ภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินของประเทศนิวซีแลนด์ ประจำปี 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 13, 2014 14:36 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

1. ภาคอุตสาหกรรมหลัก

1.1 เกษตรกรรม

อุตสาหกรรมหลักของนิวซีแลนด์ ได้แก่ การเกษตร พืชสวน ป่าไม้ และเหมืองแร่ โดยรายได้จากภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียวมีมูลค่าประมาณ ร้อยละ 4.5 ของ GDP ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบคิดเป็นร้อยละ 4.6 ของ GDP อุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญของนิวซีแลนด์ได้แก่ อุตสาหกรรมนม เนื้อวัว แกะ และพืชสวน (ไวน์ กีวี แอปเปิล และ ลูกแพร์ เป็นต้น)

ในปี 2556 ราคาของนมและผลิตภัณฑ์จากนมมีการปรับขึ้นตัวสูงขึ้น เนื่องจากบริษัท Fonterra ซึ่งเป็นผู้ส่งออกนมรายใหญ่ของประเทศ ได้ขึ้นราคาส่งออกจาก 7.80 เหรียญนิวซีแลนด์ เป็น 8.30 เหรียญนิวซีแลนด์ ต่อกิโลกรัม

1.2 ป่าไม้

ในระหว่างเดือนมิถุนายน 2555 ถึงเดือนมิถุนายน 2556 รายได้จากอุตสาหกรรมป่าไม้ของนิวซีแลนด์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.1 ของ GDP โดยมีมูลค่าประมาณ 4.4 พันล้านเหรียญนิวซีแลนด์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.7 ของสินค้าแปรรูปส่งออกทั้งหมด มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ ทั้งนี้ ไม้ซุง ไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 10.4 และคาดว่าไม้จากนิวซีแลนด์จะมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากประเทศจีน และปริมาณการผลิตที่ต่ำของประเทศคู่แข่ง

1.3 ประมง

ประเทศนิวซีแลนด์ มีเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการประมง ซึ่งครอบคลุมการประมงของสัตว์หลายชนิด เช่น ปลาทูน่า ปลาหมึก และพื้นที่เพาะพันธุ์ทางทะเลสำหรับหอยนางรมแปซิฟิก หอยแมลงภู่เปลือกเขียว และปลาแซลมอลการประมงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศนิวซีแลนด์ โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญนิวซีแลนด์ต่อปี

1.4 พลังงานและสินแร่

นิวซีแลนด์ส่งออกน้ำมันประมาณร้อยละ 95.6 ของน้ำมันที่ผลิตในประเทศ แต่ถ่านหินยังคงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของประเทศนิวซีแลนด์

2. อุตสาหกรรมการผลิต

ในระหว่างเดือน กันยายน 2555 ถึง เดือนกันยายน 2556 อุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.3 ของ GDP โดยอุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลและป่าไม้ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 41.7 พันล้านเหรียญ นิวซีแลนด์ อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อและนม มีมูลค่าการส่งออกสูงประมาณ 16.7 พันล้านเหรียญ นิวซีแลนด์ และมีสัดส่วนการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 11

3. ภาคบริการ

การค้าบริการเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุดของประเทศนิวซีแลนด์ โดยคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของ GDP และเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวสูงสุดของประเทศนิวซีแลนด์ ในช่วงปี 2543-2550 การค้าบริการของนิวซีแลนด์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี

3.1 โครงสร้างพื้นฐาน

ประเทศนิวซีแลนด์มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง โดยรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ (National Infrastructure Unit) เพื่อจัดทำนโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมถึงถนน และทางรถไฟเชื่อมตัวเมืองขนาดใหญ่ และเรือขนส่งเชื่อมระหว่างเกาะเหนือและเกาะใต้ ทั้งนี้ การขนส่งทางเรือเป็นระบบโครงสร้างที่สำคัญอย่างมากของนิวซีแลนด์ หากพิจารณาตามปริมาณจะเห็นว่าการค้าระหว่างประเทศของนิวซีแลนด์ ร้อยละ 99 ใช้บริการการขนส่งทางเรือ นอกจากนี้ นิวซีแลนด์มีโครงสร้างการขนส่งทางอากาศที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยนิวซีแลนด์อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือหุ้นของสายการบินในประเทศได้ถึงร้อยละ 100 และมีข้อตกลงทางการบินกับ 50 ประเทศทั่วโลก

