50 ปีและขยายได้ 10 ปี) ในรูปแบบ BOT เซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2013 และโครงการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลผ่าน Government Support Loan (GSL) ประมาณ 703.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมียนมาร์ ยังไม่มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ Foreign Investment Law(2012) ที่กำหนดเงื่อนไขรูปแบบการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคุมพื้นที่การทำธุรกิจของทุนต่างประเทศ โดยเมียนมาร์ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักในโครงการ PPP แต่จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการลงทุนเมียนมาร์(MIC) เป็นคณะทำงานอิสระที่มีสมาชิกมาจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ประเมินและรับรองข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการลงทุน เป็นต้น ตัวอย่างโครงการ PPP ได้แก่ โครงการสร้างท่าอากาศยานนานาชาติหงสาวดี ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 (ต่อจากท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้งและท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์) ตั้งอยู่ในเขตพะโค (หงสาวดี) ห่างจากเมืองย่างกุ้งประมาณ 80 กม. มีพื้นที่ประมาณ 41,832.42 ตร.กม. งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ สัญญาระยะเวลา 50 ปี ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนการประมูลครั้งใหม่5 และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2019
ฟิลิปปินส์ มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ คือ Republic Act No.7718 (1994) และ Implementing Rules & Regulations (IRR) (2012) มีหลักการที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และรัฐต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนกับโครงการของภาครัฐ ซึ่งรูปแบบ PPP มีหลายแบบ เช่น BLT, BOT, BOO เป็นต้น โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ Public-Private-Partnership Center (PPP Center) ภายใต้หน่วยงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ (NEDA) ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการพัฒนาโครงการ PPP และให้บริการคำปรึกษา รวมทั้ง ดูแลให้เอกชนปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้ หากเป็นโครงการท้องถิ่นที่งบประมาณไม่เกิน 200 ล้านเปโซ (ประมาณ 4.59 ล้านเหรียญสหรัฐ) หน่วยงานรัฐท้องถิ่นสามารถอนุมัติโครงการได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากส่วนกลาง แต่ถ้างบประมาณเกิน 200 ล้านเปโซ จะต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการประสานงานการลงทุน (ICC) ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธาน หากเป็นโครงการระดับประเทศที่งบประมาณไม่เกิน 300 ล้านเปโซ (ประมาณ 6.88 ล้านเหรียญสหรัฐ) สามารถขออนุมัติจาก ICC ได้ แต่ถ้างบประมาณเกิน 300 ล้านเปโซ หรือต้องเจรจา จะต้องขออนุมัติจาก NEDA Board ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประธาน ตัวอย่างโครงการ PPP ได้แก่ โครงการ Laguna Lakeshore Expressway Dike (LLED) เป็นทางด่วนที่ใช้เป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วม เชื่อมโยงระหว่างเมือง Taguig กับเมือง Los Banos ระยะทาง 47 กม. รวมถึงการปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบระบายน้ำในพื้นที่ 7 ตารางกิโลเมตรของเมือง Taguig และเมือง Muntinlupa ด้วย งบประมาณโครงการประมาณ 122.8 พันล้านเปโซ (ประมาณ 2.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ปัจจุบัน NEDA Board ได้อนุมัติโครงการแล้ว และอยู่ระหว่างเปิดให้เอกชนยื่นประมูล
สิงคโปร์ ไม่มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ แต่มีแนวทางการดำเนินโครงการ คือ Public Private Partnership Handbook Version 2 (2012) ที่ให้ความสำคัญถึงการนำความรู้และความสามารถในการแข่งขันของเอกชน รวมทั้ง การบริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ มาใช้กับโครงการภาครัฐ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ กระทรวงการคลัง (MOF) ซึ่ง MOF ได้ตั้ง PPP Advisory ให้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ PPP กำหนดกรอบนโยบายในการดำเนินโครงการต่างๆ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นๆ ทั้งนี้ GPE6 ของหน่วยงานเจ้าของโครงการ จะทำงานร่วมกับ PPP Advisory ในการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับแนวทางที่กำหนด และ GPE จะสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากรัฐบาลสิงคโปร์ก่อน อย่างไรก็ตาม โครงการที่ใช้งบประมาณเกิน 500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 395 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลางในเรื่องแนวคิด การออกแบบ และการนำไปปฏิบัติ ด้วย ตัวอย่างโครงการ PPP ได้แก่ โครงการ Singapore Sports Hub สนามกีฬาแห่งชาติของสิงคโปร์และพื้นที่โดยรอบ รวมพื้นที่ 350,000 ตารางเมตร งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 1.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สัญญาระยะเวลา 25 ปี ในรูปแบบ Design, Build, Finance and Operate (DBFO)7 และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2014 ซึ่งจะเป็นสนามแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ในช่วงกลางปี 2015 ด้วย
