จากการที่ประเทศออสเตรเลียได้จัดทำสมุดปกขาว “ออสเตรเลียในศตวรรษแห่งเอเชีย” ไปเมื่อปี 2555 นั้นทางประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับประเทศออสเตรเลีย ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาคมอาเซียน ซึ่งมีนโยบายการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันภายในปี 2558 โดยนายกรัฐมนตรี จอห์น เคย์ และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าแห่งประเทศนิวซีแลนด์ได้จัดทำเอกสารแถลงนโยบายยุทธศาสตร์การค้าระหว่างนิวซีแลนด์และอาเซียน โดยใช้ชื่อว่า "นิวซีแลนด์และพันธมิตรอาเซียน : หนึ่งประตูสู่สิบประเทศ" (New Zealand's ASEAN Partnership: One Pathway to Ten Nations)
สมาคมอาเซียน นับเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับสามของประเทศนิวซีแลนด์โดยในปี 2555 การค้าระหว่างกันมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รองจากประเทศออสเตรเลีย (14,629 ล้านเหรียญสหรัฐ) และจีน (12,480 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ แต่สินค้าส่งออกของประเทศนิวซีแลนด์ยังคงจำกัดอยู่ในไม่กี่ประเภท เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แม้ว่าประเทศนิวซีแลนด์จะมีนโยบายการค้าเสรีต่อทุกประเทศ หลากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนยังคงใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard : SSG) กับนิวซีแลนด์ ดังนั้น ประเทศนิวซีแลนด์ จึงมีนโยบายสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและระบบการค้าเสรีอย่างจริงจัง โดยในเอกสารแถลงนโยบายเกี่ยวกับอาเซียน ประจำปี 2556 ชื่อ New Zealand's ASEAN Partnership : One Pathway to Ten Nations ประเทศนิวซีแลนด์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้น นอกจากนี้ประเทศนิวซีแลนด์ยังมีนโยบายส่งเสริมการค้าและลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ดังต่อไปนี้
1. นิวซีแลนด์ต้องการเพิ่มบทบาทและอิทธิพลของตนเองในภูมิภาคอาเซียน โดยผ่านทางการเยือนของผู้แทนรัฐบาลระดับสูงและคณะผู้แทนทางการค้าต่างๆ รวมถึงทรัพยากรทางเทคโนโลยีและทรัพยากรบุคคลที่นิวซีแลนด์มีอยู่ โดยทางนิวซีแลนด์วางแผนที่จะสนับสนุนภูมิภาคอาเซียน ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางอุตสาหกรรมเกษตร และการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่หลายประเทศแถบอาเซียนยังล้าหลังอยู่ แต่ขณะเดียวกันนิวซีแลนด์ต้องการใช้เทคโนโลยีและความชำนาญของประเทศให้เป็นประโยชน์ โดยต้องการให้ภูมิภาคอาเซียน ตระหนักถึงความสำคัญของความช่วยเหลือจากนิวซีแลนด์และยอมรับประเทศนิวซีแลนด์ในฐานะประเทศที่สำคัญต่อภูมิภาค
2. นิวซีแลนด์ต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะพื้นที่แถบทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าส่งออกของนิวซีแลนด์ ดังนั้นนิวซีแลนด์จึงเล็งเห็นว่าตนเองมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับความสงบสุขของภูมิภาคอาเซียน นอกจากนั้น นิวซีแลนด์ได้สนับสนุนอาเซียนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก โดยได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี
3. นิวซีแลนด์ต้องการเพิ่มการค้าและการลงทุนจากภูมิภาคอาเซียน โดยเสนอให้ทั้งสองฝ่ายขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งด้านการค้า การศึกษา และการท่องเที่ยว โดยภายในปี 2017 (พ.ศ. 2560) นิวซีแลนด์มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนขึ้นร้อยละ 40 ของปริมาณการส่งออกปัจจุบัน และต้องการเพิ่มการลงทุนทั้งจากอาเซียนเละ ณ อาเซียน เป็นสองเท่า รวมถึงการเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากอาเซียนจาก 247 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 402 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผ่านการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) การยกระดับการเชื่อมโยงทางคมนาคมทางอากาศเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการสนับสนุนภาคธุรกิจ เพื่อเปิดประตูการค้าการลงทุนกับภูมิภาคอาเซียน