3.2 การท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดในด้านแหล่งเงินจากต่างประเทศของนิวซีแลนด์ โดยระหว่างเดือนมีนาคม 2555- มีนาคม 2556 ธุรกิจท่องเที่ยวมีการเติบโตถึงร้อยละ 2.2 และมีมูลค่าประมาณ 9.8 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ โดยระหว่างเดือนกันยายน 2555-กันยายน 2556 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามายังนิวซีแลนด์ ประมาณ 2,670,000 คน

4. ปัจจัยภายนอก

ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่พึ่งพาการค้ากับต่างประเทศในระดับสูง โดยในปี 2556 ตลาดส่งออกที่สำคัญของนิวซีแลนด์ คือ ออสเตรเลีย จีน และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย นับเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 15 ส่วนแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ โดยประเทศไทยนับเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 8

4.1 นโยบายการลงทุนจากต่างชาติ

ประเทศนิวซีแลนด์มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีข้อจำกัดเพียงไม่กี่ประการ เช่น ข้อห้ามการลงทุนที่เสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่จะต้องผ่านเกณฑ์ทดสอบ ซึ่งประกอบด้วย คุณลักษณะ ความรู้ทางธุรกิจ และกำลังทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยนักลงทุนที่ต้องการซื้อที่ดินของนิวซีแลนด์จะต้องแสดงความจำนงที่จะย้ายถิ่นฐานมาที่ประเทศนิวซีแลนด์เป็นการถาวร หรือแสดงให้เห็นว่าการลงทุนดังกล่าวจะเกิดผลประโยชน์ต่อนิวซีแลนด์อย่างไร โดยหลักการประเมินผลประโยชน์การลงทุนจากต่างประเทศระบุอยู่ใน กฎหมายว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ บัญญัติปี 2548 (Act and the Oversea Investment Regulation 2005) โดยอยู่ภายใต้อำนาจของสำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในกรมข้อมูลทางที่ดินของนิวซีแลนด์

ประเทศนิวซีแลนด์ไม่มีข้อจำกัดในการหมุนเวียนเงินทุนของบริษัทต่างชาติ โดยเงินหมุนเวียน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 มีจำนวน 101.4 พันล้านเหรียญนิวซีแลนด์ โดยการลงทุนมาจากประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ตามลำดับ ส่วนการลงทุนของชาวนิวซีแลนด์ในต่างประเทศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 มีมูลค่า 22.6 พันล้านเหรียญนิวซีแลนด์

ข้อคิดเห็น/ข้อสังเกต

1. ประเทศนิวซีแลนด์ มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด และพึ่งพาการค้ากับต่างประเทศอย่างสูง โดยสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญของนิวซีแลนด์ คือ สินค้าเกษตร โดยเฉพาะนมและผลิตภัณฑ์นม

2. ขณะนี้ประเทศจีน เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญมากของประเทศนิวซีแลนด์ และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่หนึ่งของนิวซีแลนด์ นำหน้าประเทศเพื่อนบ้านและพันธมิตรอย่างออสเตรเลีย โดยสาเหตุหลักเกิดจากการที่ประเทศจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และผลจากความตกลงการค้าเสรี จีน-นิวซีแลนด์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2008 (นิวซีแลนด์เป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกที่มีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศจีน)

3. ประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย นับเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศนิวซีแลนด์ เนื่องจากเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง

4. แม้ว่าการค้าระหว่างไทยและนิวซีแลนด์จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเทศควรหาแนวทางความร่วมมือใหม่ๆ ที่จะเพิ่มศักยภาพทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าจำพวกผลิตผลจากปศุสัตว์ ซึ่งนิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญสูง เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