เวียดนาม มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ คือ Law 43/2013/QH13 on Public Procurement (LOPP) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2014 เป็นกฎหมายที่รวม Decree 108/2009/ND-CP on BOT, BTO, and BOO projects และ Decision 71/2010/QD-TTg on pilot projects involving PPP เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสำหรับนักลงทุนเอกชนในการเตรียมโครงการ และประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ทำหน้าที่รายงานข้อมูลต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติโครงการ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามได้จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการด้านการลงทุนรูปแบบ PPP เพื่อให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการ ทั้งนี้ หากเป็นโครงการพิเศษ จะต้องขออนุมัติแผนสำหรับคัดเลือกบริษัทที่เข้าประมูลจากนายกรัฐมนตรีด้วย ตัวอย่างโครงการ PPP ได้แก่ Dau Giay-Phan Thiet Expressway Project (DPEP) เป็นโครงการทางด่วน 4 ช่องทาง ระยะทาง 98.7 กม. เชื่อมโยงระหว่างเมือง Dau Giay กับเมือง Phan Thiet มีสัญญาระยะเวลา 30 ปี ในรูปแบบ Design, build, finance, operate, maintain and transfer (DBFOT) มูลค่าโครงการประมาณ 757 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามได้เลือกบริษัท BITEXCO8 เป็นผู้ร่วมลงทุนรายแรก ส่วนปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดให้เอกชนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศยื่นประมูลเป็นผู้ร่วมลงทุนรายที่สอง นอกจากนี้ World Bank ให้ความช่วยเหลือในการจัดทำโครงการ DPEP และให้การสนับสนุนเงินทุนรัฐบาลเวียดนามสำหรับการดำเนินงานโครงการด้วย
สำหรับ ไทย มีกฎระเบียบ PPP โดยเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีสาระสำคัญเพิ่มเติมจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Committee) และมีรายละเอียดขั้นตอนการแก้ไขและ/หรือต่ออายุสัญญา เพื่อให้ภาครัฐมีกลไกในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับ PPPที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพิ่มเติมกลไกให้มีความชัดเจนและครอบคลุมทุกกระบวนการมากขึ้น โดยหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ PPP Committee จะต้องทำแผนยุทธศาสตร์11 เพื่อกำหนดนโยบายโครงการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีระยะเวลาครั้งละห้าปี และต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ เงื่อนไขที่โครงการนั้นๆ ต้องปฏิบัติตาม พรบ. คือมีมูลค่าโครงการตั้งแต่ 1 พันล้านบาท (ประมาณ 31.03 ล้านเหรียญสหรัฐ)ขึ้นไป หรือ สคร. พิจารณาเห็นว่า สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเสนอผลการศึกษาโครงการต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อขอความเห็นชอบ แล้วจึงเสนอโครงการต่อ สคร. ทั้งนี้ หากค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการมาจากเงินของรัฐหรือกู้โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายหรือที่จะใช้ก่อหนี้ด้วย และเมื่อคัดเลือกเอกชนได้แล้ว จะต้องส่งผลการคัดเลือกให้ สคร. พิจารณาให้ความเห็น ส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุด และส่งกลับให้กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณา ก่อนที่จะรวบรวมทั้งหมด เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ จึงจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ ทั้งนี้ การดำเนินงานตั้งแต่เริ่มเสนอโครงการจนถึงลงนามสัญญา ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 240 วัน (ในกรณีที่ไม่มีการแก้ไขสัญญา) หากมีการแก้ไขในสาระสำคัญจะต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตัวอย่างโครงการ PPP ของไทย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ระยะทาง 21 กม. เปิดให้บริการเมื่อปี 2004 โดยมีบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ได้รับสัญญาระยะเวลา 25 ปี ในรูปแบบของ BOT และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ระยะทาง 23 กม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยแบ่งการดำเนินงานเป็นหลายส่วน ซึ่งมีหลายบริษัทเป็นผู้ดำเนินการและมีสัญญาในรูปแบบ BTO