นิวซีแลนด์ต้องการให้ภาคธุรกิจเอกชนเล็งเห็นความสำคัญของข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ซึ่งจะส่งผลให้ร้อยละ 99 ของสินค้าส่งออกของนิวซีแลนด์ต่อภูมิภาคอาเซียนสามารถส่งออกได้โดยปราศจากกำแพงภาษี ทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ต้องการให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้านี้ก่อนที่ทางอาเซียนจะมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ โดยรัฐบาลได้เรียกร้องให้ภาคเอกชนของนิวซีแลนด์สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับผู้ประกอบธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน
1. การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน ส่งผลให้ประเทศออสเตรเลียเล็งเห็นความสำคัญทางการค้ากับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยท่าทีของออสเตรเลียได้มีผลให้นิวซีแลนด์เริ่มกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับอาเซียน เช่นกัน โดยปัญหาหลักของนิวซีแลนด์กับอาเซียน คือ ข้อกีดกันทางการค้า โดยนิวซีแลนด์ใช้ระบบการค้าเสรี (Free Market Economy) และมีมาตรการปกป้องสินค้าในประเทศค่อนข้างต่ำ โดยนิวซีแลนด์ไม่มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard : SSG) กับไทย แต่ประเทศส่วนใหญ่ทางอาเซียน(รวมถึงประเทศไทย) ยังคงมีนโยบายดังกล่าวอยู่ เช่น ประเทศไทยใช้มาตรการปกป้องพิเศษกับสินค้าเกษตร 25 รายการจากนิวซีแลนด์ จนถึงปี 2564 โดยทางนิวซีแลนด์ถือว่าเป็นนโยบายที่ทำให้นิวซีแลนด์เสียผลประโยชน์ และเริ่มเรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดตลาดสินค้าดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
2. จากการแถลงนโยบายและจุดมุ่งหมายทางการค้าครั้งล่าสุดของนิวซีแลนด์ เป็นที่สังเกตได้ว่าทางนิวซีแลนด์ต้องการที่จะขยายบทบาทของตัวเองในภูมิภาคอาเซียน โดยได้เล็งเห็นว่าอาเซียน มีการเติบโตทางการค้าที่สูงขึ้น และเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวของระดับชนชั้นกลางที่สูง (จำนวนชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียโดยรวมจะขยายตัวถึงสามเท่าระหว่างปี 2557-2564) ดังนั้น กำลังซื้อของภูมิภาคอาเซียน ย่อมต้องเพิ่มสูงขึ้นด้วย เนื่องจากนิวซีแลนด์มีสินค้าสำคัญคือสินค้าการเกษตรคุณภาพสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นของผู้มีรายได้ระดับสูงของประเทศกำลังพัฒนา แต่ตลาดอาเซียนยังถือเป็นตลาดใหม่ (Emerging Market) ดังนั้น รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงต้องปรับทัศนคติของผู้ประกอบการภาคเอกชนนิวซีแลนด์ ให้เล็งเห็นความสำคัญของตลาดอาเซียน เพราะผู้ประกอบการเอกชนของนิวซีแลนด์หลายฝ่ายยังพึ่งพาตลาดเดิมอย่างสูงอยู่ (ออสเตรเลีย จีน และ ยุโรป) ดังนั้น หากประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนมีความต้องการที่จะเพิ่มการค้าและการลงทุนกับประเทศนิวซีแลนด์อย่างจริงจัง ทางอาเซียนอาจต้องเพิ่มนโยบายการค้าเชิงรุก และเพิ่มแผนงานประชาสัมพันธ์ในตลาดนิวซีแลนด์มากยิ่งขึ้น
3. ทางอาเซียนและประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับตลาดนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากนิวซีแลนด์มีความสัมพันธ์อันดีกับอาเซียนและไทยมาตลอด แต่เนื่องจากขนาดประเทศที่เล็กและที่ตั้งที่ห่างไกลทำให้ทาง อาเซียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับนิวซีแลนด์เท่าที่ควร ดังนั้น ทางกลุ่มประเทศอาเซียนควรขยายความสนใจจากออสเตรเลียไปถึงนิวซีแลนด์ด้วย เนื่องจากว่านิวซีแลนด์ยังคงมีศักยภาพเป็นประเทศคู่ค้าที่ดี และมีศักยภาพในด้านเทคโนโลยีการเกษตรและการศึกษา โดยประเทศแถบอาเซียนสามารถเพิ่มพูนผลประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการค้ากับนิวซีแลนด์ได้ เช่น ทุนการศึกษาหรือความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีจากนิวซีแลนด์ ควรจะนำมาพิจารณาประกอบระหว่างการหารือเรื่องการค้าเสรีด้วย
4. ข้อสำคัญอีกข้อที่ภูมิภาคอาเซียนควรคำนึงถึงในการเจรจาทางการค้ากับนิวซีแลนด์ ก็คือบทบาทของนิวซีแลนด์ในประชาคมอาเซียน เนื่องจากนิวซีแลนด์ประกาศอย่างเต็มตัวว่าต้องการมีอิทธิพลและอำนาจในการต่อรองมากขึ้นในภูมิภาค ซึ่งทางประชาคมอาเซียนอาจจะต้องระวังถึงถึงอิทธิพลดังกล่าว และควรมีมาตรการการป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองจากนิวซีแลนด์ รวมทั้งต้องดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและสมานฉันท์ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในเรื่องการค้าและการลงทุนกับนิวซีแลนด์ต่อไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630