การพิจารณาเลือกรูปแบบของ PPP จะแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม อย่างในกรณีประเทศไทยที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทำสัญญาในรูปแบบ BOT ซึ่งจะแบ่งผลประโยชน์โดยให้เอกชนได้รับรายได้จากค่าโดยสารและการพัฒนาพื้นที่สถานีเชิงพาณิชย์ และให้ส่วนแบ่งรายได้กับรัฐตามสัญญา แต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง(กำลังก่อสร้าง) ทำสัญญาในรูปแบบ BTO ซึ่งจะแบ่งผลประโยชน์โดยให้รัฐเป็นผู้รับรายได้จากค่าโดยสารและการพัฒนาพื้นที่สถานีเชิงพาณิชย์ และเอกชนจะได้รับค่าจ้างในการให้บริการ จะเห็นได้ว่า การทำสัญญา PPP ต่างรูปแบบจะเกิดจากการพิจารณาที่แตกต่างกัน โดยสัญญาแบบ BOT จะสามารถดึงดูดเอกชนให้เข้าร่วมโครงการได้มากกว่าเนื่องจากรัฐจะรับความเสี่ยงด้านการเงิน หากรายได้ไม่ถึงตามสัญญา รัฐจะต้องชดเชยให้กับเอกชน ทำให้เอกชนอาจจะขาดแรงจูงใจในการให้บริการ ซึ่งทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ส่วนสัญญาแบบ BTO ความเสี่ยงด้านการเงินจะแบ่งกันระหว่างรัฐกับเอกชน โดยรัฐเป็นผู้รับรายได้และดูแลผลประโยชน์โดยตรง และเอกชนจะเป็นเพียงผู้รับจ้างบริหารและดำเนินการ จึงมีแรงจูงใจในการให้บริการที่ดีมากกว่า ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ แต่โครงการลักษณะนี้จะไม่ดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมโครงการมากนัก ดังจะเห็นได้จาก โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ต้องแบ่งการดำเนินงานเป็นหลายระยะ และมีเอกชนเข้าร่วมหลายบริษัท เนื่องจากไม่มีบริษัทใดยินดีรับความเสี่ยงทั้งโครงการ ต่างจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เอกชนเพียงรายเดียวที่ดูแลทั้งโครงการ เพราะพิจารณาแล้วว่ารัฐเป็นผู้รับประกันความเสี่ยงด้านการเงิน
จุดเด่นของ PPP คือ การได้ความรู้ความชำนาญของเอกชนในการบริหารจัดการโครงการ ซึ่งมีคล่องตัวและยืดหยุ่นมากกว่าภาครัฐ ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างจะใช้เวลาน้อยกว่าให้รัฐควบคุมเอง และรัฐสามารถนำงบประมาณไปพัฒนาในส่วนอื่นที่จำเป็นได้ รวมทั้ง การกระจายเสี่ยงที่สามารถพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโครงการนั้นๆ ส่วนข้อควรระวังของ PPP คือ ความโปร่งใสในการคัดเลือกเอกชน การควบคุมให้เอกชนดำเนินโครงการตามสัญญาที่ระบุไว้ ซึ่งต้องมีการกำหนดกรอบการดำเนินงานที่ครอบคลุมและรัดกุม ขั้นตอนการศึกษาโครงการต้องละเอียดและคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ และประเมินความเสี่ยงอย่างถูกต้อง เพราะหากผิดพลาดอาจจะส่งผลเสียหายต่อภาครัฐ เช่น หากโครงการรถไฟฟ้าที่ผลการศึกษาประเมินจำนวนผู้โดยสารสูงกว่าความเป็นจริงมาก เมื่อผู้ใช้บริการไม่ถึงตามเป้าหมาย จะทำให้รัฐต้องรับภาระขาดทุน เป็นต้น
ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ (PBG) ADB สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกพัฒนาโครงการ PPP ร่วมกันเพื่อให้ดึงดูดแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศ แต่ประเทศอาเซียนจะให้ความสนใจกับการทำ PPP ในประเทศตนเองเป็นหลัก เนื่องจากรูปแบบและกระบวนการโครงการ PPP แตกต่างกันไป ทั้งนี้ การพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ดังนั้น การพัฒนาโครงการ PPP ภายใต้ PBG จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในภูมิภาค ซึ่งไทยก็จะได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย
จากข้อมูล PPP ของแต่ละประเทศจะเห็นได้ว่า บางประเทศยังไม่มีกฎระเบียบหรืออย่างน้อยที่สุด คือ กรอบการดำเนินงานของ PPP ซึ่งนอกจากจะทำให้ขาดแนวทางในการดำเนินการแล้ว ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของเอกชนด้วย เนื่องจากเอกชนจะมองว่า ขั้นตอนการดำเนินโครงการของรัฐขาดความโปร่งใสและไม่สร้างแรงจูงใจแก่เอกชนในการเข้าร่วมลงทุน สำหรับอาเซียน เมียนมาร์เป็นประเทศที่ใช้งบประมาณภาครัฐในการพัฒนาประเทศมาโดยตลอดซึ่งการพัฒนาอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ แต่ภายหลังจากการเปิดประเทศ ส่งผลให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปที่เมียนมาร์มากขึ้น ซึ่งเมียนมาร์ต้องการใช้โอกาสนี้ในการสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เมียนมาร์จึงให้ความสำคัญกับ PPP เป็นอย่างมาก และในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ (2014) เมียนมาร์ได้กำหนดให้หัวข้อ PPP for Infrastructure Development เป็นหนึ่งในประเด็นหลัก (Myanmar’s Priorities) ที่ได้เสนอเป็นผลงานสำคัญ (deliverable) ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน โดย ASEAN Principle for PPP Framework ที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) ร่วมจัดทำ เป็นข้อเสนอแนะในการดำเนินงานด้าน PPP สำหรับสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะโทรคมนาคมไฟฟ้า และเส้นทางคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะส่งผลให้ลดต้นทุนการขนส่ง ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุน และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างกันภายในภูมิภาคและดึงดูดแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศให้มาร่วมลงทุนด้านโครงสร้างภายในภูมิภาคให้มากขึ้น ทั้งนี้ หากเป็นโครงการ PPP ร่วมกัน โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค ควรจะมีการสร้างระบบเพื่อมารองรับกฎระเบียบที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศด้วย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630